เทคนิคการเรียนระดับปริญญาเอกให้ประสบความสำเร็จ

การศึกษาเป็นเรื่องสำคัญยิ่งทำให้คนสามารถพัฒนาตนเองหรือเปลี่ยนแปลงตนเองเพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข ซึ่งเป้าหมายการศึกษาของคนส่วนใหญ่มุ่งหวังเพื่อการเปลี่ยนแปลงชีวิตตนเองให้ดีขึ้น เช่น มีเงินเดือนเพิ่มขึ้น มีตำแหน่งงานสูงขึ้น มีโอกาสทำงานที่ชอบและเหมาะสมกับตนเองมากขึ้น
ซึ่งการศึกษาและการเรียนให้ประสบความสำเร็จนั้นจะต้องอาศัยทั้งสติ ปัญญา และการบริหารจัดการเชิงกลยุทธ์ที่ดี มีทีมงานที่เข้มแข็ง ที่สำคัญมีกำลังใจจากคนรอบข้างเป็นแรงสนับสนุนและคอยช่วยเหลือเพื่อให้การศึกษาระดับปริญญาเอกประสบความสำเร็จตามเป้าหมายหรือตามหลักสูตรที่มหาวิทยาลัยกำหนด ซึ่งมีเทคนิคง่าย ๆ ในการศึกษาระดับปริญญาเอก ดังนี้
1. การเตรียมความพร้อมของตนเอง (Readiness of self) คือ การพร้อมที่จะเข้าไปสู่วงจรสังคมการเรียนรู้ในระดับปริญญาเอก เช่น สุขภาพแข็งแรง จิตใจที่เข้มแข็งและอดทน การจัดสรรเวลา งบประมาณ ทีมงาน แรงสนับสนุน (ครอบครัว, เพื่อนๆ, ญาติพี่น้อง) เพราะปัจจัยดังกล่าวเป็นกลไกการขับเคลื่อนสำคัญยิ่งต่อการเรียนให้ประสบความสำเร็จภายใน 2 ปีครึ่ง
2. การเตรียมหัวข้อดุษฎีนิพนธ์ (Preparation of dissertation topic) ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้การเรียนระดับปริญญาเอกจบเร็วหรือช้า ถ้าต้องการเรียนจบเร็วก็ควรเตรียมหัวข้อดุษฎีนิพนธ์ไว้ล่วงหน้าตั้งแต่เริ่มเข้าเรียนซึ่งควรเป็นเรื่องที่เราสนใจและมีความรู้ความเข้าใจเป็นอย่างดีรวมถึงควรเกี่ยวข้องกับหลักสูตรหรือภารกิจหลักขององค์กรนำมาซึ่งการพัฒนางานหรือองค์กร
3. การเลือกอาจารย์ที่ปรึกษาดุษฎีนิพนธ์ (Selection Advisors) ซึ่งก็เป็นผู้มีบทบาทสำคัญที่ทำให้งานดุษฎีมีคุณภาพโดยมีเทคนิคการเลือกอาจารย์ที่ปรึกษา คือ ในขณะเรียน Coursework ควรมองหาอาจารย์ผู้สอนที่มีความรู้ ความชำนาญเกี่ยวกับเรื่องที่เราสนใจ มีแนวคิดไปทางเดียวกันสามารถสื่อสารกันได้อย่างเข้าใจ ด้วยวิธีการสืบหาข้อมูล ประวัติอาจารย์ที่ปรึกษาตามที่เราต้องการจากรุ่นพี่ๆ หรืออ่านผลงานของอาจารย์ที่เราสนใจ
4. การศึกษาเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง (Learning continuously) คือ การนำหัวข้อดุษฎีนิพนธ์ไปปรึกษาอาจารย์อย่างต่อเนื่อง และถ้าหัวข้อที่เราสนใจอาจารย์มีความคิดเห็นว่าสามารถทำดุษฎีนิพนธ์ได้ ในขณะที่เราเรียน Coursework เมื่ออาจารย์สั่งการบ้าน หรือรายงาน ควรทำเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อดุษฎีนิพนธ์ซึ่งจะทำให้เราได้มีโอกาสศึกษาแนวคิดทฤษฎีเพื่อสั่งสมความรู้เอาไว้เตรียมทำดุษฎีนิพนธ์เพื่อเป็นการประหยัดเวลาในการศึกษาแนวคิดทฤษฎีและทำให้งานดุษฎีเสร็จเร็วขึ้น
5. ขณะเรียน Coursework ปีครึ่ง จะเรียนวิชา ระเบียบวิธีวิจัย ซึ่งอาจารย์จะให้นำเสนองานวิจัย 3 บท ผู้เรียนควรจะนำเสนอหัวข้อเดียวกับดุษฎีนิพนธ์ และจดข้อเสนอแนะจากท่านอาจารย์อย่างละเอียดเพื่อนำไปใช้เป็นข้อมูลในการทำดุษฎีนิพนธ์
6. การทำดุษฎีนิพนธ์ ( Dissertation process) เมื่อเรียนจบ Coursework และสอบประมวลผลเสร็จเรียบร้อย ให้รีบติดต่ออาจารย์ที่ปรึกษาและนำเค้าโครงดุษฎีนิพนธ์ไปปรึกษาอีกครั้งและขอขึ้นสอบหัวข้อดุษฎีนิพนธ์ต่อคณะกรรมการสอบ(มหาวิทยาลัยรามคำแหงมีจำนวน 9 ท่าน) เมื่อสอบหัวข้อดุษฎีนิพนธ์ผ่านให้รีบดำเนินการ 3 บทให้เสร็จภายใน 1 เดือนโดยผ่านการปรึกษาและการชี้แนะจากอาจารย์ที่ปรึกษาดุษฎีนิพนธ์อย่างต่อเนื่อง เมื่อเสร็จเรียบร้อยควรรีบขอขึ้นสอบ 3 บท เมื่อสอบผ่านให้รีบแก้ไขภายใน 1 สัปดาห์โดยให้อาจารย์ที่ปรึกษาตรวจและให้ข้อเสนอแนะจนกว่าอาจารย์ที่ปรึกษาจะอนุญาตให้ดำเนินการขั้นตอนต่อไป คือ บทที่ 4-5 ซึ่งควรมีการวางแผนและมีการบริหารจัดการเป็นอย่างดีตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้

สรุป

                การพัฒนาการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองให้มีศักยภาพสูงขึ้นนำมาซึ่งความเจริญก้าวหน้าในอาชีพการงานและการดำรงชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข การศึกษาระดับปริญญาเอก (Doctor of Philosophy: Ph.D.) ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคนหลาย ๆ คนและไม่ใช่เรื่องยากสำหรับคนบางคนที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจอย่างมีเป้าหมาย ซึ่งปัจจัยที่เป็นตัวแปรสำคัญของการศึกษาระดับปริญญาเอกให้ประสบความสำเร็จก่อนเกณฑ์ (2 ปีครึ่งหรือตามเกณฑ์ที่หลักสูตรกำหนด 3 ปี) ประกอบด้วย
(1)ความพร้อมของตนเอง  (สุขภาพ ร่างกาย  จิตใจ สติ ปัญญา กำลังใจ แรงสนับสนุน ความเพียรพยายามและอดทน ความรวดเร็ว)
(2) กลยุทธ์การบริหารจัดการ เช่น  การวางแผน การจัดสรรเวลา งบประมาณ ทีมงานที่มีความทุ่มเทและเข้มแข็ง (อาจารย์ที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญ เจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้อง เพื่อนๆ)
(3) การติดต่อสื่อสารรวดเร็ว เช่น การแก้ไขงาน การติดตามงานจากอาจารย์ที่ปรึกษา การติดตามงานที่คณะวิชา บัณฑิตวิทยาลัย เป็นต้น
ซึ่งจากประสบการณ์ที่ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกมีความประทับใจเป็นอย่างยิ่งในการศึกษาระดับปริญญาเอกที่ต้องการถ่ายทอดสู่กันฟัง คือ การคบบัณฑิต บัณฑิตพาไปหาผล จากการที่ได้ไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอกทำให้มีโอกาสพบกับอาจารย์ที่ปรึกษาดุษฎีนิพนธ์  ผู้เชี่ยวชาญ กรรมการสอบ เจ้าหน้าที่ทั้งที่ในคณะและบัณฑิตวิทยาลัยที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเพื่อนที่เรียนระดับปริญญาเอกด้วยกัน ซึ่งจัดได้ว่าเป็นทีมงานที่มีความทุ่มเทด้วยความจริงใจและตั้งใจในการผลักดันให้ข้าพเจ้าประสบความสำเร็จในการเรียนระดับปริญญาเอกภายใน 2 ปีครึ่ง ซึ่งบุคคลดังกล่าว เป็นคนเก่ง คนดี เป็นปราชญ์ที่มากด้วยปัญญา มีคุณธรรมอันล้ำเลิศ มีจิตใจอันแสนงดงามที่เต็มไปด้วยความจริงใจยิ่งนัก นี้คือประสบการณ์อันมีค่ายิ่งที่ไม่อาจหาซื้อได้ด้วยเงิน ซึ่งเป็นแบบอย่างที่ดีงามสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตของตนเองและครอบครัวได้เป็นอย่างดีเยี่ยม

4 thoughts on “เทคนิคการเรียนระดับปริญญาเอกให้ประสบความสำเร็จ

  • ยินดีด้วยค่ะ วางแผนดีมีความพร้อมก็มีชัยไปกว่าครึ่งแล้ว

  • แล้วงบประมาณในการศึกษาระดับปริญญาเอกเนี่ยสำคัญด้วยหรือเปล่าคะ ต้องมีเท่าไรจึงจะพอในการศึกษาคะ

  • เงินก็เป็นปัจจัยสำคัญที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับปัจจัยด้านอื่นๆแต่ความคิดเห็นส่วนตัวคิดว่าความมุ่งมั่นตั้งใจสำคัญที่สุดค่ะเพราะคืนหนทางสู่ความสำเร็จ ค่าใช้จ่ายตลอดหลักสูตรจ่ายจริงประมาณ เก้าแสนกว่าๆๆค่ะ

  • ปัจจัยที่มีผลต่อการทำดุษฎีนิพนธ์นอกจากดังกลาวข้างต้นแล้ว สำคัญยิ่งคือตนเอง และที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ ความน่าเชื่อถือ/บารมีในภูมิรู้ของผู้ทรงคุณทั้งหลายได้แก่ อาจารย์ที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษา/ชีแนะ ตรวจสอบเครื่องมือ ผู้เชี่ยวชาญท่านหนึ่งเป็นประธาน km ของมหาวิทยาลัย ท่านหนึ่งเป็นประธาน uninet อีกท่านหนึ่งชำนาญเชี่ยวชาญการอ้างอิง การนำเสนอข้อมูล

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร