ว่าด้วยเรื่องของขนม

5 July 2009
Posted by Ekanong Duangjak

วันนี้ (5 ก.ค.2552) เดินตรวจเวรเห็นหนังสือของมูลนิิธิเด็กเรื่อง สิ่งประดิษฐ์ของโลก เป็นโครงการหนังสือการ์ตูนส่งเสริมการเรียนรู้สำหรับเด็ก มี 4 เล่ม 4 หมวด หมวดที่ 1 เรื่อง เครื่องเรียน หมวดที่2 เรื่อง ยานพาหนะ หมวดที่3 เรื่องเครื่องครัว หมวดที่4 เรื่องขนม เลยลองเปิดดูเรื่องของขนม เพราะเกิดความสงสัยว่า ขนมเป็นสิ่งประดิษฐ์ด้วยเหรอ คำนำในเล่มเค้าใช้ว่า “คำชื่นชม” เค้าเขียนไว้ว่า หนังสือเล่มนี้ไม่ได้หวังจะเชิญชวนให้น้องๆ และครอบครัวเพิ่มเติมขนมในทุกมื้อของอาหาร แต่เป็นเรื่องเล่าขานให้ได้พูดคุยถึงคุณค่าของตำนานและความน่าพิสมัยของขนม ที่แม้จะชื่นชม แต่ควรระมัดระวังความ “มากเกินไป” เช่นเดียวกับอาหารทุกชนิดที่เลือกสรรเข้าสู่ร่างกาย
เมื่อเปิดอ่านก็พบตำนานความเป็นมา การก่อกำเนิดของขนมนานาชนิดจากหลากหลายประเทศ ที่มาที่ไป ตั้งแต่ ขนมไหว้พระจันทร์ กระยาสารท ขนมเบื้อง ปาท่องโก๋ ฝอยทอง ทองหยิบ ทองหยอด ขนมกุฎีจีน ขนมปัง ขนมเค้ก โดนัท ช็อกโกแลต คุกกี้ หมากฝรั่ง ไอศกรีม ข้าวโพดคั่ว
ขนมบางอย่างสร้างตำนานการกู้ชาติเช่น ขนมไหว้พระจันทร์ของจีน ที่ชาวจีนผู้กล้าหาญได้จัดตั้งขบวนการใต้ดินเพื่อกู้ชาติจากมองโกล ซึ่งในสมัยนั้นในวันเพ็ญเดือนแปดชาวจีนมีประเพณีสัการะเจ้าแม่กวนอิม ต้องทำขนมเปี๊ยะแลกกันในหมู่ญาติ ขบวนการใต้ดินจึงใช้ขนมเปี๊ยะสอดใส้ใส่จดหมายนัดแนะให้พร้อมใจกันต่อสู้ ต่อมาเมื่อได้เอกราชคืนมา ชาวจีนจึงถือเอาวันเพ็ญเดือนแปด เป็นวันไหว้พระจันทร์ และเปลี่ยนชื่อ ขนมเปี๊ยะ เป็น ขนมไหว้พระจันทร์
หรืออย่างประเทศไทยของเราสมัยเด็ก เราจะมีขนมอร่อยๆ กินกันในช่วงเทศกาลต่างๆ เช่น กระยาสารท เราจะได้กินกันตอนวันสารทไทยเดือนสิบ  ซึ่งขนมชนิดนี้เกิดจากการที่ในช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิต ชาวบ้านไปทำบุญที่วัด ต่างคนต่างนำของที่ตัวเองมีมารวมๆ กัน เช่น ข้าว ข้าวเม่า ข้าวตอก มะพร้าว ถั่ว งา จึงนำมากวนกับน้ำตาลมะพร้าว กะทิ จนเหนียวเป็นก้อนแล้วก็แจกจ่ายแบ่งปันกันไป คำว่า กระยา แปลว่า ข้าวของ อาหาร หรือขนม สารท แปลว่า เทศกาลบุญเดือนสิบ  เมื่อรวมกัน กระยาสารท จึงมีความหมายว่า ขนมที่เกิดขึ้นในงานบุญเดือนสิบ
ขนมบางอย่างเิกิดขึ้นด้วยความบังเอิญเช่น ขนมเค้ก ที่เกิดจากการทำขนมปัง แต่บังเอิญผสมผิดสัดส่วน ใส่นมและเนยมากกว่าปกติ เลยทำให้ได้ขนมชนิดใหม่คือ ขนมเค้ก หรืออย่างไอศกรีม ที่ชาวจีนเค้านำนมไปเก็บรักษาโดยการหมกในน้ำแข็ง ความเย็นจึงทำให้นมแข็งตัว เลยเป็นต้นกำเนิดของไอศกรีม ที่ต่อมามาร์โค โปโลได้นำสูตรกลับไปอิตาลี ทำให้ปัจจุบันเรามีไอศกรีมที่หลากหลายรศได้กินกัน หรือไอศกรีมแท่งที่เกิดจากความที่เด็กน้อยอายุ 11 ขวบหลงลืมเหยือกใส่น้ำหวานไว้ท่ามกลางอากาศที่หนาวเย็น พอวันรุ่งขึ้นไปเก็บเหยือกก็พบว่า น้ำหวานในเหยือกแข็งตัวเป็นน้ำแข็ง และมีไม้สำหรับคนน้ำในเหยือกเสียบติดอยู่
เล่ามาพอหอมปากหอมคอแค่นี้ก่อน หากสนใจประวัติขนมนานาชนิดล่ะก้อ หาอ่านได้ที่ สิ่งประดิษฐ์ของโลก 4 หมวดขนม เรียบเรียงโดย สุดใจ พรหมเกิด ดีวัน พรหมมาณพ ภาพโดย ดีวัน พรหมมาณพ สำนักพิม์มูลนิธิเด็ก 2550 เลขหมู่ T 35 ส73 ล.4
แต่ที่จริงแล้วน่าอ่านทุกหมวดเลยตามที่บอกชื่อไว้ข้างต้น อ่านเถอะค่ะแล้วจะได้ไปคุยกับคนอื่นได้โดยเฉพาะกับลูกของเรา หนังสือการ์ตูนไม่ใช่หนังสือสำหรับเด็กเท่านั้น ผู้ใหญ่อย่างเราก็อ่านได้ ไม่อย่างนั้นตกเทรนด์ไม่รู้ด้วยน่ะ

4 thoughts on “ว่าด้วยเรื่องของขนม

  • อย่างเรื่องนี้ก็เข้ากับขนมขี้มอดซึ่งเป็นขนมทางใต้ ซึ่งตอนเขียนขึ้นมาเราก็อาจไม่รู้ตัว ทีนี้ลองคิดอีกว่า หากเรารวบรวมขนมที่เป็นเอกลักษณ์ของนครปฐม แต่หากคิดว่ากว้างไป ลดขอบเขตเข้ามาให้ใกล้ตัว ด้วยการเก็บข้อมูลขนมในพื้นถิ่นที่บ้านพวกเราตั้งอยู่ ช่วยกันเขียนคนละหนึบคนละหนับ แค่นี้ห้องสมุดเราก็มีคลังความรู้มหาศาล จะเอาไปเผยแพร่ทางไหนล่ะ นิทรรศการ หนังสือ หรือจะเป็นอีบุ๊คส์ ฯลฯ หรืออะไรได้อีกมายมาย คำว่า reference library จะำำได้เกิดจริงๆ ซะที แถมเกิดได้เพราะมือของพวกเราทุกคน บอกแล้วเรื่องง่ายๆ อีกแล้ว

  • สมัยก่อนย้อนไปสัก 30 ปีแก่ๆ (แต่เราไม่แก่นะ…ไม่ยอมน่ะ…ยืนยัน แต่ได้แค่ใจว่ะ ตัวน่ะแย่แว้วว 55)
    สมัยก่อนที่เราเป็นเด็กตลาดท่าเมล์ขาว เราจำได้ว่าเวลางานองค์พระ
    จะมียายๆ ป้าๆ หอบลูกจูงหลานมานอนข้างกำแพงองค์พระ ยังกะเข้าค่าย
    เค้าไม่ได้มานอนเล่นนะ มาขายของน่ะ เป็นของ เป็นขนมพื้นบ้านมากมาย มากมายจริงๆ นะ
    ก็นอนกันตั้งกะกำแพงด้านโพธิ์ทอง เรื่อยละมาด้านตลาดล่าง ยิ่งด้านนี้ มี2 ฝั่งเรียงราย
    ทั้งบนฟุธบาธข้างกำแพง และฝั่งตัวตลาด ไปยั้นประตูพระร่วง เยอะมั้ยล่ะ
    คนจากเพชรบุรีเนี่ยแน่ๆ ล่ะกลุ่มหนึ่ง พวกนี้จะมาขายพวก ข้าวเกรียบงาเป็นห่อกลมๆ สีสันสวยงาม
    ในกระดาษแก้ว ก็จินตนาการเอาละกันกระดาษแก้วมีสีอะไรก็สีนั้นแหละ เอ…แต่สงสัยจะยกเว้น สีน้ำเงิน
    เพราะเท่าที่จำได้ไม่อยู่ในความจำสีนี้ แล้วก็ยังมีพุทรากวน กาละแมกวน เป็นกระมังกระมัง
    ไหนจะสร้อยคอขนมปังอีก ซึ่งต่างๆ ที่ว่ามานี้หลายวันก่อน คุยกับน้องๆ บนฝ่ายเขาก็ยังเออๆ ออๆ อืมๆ เคยเห็น
    แต่ไอ้เจ้าขนมอีกอย่างนี่สิ ขนาดน้าV ผมสีดอกเลายังไม่เคยเห็น เลยเริ่มครางใจตัวเอง อะไรรึตรูจาชราปานนั้น
    เอ้า…ใครรู้ตัวว่าทันเห็นเจ้าขนมที่ว่านี้ ช่วยต่อที ขนมน้ำตาลสีๆ ที่เค้าปั้น เอ..จะเรียกว่าปั้นหรือหล่อ เราก็ไม่รู้สิ
    รู้แต่ว่าเจ้าขนมเนี่ย มันเป็นตัวสัตว์น่ะ ถ้าเราจำไม่ผิดเราว่ามันเป็นตัวสิงห์นะ เป็นสีๆ ชมพู เขียวอะไรประมาณนั้น
    จำไม่ได้ถนัดน่ะ เพราะสมัยที่ว่าเนี่ยตอนนั้นสักไม่ถึง 10 ขวบมั้ง ใครรู้ช่วยต่อทีนะๆ อยากรู้เหมือนกันมันรสชาดยังไง
    เพราะเคยแต่เห็น ไม่เคยกิน แล้วเขาเอาไว้กินมั้ย มันคงหวานน่าดู

  • ที่บ้านเรียก น้ำตาลปั้น ตอนซื้อน่ะอยากได้ แต่กินไม่ไหว เพราะหวานมาก เดี๋ยวนี้กลับมาขายกันเยอะใน กทม. นััยว่าเป็นของ “โบ”

  • ว่าแต่ท่านใดใจเมตตา มุทิตา อุเบกขา …เกี่ยวกันไหมเนี่ย
    เอาเป็นว่าใครเจอซื้อมาฝากหน่อยนะ… ฝากเล็กน่ะ ป้าหน่อยแกคงไม่เอา 55
    ขอตัวละสี เก็บตังค์ทีหลังนะ

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร