เที่ยวล่อง…ท่องเกาะเกร็ด

1-x
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
อานิสงส์จากการเข้าร่วมสัมมนา PULINET เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
ซึ่งจัดโดย สำนักบรรณสารสนเทศ มสธ.
ที่นอกจากจะเป็นครั้งแรกของอิฉันที่มีโอกาสเข้าประชุมร่วม
ระหว่างคณะกรรมการอำนวยการและคณะทำงานทุกคณะ
เพื่อหารือในประเด็นการบริหารงานข่ายงานห้องสมุดมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาค
เพื่อแปลงแผนยุทธศาสตร์ไปสู่แผนปฏิบัติการแล้ว
ยังมีโอกาสได้พบปะแลกเปลี่ยนมุมมอง มุมคิดกับพี่ๆ น้องๆ หลากหน้า
จากทุกกลุ่มคณะทำงาน ที่บ้างก็คุ้นหน้าคุ้นตา บ้างก็เพิ่งเคยพบเจอกันเป็นครั้งแรก
การสัมมนาเริ่มพิธีเปิดโดย รศ.ดร. นายแพทย์ชัยเลิศ พิชิตพรชัย อธิการบดี มสธ.
ซึ่งก็เป็นไปตามปกติที่เราคุ้นเคย แต่สิ่งที่คาดว่าเป็นแม่เหล็กช่วยดึงดูด
รวมพลคนสัมมนาได้อย่างอุ่นหนาฝาคั่งคือกิจกรรมที่ตามมาหลังเสร็จสิ้นพิธีเปิด
นั่นคือการเดินทางไปศึกษาภูมิวัฒนธรรมเกาะเกร็ดแหล่งภูมิปัญญาเครื่องปั้นดินเผานนทบุรี

W touey1-1-x

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
การทัศนะศึกษาครั้งนี้ชาวคณะเดินทางโดยรถยนต์จากปากเกร็ดไปยังเกาะเกร็ด
โดยมีปราชญ์ท้องถิ่นนนทบุรี คือ อ.พิศาล บุญผูก เป็นผู้บรรยายนำชม
สถานที่แห่งแรกที่เดินทางไปถึงในชุมชนชาวมอญ คือ วัดเตย ต.บางตะไนย์
วัดแห่งนี้สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อ พ.ศ.2375
มีอุโบสถ ๒ หลัง ตั้งอยู่ตรงข้ามกัน หลังเก่าสร้างเมื่อ พ.ศ. 2440
ส่วนที่ชาวคณะได้เข้าไปเยี่ยมชมภายในเป็นอุโบสถหลังใหม่ที่เพิ่งสร้างไม่นานมานี้
อุโบสถหลังใหม่มีสิ่งที่น่าสนใจ คือ จิตรกรรมฝาผนังฝีมือช่างชั้นครู จากรั้วม.ศิลปากร
คือ ครูเทพเนรมิต จิตรกรรมไทย ท่านเป็นคนไทยเชื้อสายมอญ เกิดใกล้ๆ วัดคงคาราม อ.โพธาราม
วัดแห่งนี้ตั้งอยู่คนละฝั่งแม่น้ำแม่กลองกับวัดขนอนตำนานหนังใหญ่ของราชบุรี
และท่านเป็นผู้หนึ่งที่มีส่วนในการเริ่มต้นอนุรักษ์หนังใหญ่วัดขนอน
จิตรกรรมฝาผนังที่วัดเตยนี้ ท่านเป็นผู้ออกแบบ และเขียนภาพจิตรกรรมทั้งหมดโดยไม่คิดค่าแรง
ท่านเริ่มลงมือเขียนภาพมาตั้งแต่ พ.ศ. 2547 ใช้เวลามากกว่า 5 ปีในการเขียนภาพทั้งหมด
ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดแห่งนี้ในความรู้สึกส่วนตัวอิฉันว่า
เป็นงานจิตรกรรมไทยสมัยใหม่ที่มีสีสรรสดใสสวยงามมากแห่งหนึ่งเท่าที่เคยเห็นมา
แต่ด้วยเวลาที่ค่อนข้างจำกัดผนวกกับจำนวนเพื่อร่วมทางมากหน้าหลายตา
การฟัง การชมสิ่งต่างๆ จึงไม่ครบถ้วนกระบวนความนัก
อาศัยความงดงามจากสิ่งที่ประทับใจถ่ายทอดออกมาเป็นภาพถ่าย
และมาแสวงหาองค์เสริมจากอากู๋ จึงมีรูปพร้อมเรื่องมาฝากเพื่อนๆ ได้ชมพอประมาณ
W touey2-1-x
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
จิตรกรรมฝาผนังที่ว่างดงามไล่เรียงจากภาพถ่ายที่บันทึกได้มีดังนี้
ผนังด้านหลังพระประธานเขียนรูปเจดีย์ชเวดากองปิดทองแท้ 100 %
มีเทพพนมและเหล่าเทวดาอยู่ด้านข้าง ด้านบนเขียนรูปวิมาน 5 ยอด
W touey4-1-x
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
ส่วนผนังด้านตรงข้ามพระประธานเป็นผนังที่อิฉันจะเลยไปมิได้เชียว
เพราะผนังด้านนี้มีรูปเขียนพระปฐมเจดีย์ที่บ้านอิฉัน
เป็นรูปพระเจดีย์ปิดทองอร่ามสวยงามไม่แพ้เจดีย์ชเวดากอง
รายล้อมด้วยเทพชุมนุมด้านซ้ายและขวาประมาณ 5 แถวจนถึงเพดาน
W touey3-1-x
 
 
 
 
 
 
ผนังด้านข้างทั้งซ้ายและขวาบริเวณเหนือบานหน้าต่างเขียนภาพเรือพระราชพิธี
ส่วนด้านล่างและบานหน้าต่างเขียนภาพพุทธประวัติตอนต่างๆ
ซึ่งอิฉันรู้จักบ้าง ไม่รู้จักบ้าง ด้วยไม่สันทัดกรณี ที่รู้จักแน่ๆ คือ
ตอนประสูติที่นำภาพมาฝากให้ชม และอีกภาพที่ไม่ทราบตอน
ซึ่งจริงแล้วการชมภาพจิตรกรรมฝาผนัง
ตามศาสนสถานจะมีชีวิตชีวามีคุณค่ามากขึ้นหากเรารู้ข้อมูลข้างหลังภาพ
W touey5-1-x  W touey6-1-x
 
 
 
 
 
 
 
 
ความงดงามในศาสนศิลป์ของอุโบสถหลังใหม่นี้ใช่จะมีเพียงภาพจิตรกรรมฝาผนัง
ด้วยระหว่างที่หันซ้ายหันขวาเดินพิจารณาภาพบนผนังอิฉันก็พบว่า
ฐานชุกชีพระประธานในอุโบสถหลังนี้งามไม่แพ้งานจิตรกรรมเลยทีเดียว
แต่ครั้นจะบรรยายความงามอันประจักษ์ด้วยตาถ่ายทอดเป็นคำบรรยาย
ก็เกินภูมิรู้อันมีอยู่น้อยนิด อากู๋จึงเป็นที่พึ่งและไม่ผิดหวัง
เพราะมีผู้ใช้นามแฝง “ตักบาตรถามพระ” เคยถ่ายถอดเรื่องราวไว้
 
W touey8-1-x
W touey7-1-x
 
 
 
 
 
 
 
 
 
เมื่อไล่เรียงข้อเขียนนั้นกับภาพที่ได้มาตรงหน้า
ความงดงามจึงบังเกิดอย่างเข้าอกเข้าใจซาบซึ้งยิ่งขึ้น

ฐานชุกชีนี้เป็นงานจำหลักไม้ปิดทอง มีผ้าทิพย์ประดับอยู่ด้านหน้า
ตัวฐานไล่เรียงตามลำดับประกอบด้วย ฐานเขียง ฐานปัทม์
แท่นยกชั้นแข้งสิงห์ย่อมุม 12 มีราชสีห์ คชสีห์ประกอบ
เหนือชั้นขึ้นไปมีครุฑยุดนาค เหนือขึ้นไปอีกชั้นเป็นเทพ
ชั้นบนสุดเป็นกลีบบัว มีเทพประจำกลีบๆ ละครึ่งองค์
W touey9-1
นอกจากฐานชุกชีที่วิจิตรบรรจงแล้ว
ประตูอุโบสถก็งดงามไม่แพ้กัน
บานประตูทำจากไม้สัก
สูง 3 เมตร กว้าง 90 เซนติเมตร
แกะสลักลวดลาย
เป็นลายนูนสูง 2 ชั้น
รูปทวารบาลยืนแท่นถือช่อดอกไม้
มือขวาถือพระขรรค์

แต่น่าเสียดายที่บานประตูนี้
อิฉันไม่สามารถถ่ายภาพได้ทัน

เนื่องจากเมื่อเดินออกมาภายนอกอุโบสถ
ท่านเจ้าภาพได้เรียกรวมพลถ่ายรูปหมู่ใหญ่ๆ

จึงต้องขออนุญาตนำ
ภาพของคุณตักบาตรถามพระ
มาให้ชมไปพลาง

 
หลังจากนั้นชาวคณะได้เดินทางต่อโดยเรือโดยสาร 2 ชั้น ไปยังวัดปรมัยยิกาวาส
ขณะแล่นเรือผ่านสัญลักษณ์ของเกาะเกร็ดคือเจดีย์เอียงที่ตั้งเด่นอยู่ริมคุ้งน้ำ
บรรดาตากล้องน้อยใหญ่ต่างยิงสลุตเก็บภาพเป็นที่ระทึก เอ้ยยยย ระลึกกันเป็นระวิง
ไม่นานนักเรือโดยสารที่อิฉันเลือกใช้บริการชั้นบนก็พาคณะเดินทางมาถึงที่หมายใหม่
W poramai4-1-x  W poramai5-1-x
 
 
 
 
 
 
 
 
วัดแห่งที่ 2 คือวัดปรมัยยิกาวาส เดิมชื่อวัดปากอ่าว
เรียกภาษามอญว่า “เภี่ยมุเกี๊ยะเติ้ง” หมายถึงวัดหัวแหลม ซึ่งเป็นชื่อเดิมของเกาะเกร็ด
วัดแห่งนี้เป็นศูนย์กลางของชุมชนมอญตั้งแต่ปลายสมัยอยุธยา
สมัยรัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชดำเนินมาหลายครั้ง และโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์ขึ้น
ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระเจ้าบรมมหัยยิกาเธอ กรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยูร
พระอัยยิกาซึ่งอภิบาลพระองค์มาแต่ทรงพระเยาว์ การบูรณะใช้เวลานานถึง 10 ปี
โดยโปรดเกล้าฯ ให้สร้างอุโบสถใหม่ขึ้นอีก 1 หลัง และพระราชทานนามวัดว่า
วัดปรมัยยิกาวาส มีความหมายว่า วัดของพระบรมอัยยิกา
วัดแห่งนี้มีประเพณีสำคัญในวันออกพรรษา คือการถวายธูปในการตักบาตร
เรียกเป็นภาษามอญว่า “ชอนธูป” ซึ่งแตกต่างไปจากวัดแห่งอื่นๆ ที่มีประเพณีตักบาตรดอกไม้
แต่ในปัจจุบันมีการถวายทั้งธูปและดอกไม้ ขณะที่บางแห่งก็ยังคงถวายดอกไม้อย่างเดียว
ประเพณีที่สำคัญอีกประเพณีหนึ่ง คือ งานสงกรานต์ จะมีการทำข้าวแช่ แห่หงศ์-ธงตะขาบ
เล่นสะบ้า สรงน้ำพระภิกษุ สรงน้ำพระบรมสารีริกธาตุและพระมหารามัญเจดีย์
W poramai2-1-x
 
W poramai3-1-x
 
 
 
 
 
 
 
อุโบสถวัดปรมัยยิกาวาสมีภาพจิตรกรรมฝาผนังฝีพระหัตถ์ มจ.ประวิช ชุมสาย ศิษย์ขรัวอินโข่ง
ซึ่งรูปแบบและสีสรรของภาพจิตรกรรมออกแนวโบราณคลาสสิกต่างกับที่วัดเตย
แต่สิ่งที่งดงามไม่แพ้กันคือบานประตูอุโบสถแกะสลักลวดลายนูนสูง
W poramai1-1-x
 
W poramai11-x
 
 
 
 
 
 
 
 

นอกจากจิตรกรรมฝาผนังฝีมือจิตรกรเอกสมัยรัชกาลที่ 4 และบานประตูแกะสลักที่งดงามแล้ว

ด้านหน้าอุโบสถยังประดิษฐานพระพุทธรูปหินอ่อนซึ่งพระปฏิมากรซานซิวซูน
ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
นอกจากนี้ภายในบริเวณวัดยังมีโบราณวัตถุสมัยอยุธยาตอนปลาย
คือ พระพุทธไสยาสน์ ธรรมาสน์ และบุษบก และพระมหารามัญเจดีย์
ซึ่งพระพุทธไสยาสน์ที่วัดแห่งนี้มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของปากเกร็ด
เสร็จการเยี่ยมชมวัดปรมัยยิกาวาส ชาวคณะได้พากันกลับขึ้นเรือโดยสารเดินทางต่ออีกครั้ง
W pailom2-1-2-x  W pailom3-1-xW pailom2-2-1-x
 
 
 
 
 
 
จุดหมายที่ 3 คือวัดไผ่ล้อม เมื่อมาถึงที่หมายสิ่งหนึ่งที่สะดุดตาคือ
บริเวณด้านหน้าของวัดมีสัญลักษณ์ของชาวมอญคือหงส์ตัวโตสีทองคู่ตั้งเด่นเป็นสง่า
มีหน้าบันพระอุโบสถที่จำหลักลวดลายดอกไม้ คันทวยและหัวเสาที่งดงาม
วัดโบราณแห่งนี้ชาวมอญเรียกว่า “เพี๊ยะโต้” สร้างขึ้นราวปลายสมัยอยุธยา
มีสถาปัตยกรรมอันเป็นอัตลักษณ์แห่งชนชาติมอญคือ
 
W pailom4-1-x  HongMon-1-x  HongTh-1-x
 
 
 
 
 
 
 
พระธาตุรามัญเจดีย์ฐานย่อมุมทรงโอคว่ำประดับลายปูนปั้น
และเสาหงส์ ซึ่งมีจำนวน 3 เสา และมีความแตกต่างในรูปแบบศิลปกรรมของตัวหงส์
คือ หงส์ตัวอวบอ้วนบนเสาด้านซ้ายเมื่อหันหน้าเข้าพระอุโบสถและเสาด้านหลังพระเจดีย์
เป็นศิลปะแบบมอญ ส่วนหงส์อรชรอ้อนแอ้นบนเสาด้านขวาพระอุโบสถเป็นศิลปะแบบไทย
 
W pailom6-1-x   W pailom7-1-x
 W pailom5-1-x
 
 
 
 
 
เมื่อเดินลอดซุ้มกำแพงมาถึงด้านหน้าพระอุโบสถก็จะพบกับรูปพระแกะสลักจากไม้ทั้งองค์
มีป้ายบอกไว้ว่าพระอุปคุต ซึ่งอิฉันเองเพิ่งเคยเห็น หรืออาจจะเพิ่งเคยสังเกตพระปางนี้
คือนั่งแหงนหน้า มือซ้ายอุ้มบาตร มือขวาล้วงมือในบาตร ก็เกิดสงสัยในกิริยานั้น
หลังจากถามไถ่อากู๋จึงทราบว่าพระอุปคุตลักษณะนี้เรียกว่า ปางจกบาตรพิชิตมาร
และยังได้ทราบถึงความเชื่อในพุทธคุณของพระอุปคุตคือช่วยให้เกิดลาภผล
ความมั่งมี ขจัดภยันตราย และมีอิทธิฤทธิ์ขอฝนได้
อิฉันเดินลัดเลาะตาม สว.หลายท่านมาทางด้านหลังพระอุโบสถ
จึงมาพบเจดีย์สีทองเหลืองอร่ามอีกองค์ทราบว่าเป็นเจดีย์ชเวดากองจำลอง
ขณะที่เดินไปยังบริเวณรอบๆ อิฉันสังเกตหน้าบันรูปแปลกตา
จึงเก็บภาพมาถามอากู๋แต่ก็ยังหาข้อสรุปมิได้ ได้แต่เดาๆ ว่าน่าจะเป็น
รูปเทพนรสีห์ซึ่งเป็นสัตว์ผสมมีกายท่อนบนเป็นมนุษย์ท่อนล่างเป็นสิงห์
บางตำราก็ว่าท่อนล่างเป็นกวาง แต่อิฉันก็ไม่มั่นใจนักด้วยภาพที่พบ
มีกายท่อนล่างเพียง 1 เดียว แต่หน้าบันนี้มีกายท่อนล่างแยกเป็น 2
นอกจากนี้ภายในบริเวณวัดยังมีหอระฆังที่สามารถขึ้นชมทัศนียภาพมุมสูง
ทั้งบริเวณภายในวัดและแม่น้ำเจ้าพระยาได้อย่างงดงาม
แต่น่าเสียดายสำหรับสาวๆ เพราะอนุญาตขึ้นได้เฉพาะสุภาพบุรุษเท่านั้น
ละมาจากวัดไผ่ล้อมระหว่างทางเดินจะไปยังวัดเสาธงทอง
ชาวคณะได้มีโอกาสเดินชมบ้านเรือนสองข้างทางที่ส่วนหนึ่งเป็นบ้านพักอาศัย
บางส่วนปรับแปลงเป็นร้านรวงต่างๆ ซึ่งจะเปิดกันเต็มที่ก็เฉพาะในวันหยุด
เพื่อต้อนรับผู้มาเยือนจากต่างถิ่นคณะของเราจึงพลาดโอกาสอย่างน่าเสียดาย
วัดเสาธงทองเป็นวัดโบราณสมัยอยุธยาตอนปลายอีกเช่นกัน
เดิมเรียกชื่อว่า วัดสวนหมาก คนมอญเรียกว่า เพ๊ยะอาล๊าต(วัดตะวันตก)
ต่อมาปลายสมัยรัชกาลที่ 4 เจ้าจอมมารดาอำภา เจ้าจอมในสมัยรัชกาลที่ 2
ได้บูรณะวัดขึ้นซึ่งในเวลานั้นไม่มีต้นหมากแล้วจึงเปลี่ยนชื่อเป็นวัดเสาธงทอง
วัดแห่งนี้มีเจดีย์ขนาดใหญ่สูงที่สุดในปากเกร็ดเป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองศิลปะอยุธยา
ตั้งอยู่ด้านหลังพระอุโบสถ มีเจดีย์บริวารล้อมรอบ 12 องค์
ด้านข้างพระอุโบสถยังมีเจดีย์อีก 2 องค์ องค์หนึ่งเป็นเจดีย์ทรงระฆัง
W saothong2-1-x  Yang200
 
 
 
 
 
 
 
 
อีกองค์เป็นเจดีย์ทรงกลีบมะเฟืองซึ่งอยู่ระหว่างการบูรณะ อิฉันเห็นแปลกตาจึงเก็บภาพมาฝาก
แต่กลับไม่ทันบันทึกภาพงามๆ ของจุดสำคัญในการเยี่ยมชมคือต้นยางใหญ่
ที่ว่ากันว่าเป็นต้นยางที่ใหญ่ที่สุดในนนทบุรีมีอายุกว่า 200 ปี
จึงขออนุญาตนำภาพจากทัวร์ออนไทยคอทคอมซึ่งชัดเจนในความใหญ่จริงมาให้ชมไปพลาง
 
Musyid1-1-x
Rice1-1-x  house1-1-x
 
 
 
 
จากวัดเสาธงทอง
คณะเดินทางต่อโดยเรือโดยสาร
สัมผัสเจ้าพระยาตอนอ้อมเกร็ด
ซึ่งมีทั้ง
ชุมชนมอญ ไทยพุทธ และมุสลิม อยู่ร่วมกันมาช้านาน

การเดินทางครั้งนี้นอกจากจะได้แลเห็น
ศาสนสถานหลากเชื้อชาติหลายแห่ง

ทั้งวัดมอญ วัดไทย ตลอดจนมัสยิดท่าอิฐ
ที่งามสง่าและสูงที่สุดในจังหวัดนนทบุรี

ยังได้แลเห็นบ้านเรือนริมน้ำของชาวเกาะเกร็ด
ซึ่งมีลักษณะของการตั้งบ้านเรือนที่แตกต่างกันไปตามกลุ่มชน เช่น
ชาวมอญมักจะอยู่รวมกันเป็นกลุ่มๆ ขณะที่ชาวไทยจะปลูกเรือนห่างๆ กัน
นอกจากนี้ยังมีโรงสีข้าวที่ทิ้งร่องรอยแห่งอดีตให้เราได้สัมผัสในวิถีชีวิตของชุมชน
  sunset-1-x

เรือโดยสารยังคงพาคณะลอยล่อง
ดื่มด่ำทิวทัศน์สองฝั่งเจ้าพระยา

ขณะที่แสงสีทองลำสุดท้ายของ
ดวงอาทิตย์ใกล้จะลาลับขอบฟ้า
โทรศัพท์สารพัดนึกในมืออิฉัน
ก็ยังคงยิงภาพช็อตต่อช็อต

ขณะเดียวกับที่กระเพาะน้อยๆ ของอิฉัน
เริ่มครวญครางเบาๆ
………
เชื่อว่าใครๆ อีกหลายคน
ก็คงเริ่มมีอาการไม่ต่างกัน

 
 
เวลาผ่านไปครู่ใหญ่เรือโดยสารก็มาถึงยังจุดหมายสุดท้ายของการเดินทาง
“สวนเกร็ดพุทธ” สถานที่ที่สุภาพสตรีชาวเกาะเกร็ดท่านหนึ่งได้สร้างขึ้นเพื่อรองรับผู้มาเยือน
ให้ได้มีโอกาสสัมผัสถึงวิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชน 3 เชื้อชาติ บนเกาะเกร็ด
ด้วยการชมการสาธิต ชมการแสดง ตลอดจนมีส่วนร่วมแสดงฝีมือ
ในวิถีชีวิตด้านต่างๆ อาทิ การสานเข่งปลาทู การทำพวงมะโหด
ก่อนที่จะร่วมกันรับประทานอาหารเย็นแบบสบายๆ ท่ามกลาง
บรรยากาศแบบสวนธรรมชาติ พร้อมชมการแสดงพื้นบ้านเกาะเกร็ด
ก่อนจากลาชุมชนชาวมอญที่อิฉันมีเพียงเสี้ยวเล็กๆ แห่งชนชาติในตัวตน
เพราะหากนับจากทวดหญิงที่แม่อิฉันเรียกว่ายายยาแล้ว
ลงมาถึงรุ่นยายก็แทบไม่เคยสัมผัสถึงวิถีชีวิตแบบมอญสักเท่าใด
คงมีเพียงได้ยินยายส่งภาษาบ้างกับแม่ของน้องเขยซึ่งมีเชื้อสายมอญบางเลน
ในยามที่ผู้เฒ่าเขาเปรี้ยวปากอยากทักทายกันด้วยภาษามอญ
ซึ่ง ณ วันเวลานั้นความสนใจใคร่รู้ในเรื่องวัฒนธรรมประเพณีมอญ
ยังมิได้เกิดขึ้นเลยในความคิดของอิฉัน
และเมื่อมาถึงวันนี้โอกาสก็สูญไปแล้วโดยสิ้นเชิง
ด้วยทั้งสองท่านไปเฝ้าพระศรีอารย์แต่นานหลายปีแล้ว
JediEang3-1-x
 
 
 
 
 
 
เจดีย์เอียงยามพลบค่ำงามแปลกตาไปอีกแบบ…ว่ามั้ยคะท่านผู้ชม ^__^

————————–

อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก

  • ชยุต (Pc), นามแฝง. (2550). สุขภาพกายสุขภาพใจและสิ่งแวดล้อม ตอน ๑ : ความเห็นที่ 50-60.
    เข้าถึงเมื่อ 26 กรกฎาคม. เข้าถึงได้จาก http://www.thaimtb.com/cgi-bin/viewkatoo.pl?id=136479&st=31
  • ชยุต (Pc), นามแฝง. (2550). สุขภาพกายสุขภาพใจและสิ่งแวดล้อม ตอน ๑ : ความเห็นที่ 61-69.
    เข้าถึงเมื่อ 26 กรกฎาคม. เข้าถึงได้จาก http://www.thaimtb.com/cgi-bin/viewkatoo.pl?id=136479&st=61
  • ตักบาตรถามพระ, นามแฝง. (2552). วัดเตย นนทบุรี. เข้าถึงเมื่อ 26 กรกฎาคม.
    เข้าถึงได้จาก http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?t=27889
  • ทัวร์ออนไทยคอทคอม. (2552). วัดเสาธงทอง. เข้าถึงเมื่อ 27 กรกฎาคม.
    เข้าถึงได้จาก http://m.touronthai.com/placeview.php?place_id=24000018

One thought on “เที่ยวล่อง…ท่องเกาะเกร็ด

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร