ดอกเข้าพรรษา

ดอกเข้าพรรษากับคุณตา
คุณตากับดอกเข้าพรรษา

เทศกาลงานบุญกับชาวไทยพุทธเป็นของคู่กัน
เฉพาะอย่างยิ่งคนต่างจังหวัดผู้ย้ายถิ่นประกอบอาชีพ

ไม่ว่าเขาเหล่านั้นจะอยู่ที่ไหน ใกล้ไกล
เมื่อถึงเวลางานบุญสำคัญประจำปี เช่น บุญสงกรานต์ บุญเข้าพรรษา
หากไม่มีเหตุอันเหลือบ่ากว่าแรง ก็มักจะใช้โอกาสแห่งงานบุญกลับถิ่นฐานบ้านเกิด

นครปฐมบ้านอิฉันแม้จะอยู่ชิดติดใกล้แค่ปลายจมูกก็ยังถูกคนกรุงนับเป็นต่างจังหวัด
แต่อิฉันเองกลับกลับภาคภูมิใจในความเป็นคนต่างจังหวัดที่มีรากวัฒนธรรมยาวนาน
ซึ่งแม้ปัจจุบันหลายเรื่องราวจะเจือจางไปมากบ้าง น้อยบ้างก็ตามที
บุญเข้าพรรษาเป็นงานบุญเทศกาลหนึ่ง
ที่อิฉันและครอบครัวให้ความสำคัญเช่นเดียวกับคนต่างจังหวัดทั่วไป
ทุกๆ ปี ก็มักจะร่วมกับครอบครัว พี่ๆ น้องๆ ไปทำบุญ
ถวายอาหารเพลบ้าง ถวายเทียนบ้าง หลอดไฟบ้าง สังฆทานบ้างตามกำลัง
ที่ผ่านมาก็มักทำบุญกันที่วัดประจำในตัวเมือง วัดใหญ่บ้าง วัดพระงามบ้าง

ส่วนวัดไผ่ล้อมนั้นเมื่อญาติทางคุณแม่หมดตัวลงเรื่อยๆ ก็ห่างเหินมานานพอควร
เข้าพรรษาปี ๒๕๕๗ ที่ผ่านมา
เป็นครั้งแรกที่ได้ไปทำบุญเข้าพรรษาในต่างถิ่น
ด้วยเหตุที่น้องซึ่งคุ้นเคยเอ่ยชวนและเชิญไปยังวัดที่เขาศรัทธา

คือ วัดตรีวิสุทธิธรรม ซึ่งอยู่ถึงดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณ
การไปร่วมบุญเข้าพรรษา ณ วัดวัดตรีวิสุทธิธรรม หรือวัดป่าสระกระโจม ครั้งนั้น
ได้เห็นถึงพลังศรัทธาของประชาชนจากหลากสารทิศ
สังเกตได้จากทะเบียนรถยนต์หลายจังหวัดที่จอดเรียงรายอย่างหนาแน่น
และเมื่อมุ่งหน้าเข้าไปยังลานบุญจึงยิ่งชัดเจนว่ามีผู้คนจำนวนนับพัน

ที่ต่างนุ่มห่มขาวเดินทางมาพร้อมข้าวปลาอาหารเพื่อร่วมทำบุญใส่บาตร
เด็กชาย ร-ช-ธ-ร ท่ามกลางผู้คนมาร่วมบุญ
เด็กชาย ร-ช-ธ-ร ท่ามกลางผู้คนมาร่วมบุญ

แต่สิ่งหนึ่งที่อิฉันสะดุดตา คือ สังเกตเห็นว่า
ผู้คนจำนวนไม่น้อยที่นอกจากจะเตรียมข้าวของใส่บาตรตามปกติแล้ว
ยังมีการเตรียมดอกไม้ชนิดหนึ่ง ซึ่งดูจากรูปทรงแล้ว
ก็แอบคาดเดาอยู่ในใจว่าน่าจะเป็นดอกไม้พื้นบ้าน
แต่เหตุใดจึงมีผู้ถือติดไม้ติดมืออย่างตั้งใจที่จะนำมาใส่บาตร
หนทางอยู่กับปากเป็นคำที่แม่สอนไว้อิฉันแปลงใช้เพื่อสนองความใคร่รู้
โดยนอกจากจะถามให้กระจ่างแล้ว ก็ยังแอบถ่ายภาพมาเป็นกำนัล(ผู้ใหญ่ไม่เกี่ยว^.^)
ซึ่งบางทีอาจจะเป็นการเอามะพร้าวห้าวมาขายชาวสวนก็เป็นได้
แต่ก็ช่างเถอะ อิฉันยังเชื่อว่ามีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่รู้เช่นเดียวกัน
ดอกไม้ที่ว่านั้น สอบถามได้ชื่อเรียกว่า “ดอกเข้าพรรษา”
ความแปลกในชื่อเรียกนั้น จริงแล้วตั้งใจจะเล่าเมื่อกลับมา
แต่เร็ว ไว ทันที ทันใจ (…ในบางเรื่อง…) ย่อมไม่ใช่อิฉัน
หลังหมักดองจนเข้าที่ครบขวบปีพอดิบพอดีเพิ่งได้โอกาสมาไขความ
อันว่า “ดอกเข้าพรรษา” นั้นเป็นชื่อเรียกเฉพาะถิ่นของสระบุรี
เป็นพืชตระกูลขิงชื่อว่า Smithatris supraneeana
ชื่อสามัญ คือ Siamese Platinum

ดอกเข้าพรรษานี้เป็นดอกไม้ที่ไม่ธรรมดาเพราะสามารถสร้างความตื่นตะลึง
ให้กับวงการพฤกษศาสตร์ของโลกซึ่งเพิ่งรู้จักพืชชนิดนี้เมื่อไม่นานมานี้
ความน่าทึ่งในความเป็นขิงของมัน คือ
“ชนิด (Species)” และ “สกุล (Genus)” “ใหม่ของโลก”

ดอกเข้าพรรษาเป็นพืชเฉพาะถิ่น* ของเมืองไทย
พบในบริเวณที่เรียกว่าป่าช้าหินปูน (Lapies)
คือ บริเวณที่มีหินปูนโผล่ขึ้นมาเป็นแผ่นๆ ก้อนๆ ไม่สูงจากผิวดินมากนัก
ด้วยความที่ดินในบริเวณนี้ เกิดจากการสลายตัวของหินปูนจึงเป็นดินที่ดี
แต่มีหน้าดินตื้นยากต่อการเพาะปลูก ทำให้มีต้นไม้ใหญ่ขึ้นไม่มากนัก
ต่างกับเจ้าดอกเข้าพรรษาที่จะเลือกขึ้นเฉพาะในพื้นที่ลักษณะนี้เท่านั้น
และในเมืองไทยก็ยังมีไม่มากนัก บริเวณที่พบมีเพียงแถบสระบุรีและลพบุรี
ผู้ที่ค้นพบพืชชนิดนี้คือคุณสุปราณี คงพิชญานนท์ ผู้ส่งออกต้นไม้ชาวไทย
และยังเป็นผู้แนะนำพร้อมส่งตัวอย่างให้ผู้วิจัยแห่งสวนพฤกษศาสตร์เอดินเบิร์ก
คือ Ms. Rosemery Smith ซึ่งเป็นผู้ศึกษาพืชวงศ์ขิงข่ามายาวนานนำไปวิจัย
ชื่อสกุล “Smithatris supraneeana” จึงถูกตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่บุคคลทั้งสอง
เจ้าดอกเข้าพรรษานี้จะออกดอกเพียงปีละครั้งในช่วงเข้าพรรษา
จึงเป็นที่มาของชื่อที่ชาวบ้านนิยมเรียกขาน
อีกทั้งชื่อนี้ยังเป็นชื่อเรียกรวมๆ ของพืชในสกุล Globbe อีก ๒-๓ ชนิดด้วย
ด้วยเหตุที่ดอกเข้าพรรษาเป็นดอกไม้เฉพาะที่ เฉพาะฤดูกาลดังว่า
ชาวอำเภอพระพุทธบาทเมื่อถึงเทศกาลเข้าพรรษาในแต่ละปี
ก็จะพากันไปเก็บดอกเข้าพรรษาตามไหล่เขาโพธิลังกา
หรือเขาสุวรรณบรรพต เทือกเขาวง และเขาพุ ในเขตอำเภอพระพุทธบาท
นำมาจัดเป็นช่อเป็นกำกับธูปเทียนนำไปใส่บาตรพระสงฆ์
จนเป็นที่มาแห่งประเพณีสำคัญของท้องถิ่น ณ วัดพระพุทธบาทฯ สระบุรี
นั่นคือประเพณีตักบาตรดอกไม้ ในวันแรม ๑ ค่ำเดือน ๘ ของทุกปี
การตักบาตรดอกไม้ ณ วัดพระพุทธบาทฯ นี้
ได้ชื่อเป็นที่ยอมรับว่าเป็นประเพณีหนึ่งเดียวในโลก
โดยชาวบ้านมีความเชื่อกันมาแต่โบราณว่าจะได้บุญกุศลอันยิ่งใหญ่
เนื่องจากพระสงฆ์เมื่อรับบิณฑบาตรดอกไม้แล้วจะนำไปสักการะรอยพระพุทธบาท
อันเป็นการส่งต่ออานิสงส์ผลบุญกลับมายังผู้ทำบุญตักบาตรให้ได้ขึ้นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
พิธีกรรมในประเพณีตักบาตรดอกไม้ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ
การนำน้ำสะอาดมาล้างเท้าให้พระสงฆ์เมื่อท่านเดินลงจากพระมณฑป
โดยเชื่อว่าการชำระล้างเท้าให้พระสงฆ์เปรียบเสมือนได้ชำระบาปของตนด้วย
ไขข้ออยากรู้ให้ตนเองได้แล้ว ก็ให้อยากต่อไปอีก
หากปีหน้าไม่ติดขัดเหตุหนึ่งประการใด
คงจะต้องหาโอกาสไปร่วมบุญกับชาวหระ-รี สักครา
หมายเหตุ:  พืชถิ่นเดียว หรือ พืชเฉพาะถิ่น (endemic plants)  คือ พืชชนิดที่พบขึ้นและแพร่พันธุ์ตามธรรมชาติในบริเวณเขตภูมิศาสตร์เขตใดเขตหนึ่งของโลก และเป็นพืชที่มีเขตกระจายพันธุ์ทางภูมิศาสตร์ค่อนข้างจำกัด ไม่กว้างขวางนัก มักจะพบพืชถิ่นเดียวบนพื้นที่ที่มีลักษณะจำกัดทางระบบนิเวศ เช่น บนเกาะ ยอดเขา หน้าผาของภูเขาหินปูน แอ่งพรุ ฯลฯ  ถิ่นที่อยู่ดังกล่าวมีสภาพจำกัดของสิ่งแวดล้อม หรือมีสภาพดินฟ้าอากาศเฉพาะที่ (microclimate) พืชถิ่นเดียวของไทยหลายชนิดพบขึ้นเฉพาะบนภูเขาหินปูน หรือดินที่สลายมาจากหินปูน เช่น ก่วมเชียงดาว (Acer chiangkaoense  )  กันภัยมหิดล ( Afgekia mahidolae  )  กาญจณิการ์ ( Santisukia pagetii  ) เป็นต้น ในปัจจุบันยังไม่มีการสำรวจและวิเคราะห์จำนวนชนิดพืชถิ่นเดียวของประเทศไทยอย่างครบถ้วน เนื่องจากยังขาดหนังสือพรรณพฤกษชาติของประเทศไทย (Flora of Thailand)  ฉบับที่สมบูรณ์ (คัดลอกจาก : พืชถิ่นเดียวและพืชหายากประเทศไทย)

ข้อมูลอ้างอิง
TAT_Lopburi. (๒๕๕๘, กรกฎาคม ๒๕). งานประเพณีตักบาตรดอกเข้าพรรษา และถวายเทียนพระราชทาน จังหวัดสระบุรี ประจำปี ๒๕๕๘. Retrieved กรกฎาคม ๒๗, ๒๕๕๘, from เว็บไซต์เที่ยวภาคกลาง: http://www.tiewpakklang.com/news/lopburi/18528/
โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. (254-). พืชถิ่นเดียวและพืชหายากประเทศไทย. เรียกใช้เมื่อ 5 สิงหาคม 2558 จาก โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี: http://www.rspg.or.th/index_sub.html
ไทยรัฐออนไลน์. (๒๕๕๘, กรกฎาคม ๓๑). ตักบาตรดอกเข้าพรรษา หนึ่งเดียวในโลก ที่สระบุรี. Retrieved กรกฎาคม ๓๑, ๒๕๕๘, from ไทยรัฐออนไลน์: http://www.thairath.co.th/content/515351
นณณ์. (๒๕๕๓, กรกฎาคม ๑๙). เข้าพรรษาดอกขาวแห่งสระบุรี. Retrieved กรกฎาคม ๒๗, ๒๕๕๘, from siamensis.org: http://www.siamensis.org/article/242
สำนักงานหอพรรณไม้ . (๒๕๕๔, ตุลาคม ๒๗). ดอกเข้าพรรษา. Retrieved กรกฎาคม ๒๗, ๒๕๕๘, from สำนักงานหอพรรณไม้ : http://www.dnp.go.th/botany/detail.aspx?words=ดอกเข้าพรรษา

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร