หนังพามาอ่าน..

ชวนอ่านหนังสือตันเดือนกันยายนนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับกีฬาประจำชาติของเมียนมาร์  เหตุที่หยิบหนังสือเล่มนี้เพราะลูกชายได้ดูรายการ “หนังพาไป” ทาง ThaiPBS (แต่ดูจาก Youtube)  ในรายการเป็นการติดตาม ‘คามิน คมนีย์’  ไปเล่น ‘ชินลง’ ที่เมียนมาร์  พอลูกมาเล่าให้ฟังแล้วเลยดูบ้าง น่าสนใจตั้งแต่ตัวผู้เขียน (ซึ่งตัวดิฉันเอง ไม่รู้จักเลย) ฟังความเป็นมา และจะเป็นไป ของ ‘คามิน คมนีย์’ แล้วต้องทึ่งในความคิด  เมื่อรู้ว่ามีหนังสือที่ คามินเขียนถึงเรื่องราวที่คามินไปตามหาที่เมียนมาร์  ตั้งแต่ยังไม่รู้จัก ไปจนหลงรัก ‘ชินลง’   จากการดูหนังเรื่องนั้นทำให้ต้องหามาอ่าน
ค้นจาก opac มีตัวเล่มอยู่ที่หอสมุดท่าพระ จองออนไลน์เสียเลย พอตัวเล่มมาถึงลูกชายก็เอาไปอ่านก่อน  เอาไปให้อาจารย์ที่โรงเรียนอ่าน อาจารย์ที่โรงเรียนอ่านแล้วก็ด้วยความหวังดี ส่งคืนท่าพระให้ ทำให้ดิฉันต้องขอยืมใหม่อีกหน…
หนังสือเรื่อง  ไปเป็นเจ้าชายในแคว้นศัตรู  เขียนโดย คามิน คมนีย์,    2553    จำนวนหน้า  257  หน้า  เลขเรียกหนังสือ   GV 1017 ต6 ค643 2553  (SUT)
 
             ไม่ต้องพูดเลยกับวิธีการเขียนของคามิน และเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ เพราะรางวัลนายอินทร์อวอร์ด ปี 2553 เป็นประกัน นอก
จากนั้น หากได้อ่านแล้ว รับรองว่า   (คาดว่า!)  มีอิทธิพลต่อความคิด ทัศนคติของคนอ่านแน่นอน
“ไปเป็นเจ้าชายในแคว้นศัตรู” ลองนึกดูตามประสาบรรณารักษ์จะพบว่า Keyword ของชื่อเรื่องมีแค่ ‘เจ้าชาย’ และ ‘ศัตรู’  แค่นี้ก็ดู
จะขัดแย้งกันเสียแล้ว คนไม่ชอบกันจะยกย่องอีกฝ่ายหนึ่งให้เป็นเจ้าชายได้อย่างไร?  ตามมาอ่านด้วยกันซิ…แล้วจะรู้ว่า ทำไม
คามินจึงได้รับการยกย่องว่าเป็นเจ้าชาย จากคนพม่าที่คามิน (หรือคนไทยบางส่วน) คิดว่าเป็นศัตรูู
  คามินเริ่มต้นด้วยการบอกว่า เป็นเพราะความรู้สึกโกรธเคือง ที่ Greg  Hamilton ผู้ซึ่งเคยไปเห็น ‘ชินลง’ ในเมียนมาร์ บรรยายในเว็บไซต์ของตัวเองว่า ‘ชินลง’ เป็นกีฬาที่ใช้ทักษะเท้าที่พิเศษสุดยอด มีความสง่างาม ผสมผสานการแสดงทางศิลปะ อย่างสุดยอดไม่มีที่ใดในโลกและไม่มีชาติใดในโลกที่ใช้เท้าเล่นลูกหวายได้อย่างอลังการ เปี่ยมด้วยศิลปะ งดงามเท่าชาวพม่าอีกแล้ว…คามินบอกว่า  รู้สึกเหมือนถูกตบหน้าฉาดใหญ่ พูดไปพูดมาเลยชักไม่แน่ใจว่า ตัวเองรู้สึกโกรธฝรั่ง หรือโกรธพม่า (แค้นสยาม หน้า 2-5)
คามินจึงเดินทางไปพม่าเพื่อพิสูจน์ความจริง ดั้นด้นค้นหาจนพบ ชินลง แล้วค่อย ๆ ตระหนักว่า ลีลาของชินลงเป็นศิลปะที่งดงามจริง ๆ
“ชินลง” มีท่าพื้นฐาน ชินจี 10 ท่า  ท่าชินและ และท่าคิดเซ็นอย่างละ 10 ท่า ซึ่งคามินเพียรฝึกฝนโดยได้เพื่อนชาวพม่า  (เดิมคิดว่า พม่าจะต้องเป็นศัตรู) ที่เพิ่งได้รู้จักกันในแต่ละสถานที่สอนให้อย่างเต็มใจ ให้กำลังใจ ไม่มีความคลางแคลงใจเลยว่า คนไทยคือศัตรู จนเมื่อคามินกลับมาประเทศไทย อดคิดถึงชินลงและเพื่อนชาวพม่าไม่ได้ จึงกลับไปพม่าทุกปี เพื่อเล่นชินลง เพื่อน ๆ สนับสนุน เสียสละให้คามินเล่นในตำแหน่ง “เจ้าชาย” ซึ่งจริงแล้วคามินว่าตนยังไม่มีฝีมือถึงขนาดนั้น คามินเองก็ซาบซึ้งน้ำใจของเพื่อนชาวพม่า และบรรยายบรรยากาศของการเล่นชินลง ที่ไม่เป็นไปด้วยใจที่มุ่งจะแข่งขันกัน แต่กลับเอื้อเฟื้อ มีน้ำใจ แบ่งปัน ทำให้คามินหลงใหลชินลง และเพื่อนชาวพม่า อย่างหัวปักหัวปำ
” หลักการของการเล่นที่ไม่แก่งแย่งกัน หากเอื้ออารี มีน้ำใจ ทีปรากฏในตะกร้อวง คือ หัวใจของวิถีชีวิตแบบไทย ซึ่งน่าเสียดายหากจะปล่อยให้มันดับสูญไปเสีย” (น.15)  และ “อะไรก็ตามที่มีการล้อมวงกัน มักบ่งบอกถึงการให้ การรับ การแบ่งปัน เป็นความรู้สึกแห่งความสุขเสมอ” (หน้า 134)
จากการแนะนำหนังสือเล่มนี้ให้เพื่อน ๆ อ่านบ้าง เป็นเรื่องของกีฬาประจำชาติของเมียนมาร์ (พม่า นั่นแหละ) แต่ตัวเองไม่ได้สรุปถึงเนื้อหาจริง ๆ เลย เพราะไม่รู้จะสรุปอย่างไร ต้องลองอ่านดูแล้วจะอดไม่ได้ที่จะไปเปิด Youtube  หาการเล่นชินลงมาดู หรือหากอยากจะฟังความคิดของคามิน ให้ดูรายการหนังพาไป ตอน  ไปเป็นเจ้าชาย ในแคว้นศัตรู
ความประทับใจในหนังสือเล่มนี้ คือ เป็นเหมือนหนังสือสารคดีท่องเที่ยว แต่เป็นการท่องเที่ยวตามที่หัวใจเรียกร้อง สิ่งที่คามินเขียน คือความสุข และได้ระบายความสุขนั้นเผื่อแผ่มาถึงผู้อ่าน เราจึงรู้สึกรับรู้ได้ แม้ว่าจะเล่นตะกร้อ หรือชินลงไม่เป็นสักอย่าง ยังอยากเห็น ชินลง สด ๆ สักครั้ง บังเอิญพี่ติ๋ว (นัยนา) เห็นดิฉันขอยืมหนังสือเล่มนี้ จึงเล่าให้ฟังว่า พี่ประสาน แฟนพี่ติ๋ว เล่นเป็น เนื่องจากเคยได้รับการฝึกจากโค้ชชาวพม่าที่มาสอนให้ เลยบอกพี่ติ๋วว่า ถ้าพี่สานไปเล่นที่ไหนให้บอกบ้างเผื่อมีโอกาสจะตามไปดู
(ยังจบไม่ลงซักที) สิ่งที่ได้จากหนังสือเล่มนี้ นอกเหนือจากได้รู้จักกีฬาชินลง ได้รับความสุขจากการอ่าน แล้ว คุณคามิน ยังสอนให้รู้ว่า เพื่อน..ไม่จำเป็นต้องมาในรูปร่างหน้าตาที่พึงใจ หรือที่ตั้งใจไว้เสมอ และทำให้เข้าใจว่า การเดินทางจะช่วยปลดปล่อยความเซ็งเศร้าได้ ยิ่งได้เดินทางไปตามความหลงใหลของตนแล้ว ไม่มีอะไรต้องกลัว หรือเป็นสิ่งกีดขวางได้ เพื่อนในห้องสมุดเราก็มี ที่รักการเดินทางไปตามความหลงใหลและจิตวิญญาณ ถึงขนาดทำ kpi ไม่ทันก็ยังยอม..

One thought on “หนังพามาอ่าน..

  • ล้อมวง (คำไทย) คุยกัน แลกเปลียนเรียนรู้กัน ไม่หวงหรือกีดกันกัน ซึ่งต้องให้ฝรั่งบอกว่า เป็นการจัดการความรู้ หรือKM ไง สำหรับทำ kpi ไม่ทันก็ยังยอม ชักอยากรู้จักว่าเป็นใคร ฝากบอกเขาคนนั้นหรือหลายคนก็ตามว่า อยู่ในองค์กร หากสิ่งที่ทุกคนต้องปฏิบัติเหมือนกัน เพื่อนำพาองค์กรดีขึ้น ก็ควรจะวางแผนจัดการกับชีวิต จัดสรรเวลาทำงาน ทำหลักฐานเพื่อkpi สม่ำเสมอ (หัวหน้าทุกระดับก็เตือน ตรวจสอบตลอดเวลา ทำถึงเกณฑ์ไหนแล้ว) ไม่ใช่เพิ่งทำ 3-5 วันก่อนส่งหัวหน้า แล้วบ่นๆๆๆ เสียงดังด้วยนะ ไม่มีเวลา ไม่ทำkpi ก็คนทั้งองค์กรเขาทำแต่ตัวเสียงดังคน สองคน

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร