ญี่ปุ่น-สยาม เพลิงแค้นหลังราชบัลลังก์ ความสัมพันธ์ลึกตั้งแต่กรุงศรีอยุธยา

29 January 2015
Posted by Aree Piyarattanawat

ญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์กับราชอาณาจักรสยามมาช้านาน แม้จะไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่าญี่ปุ่นพวกแรกๆ นั้น เดินทางมาสยามตั้งแต่เมื่อไร แต่ก็มีหลักฐานให้พอทราบว่า ในช่วงโปรตุเกสยึดเอาเกาะมะละกาได้ และทำการเปิดตลาดค้าขายกับเมืองท่าทางดินแดนตะวันออกหลายเมือง ทั้งมะละกา ชวา สยาม จีน ญี่ปุ่น โดยเฉพาะญี่ปุ่นมีหลักฐานปรากฎว่ามีการต่อเรือสำเภาขึ้นอย่างมากมาย เพื่อใช้ในการเดินทางทะเลเข้ามาค้าขายกับประเทศสยาม และพวกญี่ปุ่นบางส่วนประพฤติตัวเป็นสลัดปล้นตีเรือสินค้าต่างๆ เสียเอง บางพวกรับจ้างเป็นทหารทำสงครามสู้รบกับพวกชาวต่างประเทศ
ในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช มีการกล่าวถึง กองทหารอาสาญี่ปุ่นที่เขาร่วมรบกับกองทัพสยามอยู่หลายครั้ง และมีหลายคนที่รับราชการภายในราชสำนักสยามบางคนก็ได้รับยศตำแหน่งที่ดี และเป็นที่โปรดปรานของกษัตริย์ ในสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ โชกุนได้มีพระราชสาส์น และเครื่องราชบรรณาการเข้ามาถวาย ด้วยมีพระประสงค์ให้ทางราชสำนักสยาม ช่วยจัดหาปืนใหญ่ให้ทางญี่ปุ่น และนั่นเป็นการเจริญพระราชไมตรีระหว่างญี่ปุ่นกับประเทศสยามครั้งแรกอย่างเป็นทางการ
จากนั้นก็มีการส่งคณะทูต และพระราชสาส์นโต้ตอบพร้อมส่งเครื่องราชบรรณาการให้แก่กันอยู่หลายครั้ง และพ่อค้าวาณิชย์ก็เริ่มเปิดทำการค้าขายกันนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา หลังจากนั้นก็มีเหตุการณ์เกี่ยวเนื่องระหว่างชนชาติญี่ปุ่นกับราชสำนักสยามอยู่บางช่วง บางตอนค่อนข้างรุนแรงโหดร้าย และมีความสำคัญในทางประวัติศาสตร์เป็นอย่างมาก สมเด็จพระเจ้าเอกาทศรถมีพระราชโอรสสองพระองค์ ทรงพระนามว่าเจ้าฟ้าสุทัศน์องค์หนึ่ง และเจ้าฟ้าศรีเสาวภาคย์อีกพระองค์หนึ่ง ซึ่งพระองค์หลังประชวรพระยอดเสียพระเนตรข้างหนึ่ง
ครั้งนั้นโปรดให้เจ้าฟ้าสุทัศน์ดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราชต่อจากเจ้าฟ้าสุทัศน์มหาอุปราชเกิดเหตุน้อยพระทัยเสวยยาพิษเสด็จสวรรคต สมเด็จพระเอกาทศรถเจ้าทรงพระโทมนัสโศกาอาดูรถึงพระโอรสเป็นอันมาก ครั้งลุปีศักราช 963 ปีฉลู (พ.ศ. 2144) ทรงพระประชวร และได้เสด็จสวรรคตลง ขุนนาง มุขมนตรีทั้งปวงจึงอัญเชิญพระศรีเสาวภาคย์ ขึ้นเสวยราชสมบัติ ด้วยเหตุนี้เองที่สมเด็จพระศรีเสาวภาคย์พระเนตรบอด และมีพระพลานามัยที่ไม่ค่อยจะดีนัก ทำให้เกิดเหตุการณ์ร้ายขึ้นในราชสำนัก ทำให้มีผู้คิดร้ายต่อราชสมบัติหลายครั้ง จนกระทั่งพระศรีสินซึ่งบวชอยู่ที่วัดระฆังรอบรู้พระไตรปิฎกสันทัดได้สมณฐานันดรเป็นพระพิมลธรรมอนันตปรีชา ซ่องสุมพรรคพวกได้มากแล้วทำการกบฎ ยกพลบุกพระราชวังได้ และคุมเอาพระเจ้าแผ่นดินไปสำเร็จโทษ
จากนั้นก็ตั้งตนเป็นกษัตริย์ทรงพระนามว่า “สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม” ในช่วงเวลานั้นมีพ่อค้าญี่ปุ่นเดินทางโดยเรือเข้ามาค้าขายยังประเทศสยามอยู่ หลายลำ เมื่อทราบเหตุการณ์เข้าก็พากันโกรธแค้น รวมพวกกันหมายจับพระศรีสินพิมลธรรม หรือสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมสังหาร แต่ทำการไม่สำเร็จด้วยทหารกรมวังได้กรูเข้ามาขัดขวางไว้ และไล่ตีฟันพวกญี่ปุ่นจนแตกกระจัดกระจายไป ตั้งแต่นั้นมาญี่ปุ่นก็มิได้เข้ามาค้าขายกับราชสำนักสยามอีกเลย กระนั้นก็ยังมีญี่ปุ่นบางพวกยังคงรับราชการในราชสำนัก และยังคงหลงเหลือตั้งเป็นกองทหารอาสาอยู่จำนวนหนึ่ง กล่าวกันว่ามีทหารญี่ปุ่นคนหนึ่งเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าแผ่นดินสยามมาก
ช่วงปลายรัชสมัยเกิดเหตุวุ่นวายด้วยเรื่องราชสมบัติอีกครั้ง และทหารญี่ปุ่นผู้นั้นได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการเรื่องราวต่างๆ ภายหลังได้รับตำแหน่งราชการเป็นออกญาเสนาภิมุข แม่กองทหารอาสาญี่ปุ่นต่อมาได้รับบำเหน็จพิเศษเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ และเจ้าเมืองนั้นแทบจะถือได้ว่าเป็นเหมือนกษัตริย์องค์หนึ่งเลยทีเดียว เรื่องราวของนายทหารผู้นั้นได้รับการกล่าวขวัญถึง และได้รับการยกย่องกันอย่างมากมายหลายยุคหลายสมัย
ความสัมพันธ์ระหว่างราชสำนักสยาม-ญี่ปุ่นมาจนถึงจัดสิ้นสุดเมื่อออกญากลาโหม สุริยวงศ์ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ทรงพระนามว่า “สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง” ภายหลังทรงเกิดระแวงว่ายามาดา นากามาซา พระสหายญี่ปุ่นจะเป็นอุปสรรคต่อแผ่นดินจึงหาทางกำจัด กระทั่งเกิดการสู้รบระหว่างทหารสยามกับญี่ปุ่นกันอย่างดุเดือด หมู่บ้านญี่ปุ่นถูกเผาทำลาย พวกญี่ปุ่นที่หลงเหลือถูกทำโทษ โดยการขับไล่ออกจากนอกราชอาณาจักร บังเอิญช่วงนั้นโชกุนญี่ปุ่นมีนโยบายเปิดประเทศ ไม่มีการค้าขายกับประเทศใดๆ และห้ามมิให้ผู้คนเข้าออกประเทศ แม้ต่อมาสมเด็จพระเจ้าปราสาททองจะพยายามส่งคณะฑูตเชิญพระราชสาส์นไปเจริญพระราชไมตรีอยู่หลายครั้ง แต่ทางการญี่ปุ่นก็ไม่ให้การต้อนรับ และขับไล่คณะฑูตสยามด้วย ไม่ถือว่า “สมเด็จพระเจ้าปราสาททองเป็นพระมหากษัตริย์” มีบทความที่บันทึกไว้ตามหนังสือประวัติศาสตร์พระราชพงศาวดารเกี่ยวเนื่องกับความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับราชอาณาจักรสยามอยู่หลายช่วงตอน ทั้งส่วนการค้าระหว่างประเทศ และส่วนบรรดาพ่อค้านักเดินเรือชาวตะวันตก ได้บันทึกไว้หลายเหตุการณ์เป็นเรื่องราวสนุกพิสดาร โดยเฉพาะเรื่องราวเกี่ยวกับยามาดา นากามาซา ที่ชาวญี่ปุ่นนั้นยกย่องว่าเป็นวีรบุรุษที่มีความสำคัญคนหนึ่งในประวัติศาสตร์เลยทีเดียว
ความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับราชอาณาจักรสยามถูกรื้อฟื้นอีกครั้งจากสำนัก พระมหากษัตริย์ และกลุ่มคนค้าขายทำธุรกิจเดินเรือเรื่อยมาอันเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นโดย พื้นฐานในช่วงที่โลกมีการพัฒนาและก้าวหน้าตามยุคตามสมัย “ญี่ปุน-สยาม เพลิงแค้นหลังราชบัลลังก์ ความสัมพันธ์อันลึก แต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา” บันทึกเหตุการณ์ความสัมพันธ์ของราชอาณาจักรสยามกับญี่ปุ่นชาติมหาอำนาจตะวัน ออก จดหมายเหตุหลักฐานสำคัญในทางประวัติศาสตร์ เรียบเรียงและสรุปเอกสารหลายเล่ม อาทิเช่น พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา หลายๆ ฉบับจดหมายเหตุพ่อค้าบาทหลวงชาวต่างชาติที่เดินทางมายังประเทศสยาม รวมทั้งหอจดหมายเหตุเรื่องราวทางไมตรีในระหว่างกรุงศรีอยุธยากับญี่ปุ่นได้ รวบรวมสาระสำคัญและบันทึกประวัติศาสตร์ เพื่อช่วยเหลือในการค้นคว้า และมีผลประโยชน์จากหนังสือเล่มนี้ไม่มากก็น้อย
แหล่งข้อมูล ได้จากการอ่านหนังสือ หมวด DS 575.5 J3ก74

One thought on “ญี่ปุ่น-สยาม เพลิงแค้นหลังราชบัลลังก์ ความสัมพันธ์ลึกตั้งแต่กรุงศรีอยุธยา

  • พี่อ้วน..ชอบอ่านนะ ไม่เอาหน้าปกมาโชว์ด้วย และสงสัยว่า บรรทัดที่ 17 จากด้านล่าง ประโยค “บังเอิญช่วงนั้นโชกุนญี่ปุ่นมีนโยบายเปิดประเทศ….” –เปิด หรือ ปิด– เพราะบรรทัดถัดมาพี่อ้วนบอกว่า ไม่มีการค้าขายกับประเทศใด ๆ และห้ามมิให้ผู้คนเข้าออกประเทศ..

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร