คำนำหน้านาม "ดร."

มีหลายท่านได้บอกว่า เวลามีเพื่อนร่วมงานจบการศึกษาระดับปริญญาเอก ให้ใช้คำนำหน้าชื่อเขาว่า ดร. เพื่อเป็นการยกย่องกัน ให้เกียรติกัน ไม่ว่าจะเป็นหนังสือราชการ หรือรายงานการประชุม และมีน้อง ๆ หลายคนสอบถามว่า ทำไมผู้เขียนจึงไม่ใช้ตามที่หลายท่านบอกมา ไม่ว่าจะเป็นหนังสือราชการ รายงานการประชุม หรือแม้กระทั่งใบลงเวลาการทำงาน ผู้เขียนจึงขอยกข้อความของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว มาให้ดู ดังนี้
ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงานสารบรรณ พ.ศ. 2526 กล่าวถึง การลงชื่อและตำแหน่งในหนังสือราชการ ตามภาคผนวก 3 ข้อ 3 ไว้ว่า การพิมพ์ชื่อเต็มของเจ้าของลายมือชื่อ ให้ใช้คำนำหน้านามว่า นาย นาง นางสาว หน้าชื่อเต็มใต้ลายมือชื่อ เว้นแต่ในกรณีดังต่อไปนี้
1.  ในกรณีที่เจ้าของลายมือชื่อเป็นสตรีที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้ใช้คำนำหน้านามตามกฎหมายว่าด้วยการใข้คำนำหน้านามสตรี เช่น สตรีทั่วไปซึ่งมีสามี ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตั้งแต่ชั้นทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษขึ้นไป หรือที่ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นทุติยจุลจอมเกล้า ตติยจุลจอมเกล้า และจตุตถจุลจอมเกล้า ให้ใช้คำนำหน้านามว่า ท่านผู้หญิง หรือคุณหญิง แล้วแต่กรณี หน้าชื่อเต็มใต้ลายมือชื่อ
2.  ในกรณีที่เจ้าของลายมือชื่อมีบรรดาศักดิ์หรือฐานันดรศักดิ์ ให้พิมพ์คำเต็มของบรรดาศักดิ์หรือฐานันดรศักดิ์ ไว้ใต้ลายมือชื่อ
3.  ในกรณีที่เจ้าของลายมือชื่อมียศที่ต้องใช้ประกอบชื่อ ให้พิมพ์คำเต็มของยศไว้หน้าลายมือชื่อและพิมพ์ชื่อเต็มไว้ใต้ลายมือชื่อ
ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการใช้ตำแหน่งทางวิชาการเป็นคำนำหน้านาม พ.ศ. 2536 ระบุว่า
ข้อ 4 ในระเบียบนี้
“งานสารบรรณ” หมายความว่า งานสารบรรณตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงานสารบรรณ
“ตำแหน่งทางวิชาการ” หมายความว่า ตำแหน่งศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ หรือผู้ช่วยศาสตราจารย์ ซึ่งได้รับแต่งตั้งตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษา ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งทางวิชาการประจำ ตำแหน่งทางวิชาการพิเศษ ตำแหน่งทางวิชาการเกียรติคุณหรือที่เรียกชื่ออย่างอื่นในลักษณะเดียวกัน
ข้อ 5 ให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการมีสิทธิใช้ตำแหน่งทางวิชาการที่ได้รับเป็นคำนำหน้านามได้ในการลงชื่อ หนังสือ เอกสาร งานสารบรรณหรือการเรียกขานใด ๆ เหมือนยศ หรือคำนำหน้านามอย่างอื่น
ข้อ 6 ในกรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการมีสิทธิใช้คำนำหน้านามอย่างอื่นด้วย ให้เรียงตามลำดับก่อนหลัง ดังนี้
1.  ตำแหน่งทางวิชาการ
2.  ยศ
3.  บรรดาศักดิ์ ฐานันดรศักดิ์ หรือคำนำหน้านามสตรีที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์และมีสิทธิใช้คำนำหน้านามนั้นตามกฎหมาย ระเบียบหรือประกาศของทางราชการ
ข้อ 10 ในกรณีที่บุคคลอื่นหรือทางราชการจะเรียกชื่อผู้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการ จะใช้ตำแหน่งทางวิชาการตามระเบียบนี้หรือไม่ก็ได้ตามที่เห็นสมควร
เว็บไซต์ ของราชบัณฑิตยสถาน (www.royin.go.th/th/faq/) ได้ตอบคำถามที่ถามบ่อย หัวข้อ การใช้ภาษาไทย เรื่อง การใช้ ดร. นำหน้าชื่อ ไว้ว่า “ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงานสารบรรณ คำแสดงวุฒิการศึกษาไม่ใช่เป็นคำนำหน้านาม หรือนำหน้าชื่อ ทำนองเดียวกันกับคำแสดงวิชาชีพ เช่น นายแพทย์ เภสัชกร ทันตแพทย์ สัตวแพทย์ ฯลฯ จะมิใช้เป็นคำนำหน้านามตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงานสารบรรณได้…คำว่า ดร. เป็นคำแสดงวุฒิการศึกษา ซึ่งตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงานสารบรรณ ไม่ใช้เป็นคำนำหน้านามตามแบบแผนของทางราชการ…”
จากที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่าไม่มีหน่วยงานไหนให้ใช้คำนำหน้าชื่ออย่างเป็นทางการว่า “ดร.” ผู้เขียนมีความเห็นว่า เราทำงานอยู่ในสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาของทางราชการ จึงควรระมัดระวังกับการใช้ถ้อยคำ สำนวน ในเอกสารต่าง ๆ ที่เป็นทางการให้มีความถูกต้องตามระเบียบแบบแผนที่กำหนดไว้ เพื่อเป็นแบบอย่างให้กับผู้ที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงเดียวกับเรา ให้ใช้ได้อย่างถูกต้อง
เข้าใจตรงกันแล้วนะคะ ต่อไปน้อง ๆ อย่าแก้คำนำหน้าชื่อในเอกสารราชการที่ผู้เขียนทำไว้นะคะ
 

3 thoughts on “คำนำหน้านาม "ดร."

  • ขอบคุณจ้า…ที่เล่าสู่กันฟัง ก่อนหน้านี้ซักปีที่แล้ว พี่ปองเคยเอาเรื่องทำนองนี้ให้อ่าน พอวันนี้ได้อ่าน เลยยิ่งเข้าใจมากขึ้น มิน่าละเห็นเลขานุการคณะเภสัชศาสตร์ ไม่ลงว่า ดร.เลย

  • ขอบคุณค่ะ หนูเองก็เพิ่งทราบเหมือนกันนี่แหละค่ะ^^
    ก่อนรู้ก็โง่ไปหนึ่งที T^T

  • กว่าจะได้คำนำหน้าว่า ดร. มาต้องใช้เวลาหลายปี แถมข้ามน้ำข้ามทะเลไปเรียนเพืื่อ คำๆนี
    คำพูดประมาณนี้ ของด็อกเตอร์คนดังระดับชาติ แสดงว่า ท่านประสงค์ใช้ทุกสถานการณ์เพื่อความน่าเชื่อถือ ตัวอย่างเช่น นางกาญจนา (c 9) กับ ดร.กาญจนา (c.4) ใครน่าเชื่อถือกว่า
    การใช้ตามราชการ/ทางการก็ นาย นาง นางสาว ก็ใช้ไป ดร.ทั้งหลายก็คงต้องประนีประนอมไป ไม่ต้องต่อว่า หรือขัดขืน รูปธรรมนามธรรม ทุกคนไม่ว่าใครในโลกนี้กินข้าง/ขนมปัง กินอาหาร น้ำ หรือเครื่องดึ่ม เจ็บป่วย ตายไม่แตกต่างกัน ต่างกันตรง ประเภทอาหาร ราคาอาหาร ราคาเจ็บป่วย ราคาทำงานศพ 555

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร