มุมที่มองไม่เห็น

ผู้ที่เคยขับรถยนต์มักจะพบว่า ถึงแม้จะมีกระจกรถยนต์ด้านข้างซ้ายและขวา กระจกมองหลัง คอยระแวดระวังแล้วก็ตาม บางครั้งจะมองไม่เห็นรถหรือสิ่งที่อยู่ด้านข้างนอกตัวรถ โดยขอบรถยนต์จะบังได้จังหวะพอดี ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้
เฉกเช่นเดียวกัน ในชีวิตของคนเรา ถึงแม้เราจะคอยระแวดระวัง มองรอบด้านแล้วก็ตาม แต่ก็มักจะเจอเหตุที่เราเผลอ มองไม่เห็นในสิ่งที่ควรจะเห็น หรือคาดไม่ถึงว่าจะเกิดเหตุเช่นนั้นขึ้น แม้สิ่งนั้นจะอยู่ใกล้ตัวเราเพียงแค่มือเอื้อม
ในการขับรถยนต์จึงมักจะมีผู้ที่นั่งไปด้วยเพื่อช่วยดูทางหรือดูสิ่งที่อาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุ ในชีวิตการทำงานของเราก็เช่นเดียวกัน เราอาจจะคิดว่าทำดีแล้ว ยอดเยี่ยมแล้ว เพียงพอแล้ว แต่อาจไม่เป็นอย่างที่เราคิดก็ได้ จึงจำเป็นต้องมีผู้มอง เป็นเหมือนมีกระจกเงาไว้คอยส่องตัวเราเช่นกัน
เพื่อนร่วมทางและกระจกเงาที่จะสะท้อนเราในการทำงาน เกิดจากการประเมินผลการปฏิบัติงาน ซึ่งหน่วยงานจะตั้งผู้ที่ทำการประเมินขึ้นมา หากเป็นการประเมินผลแบบ 360 องศา ผู้ที่ทำหน้าที่ประเมินคือ หัวหน้าหรือผู้บังคับบัญชา เพื่อนร่วมงาน ผู้ใต้บังคับบัญชา ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกที่ติดต่อหรือเกี่ยวข้องด้วย เช่น หัวหน้าแผนกอื่น ลูกค้าหรือผู้รับบริการ ผู้ผลิตหรือผู้ส่งสินค้า เป็นต้น รวมถึงให้ผู้ถูกประเมินต้องประเมินตนเองด้วยเช่นกัน
การประเมินผลงานหรือผลการปฏิบัติงานของหน่วยงานเรา…หอสมุด พระราชวังสนามจันทร์… จะใช้ระบบ Performance เพื่อวัดผลการดำเนินงานของบุคลากรที่ส่งผลต่อผลงานของหน่วยงาน ประกอบไปด้วย 2 ส่วนหลัก ได้แก่ KPIs (Key Performance Indicators) เป็นการประเมินผลลัพท์ของงานหลักที่ทำได้ และ Competency เป็นการประเมินสมรรถนะ ความสามารถ ศักยภาพ หรือพฤติกรรมที่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นจากการกระทำ การแสดงออกที่มาจากความรู้สึกนึกคิด ทัศนคติ ความเชื่อและการรับรู้ ในการประเมิน Competency จะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ Core Competency เป็นความสามารถหลักที่กำหนดขึ้นมาจากวิสัยทัศน์ ภารกิจและเป้าหมายขององค์กรซึ่งทุกคนในองค์กรต้องมีเหมือนกัน Functional Competency เป็นความสามารถในงานเฉพาะด้าน และ Managerial Competency เป็นความสามารถด้านบริหารจัดการ จะใช้วัดเฉพาะผู้ที่เป็นหัวหน้าเท่านั้น
ผู้มีหน้าที่ประเมินผลการปฏิบัติงานบุคลากรของหน่วยงานเราจะแต่งตั้งจากผู้ที่ทำหน้าที่หัวหน้างาน/หัวหน้าฝ่ายของผู้รับการประเมิน หัวหน้างาน/หัวหน้าฝ่ายอื่นและหัวหน้าหอสมุด และในการควบคุมคุณภาพการทำงานของบุคลากรจะใช้หลัก P-D-C-A หรือที่เรียกว่า Deming Cycle โดยในแต่ละขั้นตอนจำเป็นต้องมีการพูดคุย ปรึกษาหารือกัน ทั้งผู้ที่เป็นผู้ถูกประเมิน ผู้ประเมินและผู้บังคับบัญชา
สิ่งที่มักจะเกิดขึ้นเสมอในการประเมินคือ การมองกันคนละมุมมองระหว่างผู้ประเมินและผู้รับการประเมิน จึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจกันให้กระจ่างเพื่อจะได้ไม่มีผลกระทบต่อไปในภายหน้า
ในการทำหน้าที่ของผู้ประเมินนั้นควรทำด้วยความยุติธรรม และยึดหลัก 10 Don’t หรือ 10 ข้อที่ไม่ควรปฏิบัติ (อาภรณ์ ภู่วิทยพันธุ์ 2553 : 132-133) ได้แก่ (1) ไม่ประเมินในระดับกลาง คือให้คะแนน 3 จากคะแนนเต็ม 5 โดยไม่ได้ตรวจสอบผลงานที่ทำได้ (2) ไม่ประเมินโดยใช้ความรู้สึกของตัวเอง (3) ไม่ประเมินโดยใช้เหตุการณ์เร็ว ๆ นี้ โดยไม่พิจารณาถึงผลงานที่ทำได้ตลอดช่วงเวลาที่กำหนดขึ้น (4) ไม่ประเมินโดยเหมารวมปัจจัยประเมิน โดยไม่ประเมินว่าดีหรือไม่ดีเป็นรายข้อ (5) ไม่ประเมินโดยยึดหลักความเชื่อที่ผิดผิด (6) ไม่ประเมินโดยใช้ตัวเองไปแข่งขันด้วย (7) ไม่ประเมินโดยใช้อายุงานเป็นเกณฑ์ (8) ไม่ประเมินโดยพิจารณาจากค่าตอบแทนที่จะได้รับ (9) ไม่ประเมินโดยใช้ระบบโควตา และ (10) ไม่ประเมินโดยตัดสินจากผู้อื่นโดยไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น
😆  ผู้รับการประเมินควรนำผลการประเมินไปปรับปรุงแก้ไขการทำงานในครั้งต่อไปให้ดีขึ้น หรือเข้าสู่กระบวนการ IDP ผู้ประเมินต้องทำหน้าที่ประเมินอย่างโปร่งใส ยุติธรรม ไม่ทำตัวเป็นร่างทรง คอยดูว่าคนอื่นว่าอย่างไรก็ว่าตาม หรือคอยรับคำสั่งจากผู้อื่นว่าให้ประเมินออกมาเช่นไร ผู้ประเมินควรเป็นเพื่อนร่วมทางที่ดีและเป็นกระจกเงาที่ใสสะอาด ที่สะท้อนผลการปฏิบัติงานออกมาให้เห็นชัดเจน ไม่ทำตัวเป็นกระจกเงาที่ขุ่นมัว สะท้อนอะไรออกมาก็เห็นเพียงลางเลือน ไม่ชัดเจนหรือไม่ตรงกับความเป็นจริง หากทำได้เช่นนี้ได้ ไม่ว่าผลการประเมินที่ออกมาจะออกมาเช่นไร ก็จะเป็นที่ยอมรับของทุกคน  😛

บรรณานุกรม

อาภรณ์ ภู่วิทยพันธุ์.  ระบบการบริหารผลงาน = Performance management system.  กรุงเทพมหานคร : เอช อาร์ เซ็นเตอร์, 2553.

3 thoughts on “มุมที่มองไม่เห็น

  • เอิ่มมม แล้วถ้ากระจกวิเศษบอกว่า
    อ๋ออออ…สโนว์ไวท์นะสิงามเลิศในปฐพี…
    แม่มดที่ยืนอยู่หน้ากระจกจะว่ายังไงน๊าาาาา อิอิ ^^

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร