ค่านิยม…นะ…ทำได้ไหม?

ขณะนี้ จะพบว่า มีการเผยแพร่ค่านิยมของคนไทย 12 ประการ ในสื่อต่าง ๆ ทั้งสื่อโทรทัศน์ สื่อออนไลน์ และ Sticker Line ซึ่งเป็นค่านิยมหลักที่ท่านนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มอบให้คนไทย โดยเป็นการนำค่านิยมที่ดีที่คนไทยชื่นชมมาช้านาน รวมทั้งพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มารวบรวมและเรียบเรียงให้จำง่าย เพื่อให้คนไทยนำไปปฏิบัติเป็นกิจวัตร เป็นการสร้างมาตรฐานที่ดีในสังคมไทย โดยท่านนายกรัฐมนตรีได้กล่าวว่า “เราจะสร้างสรรค์ประเทศไทยให้เข้มแข็ง ฉะนั้นคนไทยต้องเข้มแข็งก่อน” ค่านิยมทั้ง 12 ประการประกอบด้วย

  1. มีความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
  2. ซื่อสัตย์ เสียสละ อดทน
  3. กตัญญูต่อพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูบาอาจารย์
  4. ใฝ่หาความรู้ หมั่นศึกษาเล่าเรียน ทั้งทางตรงและทางอ้อม
  5. รักษาวัฒนธรรมประเพณีไทย
  6. มีศีลธรรม รักษาความสัตย์
  7. เข้าใจเรียนรู้การเป็นประชาธิปไตย
  8. มีระเบียบ วินัย เคารพกฎหมาย ผู้น้อยรู้จักการเคารพผู้ใหญ่
  9. มีสติรู้ตัว รู้คิด รู้ทำ
  10. รู้จักดำรงตนอยู่โดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
  11. มีความเข้มแข็งทั้งร่างกายและจิตใจ ไม่ยอมแพ้ต่ออำนาจฝ่ายต่ำ
  12. คำนึงถึงผลประโยชน์ของส่วนรวมมากกว่าผลประโยชน์ของตนเอง

ในองค์กรหรือหน่วยงานต่าง ๆ ก็เช่นเดียวกัน การที่จะให้องค์กรบรรลุผลสำเร็จ หรือสู่ความเป็นเลิศได้นั้น บุคลากรภายในองค์กรนั้น ๆ ซึ่งเปรียบเสมือนฟันเฟืองตัวเล็ก ๆ ก็มีส่วนสำคัญที่จะทำให้องค์กรประสบผลสำเร็จได้ ดังนั้น ทุกคนในองค์กรจึงต้องมีความเชื่อ ค่านิยม หรือปรัชญาองค์กรไปในแนวที่องค์กรประสงค์ ซึ่งค่านิยมหลักที่เป็นพื้นฐานของการบริหารจัดการสู่ความเป็นเลิศมี 11 ประการ ประกอบด้วย

  1. การนำองค์การอย่างมีวิสัยทัศน์
  2. ความเป็นเลิศที่มุ่งเน้นนักศึกษา และผู้ใช้บริการ
  3. การเรียนรู้ระดับองค์กรและระดับบุคคล
  4. การให้ความสำคัญกับบุคลากรและคู่ความร่วมมือ
  5. ความคล่องตัว
  6. การมุ่งเน้นอนาคต
  7. การจัดการเพื่อนวัตกรรม
  8. การจัดการโดยใช้ข้อมูลจริง
  9. ความรับผิดชอบต่อสังคม
  10. การมุ่งเน้นที่ผลลัพธ์และการสร้างคุณค่า
  11. การมองเชิงระบบ

จะเห็นได้ว่า ค่านิยม (Value) ของบุคคล จะเป็นรูปแบบของความเชื่อหรือทัศนคติของแต่ละบุคคลที่มีต่อสิ่งของ ความคิด และเหตุการณ์ต่าง ๆ ว่าเป็นสิ่งดี ถูกต้อง มีคุณค่า และพอใจที่จะยึดถือปฏิบัติ หรือเห็นว่าสิ่งใดไม่ดี ไม่ควรทำตาม ดังนั้นหากองค์กรต้องการให้บุคลากรในองค์กรมีค่านิยมที่เป็นแบบอย่างเดียวกัน เป็นค่านิยมที่องค์กรประสงค์ให้เกิดกับองค์กร องค์กรจะต้องโน้มน้าวให้บุคลากรเกิดความเชื่อหรือมีทัศนคติที่ดี เห็นว่าเป็นสิ่งที่ดี ถูกต้อง มีคุณภาพ และพอใจที่จะยึดถือปฏิบัติต่อค่านิยมนั้น ๆ จึงจะทำให้องค์กรบรรลุผลสำเร็จในสิ่งที่องค์กรต้องการ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์เชิญโชค ศรขวัญ ได้กล่าวไว้ในการเป็นวิทยากร ในการฝึกอบรมหลักสูตร การบริหารจัดการห้องสมุดสู่ความเป็นเลิศเพื่อก้าวสู่องค์กรสมรรถนะสูง ระหว่างวันที่ 6-10 มกราคม 2558 ณ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ว่า
“ค่านิยมองค์กรไม่ได้มีไว้เพื่อทำให้คล้องจอง คนต้องท่องจำ ติดประจำไว้ในลิฟต์ ติดบอร์ดสวยหรู ได้แค่ดูแต่ไม่ได้ทำ แต่ค่านิยมองค์กรมีไว้เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติ จัดอบรมเป็นนิสัย นำไปใช้ในทุก ๆ พันธกิจ”
เราทุกคน…ในฐานะที่เป็นพลเมืองของชาติ และเป็นฟันเฟืองตัวหนึ่งขององค์กร เราควรให้ความร่วมมือ ร่วมใจ ในการปฏิบัติตามค่านิยมหลักของประเทศไทยและของหน่วยงานของเรา เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติและผู้ใช้บริการของเรา เพื่อให้ประเทศของเราและองค์กรของเราดำรงอยู่ได้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้…

 บรรณานุกรม

เชิญโชค ศรขวัญ.  เอกสารประกอบการฝึกอบรม หลักสูตร การบริหารจัดการห้องสมุดสู่ความเป็นเลิศเพื่อก้าวเข้าสู่องค์กรสมรรถนะสูง โครงการพัฒนาบุคลากรข่ายงานห้องสมุดมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาค.  นนทบุรี : สำนักบรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2558.

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร