ไม่รู้

29 June 2009
Posted by Pong

เคยมีคนถามว่าทำงานกับห้องสมุดมาหลายปี สิ่งที่มีปัญหามากที่สุดในการให้บริการคืออะไร ตอบยากนะ…ที่ยากไม่ใช่อะไร เพียงแต่เป็นคนสุขนิยม ไม่ค่อยมองอะไรว่ามีปัญหาและไม่มองอะไรซับซ้อน แต่ชอบมองแบบเชื่อมโยงแบบ mindmap มากกว่า
ตอบไปว่า ทำงานกับคนไม่รู้ไง เพราะทุกปีเราก็ต้องนับหนึ่งอยู่เสมอ ทุกปีเรามีนักศึกษาใหม่ ส่วนเราเป็นคนเก่าู ที่รู้เรื่องราวต่างๆ ในห้องสมุดมากขึ้นและมากขึ้นทุกปีตามอายุงาน ส่วนพวกเขามาใหม่ ซึ่งเราไม่มีโอกาสรู้เลยว่าเขามาที่ห้องสมุดเราเป็นครั้งที่เท่าไร ความคิดจึงมักสวนทางกัน….เสมอ
ความคิดสวนทาง บางเรื่องเรารู้ บางเรื่องเราบอกว่าเป็นเรื่องทั่วไป บางเรื่องเราบอกว่าเป็นสามัญสำนึก แต่คนมาใหม่เขาไม่รู้ ก็คือไม่รู้ ห้องน้ำอยู่ที่ไหน ทำไมจึงปิดประตูนี้ เดินไปยังไง ค้นยังไง ยืมหนังสือที่ไหน ไม่เห็นรู้เรื่องเลย ฯลฯ ขอให้ตอบเขาด้วยจิตใจให้บริการด้วยใจจริงๆ หากทำด้วยใจไม่ได้ก็คงต้องอดทนแสร้งตอบ แล้วสร้างบรรยากาศที่ดีของการสนทนา รู้จักเว้นระยะที่จะกล่าวถึงพวกเขา ให้คิดว่าเพราะเขาไม่รู้เขาจึงถาม อย่าไปทุกข์จากความไม่รู้ของเขา แล้วนำเข้าไปในใจของตัวเอง การไม่รู้ของเขา คือการบ้านของเรา ที่ต้องนำมาขอคิดว่าทำอย่างไรที่จะให้เขารู้
ลอง… ไปไหนสักที่ที่เราไม่เคยรู้จัก แล้วดูซิว่าเรารู้อะไรบ้าง เราไม่รู้อะไร แล้วคนในสถานที่นั้นเขามีปฏิกริยาอย่างไร แล้วเราชอบ หรือไม่ชอบอย่างไร
คนมาใหม่ หรือคนเก่าแต่เหมือนใหม่ เราอาจรู้สึกได้ว่าเขาเหมือนลูกหลานของเรา แต่ในความเห็นจริงแล้วเขาไม่ใช่ลูกหลานของเรา เพราะลูกหลานของเรา เราบ่น เราว่าพวกเขาอย่างไรก็ได้ ส่วนพวกเขาไม่ใช่ จึงบ่น จึงว่าไม่ได้ แม้แต่สิ่งที่เราคิดว่าก็แค่ “บอก” ยังต้องใช้ความระมัดระวัง
ส่วนลับหลังให้เป็นกรณีศึกษาที่เรา่ควรปิดช่องโหว่หรือสิ่งที่แหว่งวิ่นนั้น ด้วยการเติมความรู้เข้าไป การหาช่องทางการสื่อสาร คิดหาลู่ทางสำหรับพวกเราในการจัดการเรื่องราวแบบนี้ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในโอกาสต่อไป การทำความเข้าใจกับสภาพสังคมในยุคของเขาเป็นสิ่งจำเป็น เรารู้จักรีโมทคอนโทรลตอนอายุเท่าไร ส่วนพวกเขาเกิดมาพร้อมกับรีโมทคอนโทรล ช่องว่างระหว่างวัย ช่องว่างระหว่างความคิดมีอยู่มากมายและซับซ้อนขึ้นทุกวัน  จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มเข้าไปอีก
มีคนเรือนหมื่นในมหาวิทยาลัย มีคนหลักพันเข้ามาใช้บริการห้องสมุด แต่มีคนหลักหน่วยที่ไม่รู้และสอบถามเรา ไม่มีทางไหนที่ดีที่สุดไปกว่าอดทนและเป็นมิตร ส่วนพวกเราที่รู้ก็ขอให้ทำงานตามหน้าที่อย่างให้ขาดตกบกพร่อง ด้วยความมีน้ำใจ ใจเย็นและทำความเข้าใจ
พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก เจ้าของหนังสือธรรมะเล่มเล็กบอกว่า รู้จักตน…ตามที่เป็นจริง รู้แจ้งแทงตลอด ทำให้จิตใจของตนพ้นทุกข์ เข้าถึงสันติสุขได้ จากเรื่อง ความสุขสูงสุด ฉบับปีมะเส็ง

มันยากนะ….เวลาต้องไปตอบเรื่องราวอะไรที่เ่อ่ยอ้างถึงใครสักคน 😀 เอวังและสาธุ

2 thoughts on “ไม่รู้

  • ทำงานห้องสมุดถือว่าโชคดีนะ เพราะอยู่กับผู้มีการศึกษา พวกเราอาจต้องรับน้องใหม่ด้วยการพูดๆๆๆ แนะนำมากหน่อยช่วงแรก
    ไม่เกินเดือน น้องๆ ป.ตรี และว่าที่มหาบัณฑิต ดุษฎีบัณฑิต เดี๋ยวเขาก็รู้เรื่อง และพอจะรู้ระบบการใช้ห้องสมุดของเรา หากเรามองไปถึงคนที่ทำงานโรงพยาบาล หรืออำเภอ คนทำงานเหล่านั้นต้องพูดซ้ำๆ ทุกวันๆๆๆ เพราะคนมาใช้บริการเปลี่ยนไปทุกๆ วัน
    ถ้าคนทำงานเข้าใจก็ดีไป ถ้าเขาเบื่อก็จะพบสิ่งที่ไม่สบอารมณ์เรานั่นแหละ
    ไม่มีผู้ใช้เราจะทำอะไรกัน

  • ห่างจากบ๊อกๆ เอ้ย!! Blog นานนนนนนนนนมั่ก
    ตะกี๊จำ User ๆ และ Password ตัวเองม่ายล่าย เลยมั่วๆ เข้ามาดียังเข้าได้ ฮ่ะฮ่ะ
    เห็นด้วยกับพี่นก คนที่ทำงานโรงพยาบาล หรืออำเภอ ต้องพูดซ้ำๆ ทุกวันๆๆๆ เพราะคนมาใช้บริการเปลี่ยนไปทุกๆ วัน
    อยากให้พวกเราคิดเช่นนี้เหมือนกัน เพราะเราอยู่ประจำที่ แต่ผู้ใช้มีใหม่ๆ เก่าๆ ทุกวัน ทุกปี
    เราอาจโชดดี ที่ฟามจำสั้น เลยจำได้แค่บางคนว่าคนคนนี้เป็นเด็กเก่า คนนี้หน้าไม่คุ้น คนโน้น….ฯลฯ
    แต่หน้าที่ของเรา คือ “ผู้ให้บริการ” เวลาเราเป็น “ผู้รับ” เรายังอยากให้เขาแทบจะมาอุ้มเราเข้าใช้ (อันนี้ก็เกินปาย…ฮ่ะฮ่ะ)
    ดังนั้น เวลาเป็นผู้ให้ ก็ควรจะเต็มอกเต็มใจ เหนื่อยก็ต้องทามจาย จริงมั้ยคร๊าบบบบ พี่น้อง สู้ สู้

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร