ปวดศีรษะ

เขียนว่าปวดศีรษะเชื่อว่าคงเป็นอาการพื้นฐานของหลาย ๆ คนเช่นกัน ปวดมากปวดน้อยทนได้ทนไม่ได้ก็ว่ากันไป แต่มีบางคนบอกว่าหากรู้สึกปวดหัวต้องกินยาอย่าไปดื้อไม่กินยาแก้ปวดเดี๋ยวจะยุ่งไปเรื่องอื่น
ปวดหัว ภาษาราชการใช้ว่า ปวดศีรษะ อาการปวดศีรษะอาจเกิดขึ้นได้กับคนทั่วไปทั้งยามเป็นไข้ ยามเครียด ยามวิตกกังวล และอื่นๆ นานัปการ และมักจะเป็นหนึ่งในเหตุผลของการลาป่วยของมนุษย์เงินเดือน เพราะยามใดที่ประสบปัญหาและต้องลาหยุดงานจึงทำให้เรา ๆ ท่าน ๆ เกิดอาการปวดศีรษะได้ และจากการสังเกตเมื่อต้องลงนามรับรองในใบลาของบุคลากรพบการเขียนคำว่า “ปวดศีรษะ” มักจะเขียนผิดเป็น “ปวดศรีษะ” โดยหากพบบุคคลที่เขียนผิดทันทีที่นำใบลามาส่งก็จะแจ้งเจ้าตัวให้ทราบและแก้ไข แต่บางครั้งก็มาพบภายหลังเมื่อตอนจะลงนามรับรองซึ่งก็ได้แก้คำให้ถูกต้องก่อนส่งออกเอง ดังนั้นจึงใคร่ขอนำเสนอคำและความหมายเพื่อการเขียนคำว่า “ศีรษะ” ให้ถูกต้องเพื่อต่อไปจะได้ไม่เขียนผิดกันอีก
ศีรษะ (น.) อ่านออกเสียงว่า สีสะ แปลว่า หัว (เป็นคำสุภาพที่ใช้แก่คน) แต่ความที่ตัวเองเคยเขียนคำนี้ผิดมาก่อนจึงชอบที่จะออกเสียงเป็น สีระสะ เพื่อเตือนใจไว้ว่าการเขียนคำว่า “ศีรษะ” ต้องวางตำแหน่งสระอีไว้ที่ตัว ศ เป็น “ศี” ไม่ใช่ “ศรี”
ศรี (น.) อ่านว่า สี หมายถึง ๑. มิ่ง, สิริมงคล, ความรุ่งเรือง, ความสว่างสุกใส, ความงาม, ความเจริญ เช่น ศรีบ้าน ศรีเรือน ศรีเมือง ๒. พลู หมากพลู เรียกว่า พระศรี ๓. ผู้หญิง ๔. ลักษณะนามใช้แก่คน เช่น พระปิตุราชมาตุรงค์ทรงพระสรวล เห็นสมควรคู่ครองกันสองศรี (กลอน)
คำว่า “ศีรษะ” มักจะเขียนเป็น “ศรีษะ” เพราะคำ “ศร” (ศ ศาลา ร เรือกล้ำ) นั้น มักออกเสียงเป็น “ส” โดยไม่ออกเสียงตัว ร กล้ำเสมอ เช่น “ศรี (สี) เศร้า (เส้า) ศรัทธา (สัด-ทา) ปราศรัย (ปรา-ไส) ฯลฯ” ดังนั้นคำว่า “ศีรษะ” จึงน่าจะเขียนเป็น “ศรีษะ” ด้วย เพราะออกเสียงว่า “สี-สะ” ไม่ใช่ “สี-ระ-สะ”
อย่างไรก็ตาม คำนี้ต้องเขียนเป็น “ศีรษะ” เพราะมาจากคำสันสกฤตว่า “ศีรฺษ” อ่านว่า “สี-ระ-สะ” แต่ตัว ร ออกเสียงนิดเดียว เพียงกึ่งเสียง ที่เราเรียกว่า “อรรธสระ” (คือ พยัญชนะที่มีเสียงกึ่งสระกึ่งพยัญชนะ ได้แก่ ย ร ล ว) เพราะเราออกเสียงอย่างแขกไม่ได้ จึงออกเสียงเป็น “สี-สะ” ไป ทำให้ผู้ที่ไม่เคยเรียนภาษาสันสกฤตหรือไม่ใช่คนช่างสังเกต เข้าใจว่าคงจะมีลักษณะแบบเดียวกับคำว่า “ศรี ปราศรัย ศรัทธา” เป็นต้น คือสระไปอยู่ที่ตัว ร คำนี้ตรงกับคำบาลีว่า “สีส” (สี-สะ) แต่เราไม่นิยมเขียนในรูปบาลีกัน ทั้ง ๆ ที่ความจริงเขียนง่ายกว่า เมื่อไปเขียนในรูปสันสกฤตจึงทำให้ผิดพลาดได้ง่าย ทั้งนี้เพราะมีคำอื่น ๆ เป็นแนวเทียบอยู่หลายคำดังกล่าวแล้ว
คำว่า “ศีรษะ” ตามปกติแปลว่า “หัว” แต่บางทีก็แปลว่า “ผม” ไม่ได้หมายถึงหัวทั้งหมด เช่น “ปลงศีรษะ” ภาษาพระหมายถึง “ปลงผม” บางทีคำว่า “ศีรษะ” ก็หมายถึง “หัว” ซึ่งรวมทั้ง “ผม” ด้วย
คำ ว่า “หัว” กับคำว่า “ผม” บางทีก็ใช้แทนกันได้ เช่น “โกนหัว” กับ “โกนผม” ก็มีความหมายเท่ากัน “สระหัว” กับ “สระผม” ก็มีความหมายอย่างเดียวกัน แต่ “ตัดหัว” กับ “ตัดผม” มีความหมายไปคนละทางใช้แทนกันไม่ได้
อ่านไปอ่านมาเรื่องของคำภาษาสันสกฤต ภาษาบาลี ก็ชักจะเริ่มปวดศีรษะอีกแล้ว ข้อสังเกตต้องจดจำเยอะ ลืมไปหมดแล้ว อย่างไรก็ดีหวังว่าครั้งต่อไปคงไม่เขียนคำว่า “ปวดศีรษะ” เป็น “ปวดศรีษะ” กันอีกนะคะ
ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542. กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์, 2546. หน้า 1093, 1103 (อ PL4185พ2 2546)
ศ.จำนงค์ ทองประเสริฐ ราชบัณฑิต สำนักศิลปกรรม http://www.royin.go.th/th/knowledge

2 thoughts on “ปวดศีรษะ

  • ใช้คำว่า “ปวดกระบาน” ได้ไหมเพราะว่ามันเป็นคำโบราณ ที่ใช้กันรุ่นปู่-ย่าตายาย

  • 555 ใช้ได้คนโบราณก็มักพูดคำนี้ละแต่เขาจะว่าไม่สุภาพ และที่ถูกต้องต้องเขียนว่า “กบาล หรือ กระบาล” นะจ๊ะเธอ

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร