กระยาสารทในชาติอาเซียน

   ในช่วงเดือนนี้มีวันที่เกี่ยวข้องกับประเพณีทั้งของชาวไทยและของชาวจีนอยู่ถึงสามวันด้วยกัน คือ วันไหว้พระจันทร์ (วันที่ 8กันยายน), วันสารทไทย (วันที่ 23 กันยายน) และยังเป็นวันเริ่มเทศกาลกินเจในปีนี้ด้วย กล่าวสำหรับวันสารทไทยของเรานั้น จะตรงกับวันแรม 15 ค่ำเดือน 10 ของทุกปี หรือที่เรียกกันว่าสารทเดือนสิบ ซึ่งเป็นวันที่คนไทยตั้งแต่สมัยโบราณจะให้ความสำคัญอีกวันหนึ่งโดยจะพร้อมใจกันไปทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ปู่ย่าตายายและญาติมิตรทั้งหลายที่ล่วงลับไปแล้ว วันสารท  เป็นวันทำบุญกลางปีตามประเพณีนิยมของไทยในทางจันทรคติถ้านับจากวันสงกรานต์ซึ่งถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ วันสารทก็จะครบ 6 เดือนพอดี ต้นกำเนิดของการทำบุญวันสารทนั้นมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย เป็นพิธีที่เรารับมาจากศาสนาพราหมณ์ และรับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมอินเดีย  ขนมประจำเทศกาลนี้ที่จะขาดเสียมิได้เลยก็คือ “กระยาสารท”
   กระยาสารท เป็นขนมที่คนไทยรู้จักและทำกันมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ โดยใช้ธัญพืชทั้งหมดมาผสมกัน เป็นขนมที่ทำแล้วสามารถเก็บไว้กินได้นาน ส่วนประกอบของขนมกระยาสารท คือ ข้าวเม่า ข้าวตอก ถั่วลิสง งา (ทั้งหมดนี้ต้องนำมาคั่วเสียก่อน)และน้ำตาล  ถ้าจะให้หวานหอมอร่อยต้องกวนผสมกันด้วยน้ำอ้อย (บางที่ใช้กะทิผสมด้วย) การทำบุญวันสารทเดือนสิบ จะทำกันทั่วทุกภูมิภาคของไทย แต่ละภาคก็จะเรียกชื่อต่างกันไป เช่น ในภาคใต้เรียก “งานบุญเดือนสิบและประเพณีชิงเปรต” ภาคอีสานเรียก “ทำบุญข้าวสาก” และภาคเหนือเรียก “ตานก๋วยสลาก หรือ งานทานสลากภัต” ของประกอบในการทำบุญต่างๆในแต่ละภาคก็จะแตกต่างกันไป แต่ทุกถิ่นที่จะต้องมี “ขนมกระยาสารท” ซึ่งจะขาดมิได้ ด้วยมีคติความเชื่อสืบต่อกันมาว่า ถ้าไม่ได้ใส่บาตรหรือทำบุญด้วยกระยาสารทในวันสารทไทยแล้ว ญาติผู้ล่วงลับก็จะไม่ได้รับส่วนบุญกุศลที่ทำไปให้ เนื่องจากในวันสารทจะเป็นวันที่ญาติที่ล่วงลับไปแล้วทั้งหลายได้มีโอกาสกลับมารับส่วนบุญจากญาติพี่น้องที่ยังมีชีวิตอยู่ ดังนั้นจึงเชื่อว่าหากทำบุญในวันนี้ไปให้ญาติทั้งหลายญาติเหล่านั้นก็จะได้รับส่วนบุญเต็มที่มีโอกาสหมดหนี้กรรมและได้ไปเกิดหรือมีความสุข ประเพณีทำบุญสารทเดือนสิบนี้นอกจากไทยแล้ว มอญ, ลาว และเขมร ก็มีการทำบุญนี้เช่นกันเพียงแต่ช่วงเวลาอาจต่างกันไปบ้าง แต่จะอยู่ในช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคมเช่นเดียวกัน 
    รู้หรือไม่ว่า “ขนมกระยาสารท” นี้เป็นขนมประจำชาติของประเทศกัมพูชาด้วย เป็นขนมที่ชาวกัมพูชาใช้ในพิธีกรรมสำคัญต่างๆแทบทุกพิธี และใช้ในงานบวงสรวงทุกครั้ง ไหนๆก็กล่าวถึงขนมประจำชาติแล้ว ดังนั้นขอแถมเรื่องของขนมประจำชาติอาเซียนสักหน่อยก็แล้วกัน เพราะขนมทุกชนิดที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้เป็นขนมที่คนไทยคุ้นเคยกันดีและคงจะเคยลิ้มลองกันมาแล้วทั้งนั้น ก็คือ
 บัวลอยไข่หวาน – เป็นขนมประชาติไทย   ข้าวต้มมัด – เป็นขนมประจำชาติเมียนม่า(พม่า)  น้ำตาลอ้อย – เป็นขนมประจำชาติลาว   ขนมเบื้องญวน – เป็นขนมประจำชาติเวียดนาม
 วุ้นมะพร้าว – เป็นขนมประจำชาติอินโดนีเซีย   โรตี  –  เป็นขนมประจำชาติมาเลเซีย   ลอดช่องสิงคโปร์ – เป็นขนมประจำชาติสิงคโปร์   กล้วยแขก –  เป็นขนมประจำชาติบรูไน
 ฮาโล ฮาโล หรือไอสครีมทรงเครื่อง – เป็นขนมประจำชาติฟิลิปปินส์
   ไม่น่าเชื่อว่าขนมบางอย่างจะเป็นขนมประจำชาติของเพื่อนบ้านอาเซียนไปได้ใช่ไหม เช่น ข้าวต้มมัด กล้วยแขก วุ้นมะพร้าว หรือแม้แต่กระยาสารท นี่ก็เถอะ
(ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจากนิตยสาร See Saw Seen ฉบับเดือนมีนาคม 2557 และเว็บไซต์ foodnetworksolution.com/wiki/word)

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร