ระวังปวดศีรษะเพราะสายตาเปลี่ยน
เมื่อประมาณกลางเดือนมิถุนายน 2556 ลูกชายของผู้เขียนซึ่งเรียนอยู่ชั้น ม.1 มีอาการปวดศีรษะอยู่หลายวัน พอดีคนข้างบ้านเป็นโรคไข้เลือดออก เลยรู้สึกกังวลจึงพาลูกชายไปโรงพยาบาล หลังจากคุณหมอซักถามข้อมูลและตรวจอาการดูสักครู่ก็ให้ไปเจาะเลือดเพื่อตรวจดูอาการเพิ่มเติม แต่ผลเลือดออกมาพบว่าไม่เป็นไข้เลือดออก คุณหมอเลยให้ยามาทานตามอาการคือปวดศีรษะ แล้วบอกว่าหาก 2-3 วันอาการไม่ดีขึ้นให้มาพบแพทย์อีกครั้ง หลังจากทานยาได้ 3-4 วันอาการก็ไม่ดีขึ้น กลับปวดมากกว่าเดิม จนถึงวันที่ 20 มิถุนายน 2556 ลูกปวดศีรษะมากจนเดินเซ เลยพามาโรงพยาบาลอีกครั้งหนึ่ง คุณหมอ(คนละคนกับที่ไปตรวจวันก่อน) ซักถามข้อมูลว่าศีรษะไปกระแทกอะไรมาหรือเปล่า หกล้มมาหรือเปล่า เล่นฟุตบอลมาหรือเปล่า เล่นคอมพิวเตอร์มากหรือเปล่า แล้วก็ตรวจร่างกาย ด้วยการให้ยกแขน ยกขา หมุนตัว หันหน้าซ้าย-ขวา ก้มศีรษะขึ้น-ลง คุณหมอบอกว่าเพื่อดูว่าเป็นโรคทางสมอง เช่น เนื้องอก เส้นเลือดในสมองอุดตันหรือไม่ เมื่อพบว่าไม่น่าจะมีอะไรเกี่ยวข้องกับโรคทางสมองเลยให้นอนดูอาการที่โรงพยาบาล พร้อมกับเจาะเลือดและนำปัสสาวะไปตรวจหาสาเหตุ
หลังจากนอนโรงพยาบาลได้ 1 คืนกับอีกครึ่งวัน ซึ่งคุณหมอก็มาดูอาการอยู่หลายครั้ง พร้อมกับผลเลือดออกมาว่าไม่เป็นไข้เลือดออก ไม่มีการติดเชื้ออะไรในกระแสเลือด ช่วงบ่ายคุณหมอเลยส่งตัวไปพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจอาการทางสายตา ผลออกมาพบว่าสายตาเปลี่ยนไปจากเดิม
ปกติลูกชายมีปัญหาตาแห้ง คุณหมอที่รักษาอยู่จะให้ใช้น้ำตาเทียมหยอดเมื่อมีอาการ และสายตาสั้นด้วย แต่ไม่มากเพิ่งจะไปตรวจสายตาเพิ่มเติมและเปลี่ยนแว่นตาใหม่เมื่อประมาณ 3 เดือนที่แล้ว จึงไม่คิดว่าสายตาจะเปลี่ยนเร็วขนาดนี้
คุณหมอได้ซักถามข้อมูลเพิ่มเติมจากทั้งผู้เขียนและลูก ได้ความว่าไม่น่าจะเกิดจากสาเหตุการใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานานเพราะจะควบคุมการใช้คอมพิวเตอร์ของลูกอยู่แล้ว โดยให้เล่นได้เฉพาะวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ครั้งละประมาณ 1 ชั่วโมงเท่านั้น ยกเว้นมีการบ้านที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ แต่หากย้อนนึกถึงพฤติกรรมของลูกจะพบว่าลูกชอบเล่นของเล่นที่เป็นของเล็ก ๆ วาดการ์ตูนตัวเล็ก และมักไม่ค่อยใส่แว่นตาเป็นประจำ จะใส่ ๆ ถอด ๆ คุณหมอบอกว่านี่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สายตาเปลี่ยนได้ และก็เป็นไปได้อีกว่าทั้งพ่อและแม่มีปัญหาเรื่องสายตาจึงอาจส่งผลมาถึงลูกได้ด้วย คุณหมอจึงอนุญาตให้กลับบ้านได้ หลังจากกลับมาบ้านแล้วและผู้เขียนได้ให้ลูกใส่แว่นตาเป็นประจำ อาการปวดศีรษะก็เริ่มทุเลาลง
จะเห็นได้ว่าปัญหาเรื่องสายตาไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ เราจึงควรเอาใจใส่ดูแลตนเองในการใช้ชีวิตประจำวันเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาทางสายตา เช่น
1. ระมัดระวังในการใช้เครื่องอำนวยความสะดวกและเครื่องใช้สำนักงานที่มีผลต่อดวงตา เช่น คอมพิวเตอร์ แทบเล็ต โทรศัพท์มือถือ เป็นต้น โดยใช้ให้ถูกวิธี และใช้แต่ละครั้งไม่ควรนานเกินไปและควรมีการพักเป็นช่วง ๆ ระหว่างใช้สายตาทำงานดังกล่าวด้วย
2. ป้องกันและระวังเพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุที่ทำให้ศีรษะกระแทกหรือมีอันตรายต่อดวงตา
3. สวมหมวกและแว่นตากันแดดเมื่ออยู่กลางแจ้งหรือเล่นกีฬากลางแจ้งเพื่อป้องกันอันตรายจากรังสีอัลตร้าไวโอเลต (ultraviolet-UV) โดยแว่นตากันแดดต้องเป็นชนิดที่สามารถป้องกันรังสีอัลตร้าไวโอเลตได้ด้วยไม่ใช่แว่นตาแฟชั่นที่ใส่ให้ดูสวยเก๋เพียงอย่างเดียว
4. สวมแว่นป้องกันดวงตาหรือแว่นป้องกันการกระแทกเมื่อต้องทำงานที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุที่ดวงตา เช่น ตัดหญ้า ล้างห้องน้ำ ตอกตะปู เป็นต้น
5. รับประทานอาหารที่บำรุงสายตา ได้แก่ อาหารที่มีวิตะมินซี วิตะมินอี เบตาแคโรทีน สังกะสี ไขมันชนิด Omega-3 และอื่น ๆ อาหารเหล่านี้มักจะมีอยู่ในปลา เช่น ปลาเซลมอน ปลาซาร์ดีน ผักและผลไม้ที่มีสีต่าง ๆ ถั่วเหลือง เป็นต้น
6. ตรวจวัดสายตาอย่างสม่ำเสมอโดยจักษุแพทย์ เลือกแว่นตาสายตาให้เหมาะกับเรา ใส่แว่นสายตาเป็นประจำ
ดวงตาเป็นสิ่งจำเป็น เป็นหนึ่งในประสาทสัมผัสทั้งห้าของเรา ซึ่งประกอบด้วย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ดวงตาทำให้เรามองเห็นสิ่งต่าง ๆ ที่ดูงดงามรอบตัวเรา ได้เห็นสิ่งที่เรารัก ได้เห็นคนที่เรารัก ทำให้เราสามารถทำงานและดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างคล่องตัว เราคงอยากใช้ดวงตาของเรามองเห็นได้ดีไปให้นานที่สุด ดังนั้นการดูแลรักษาและถนอมดวงตาของเราจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก บางครั้งเรื่องเพียงเล็กน้อยอาจส่งผลอย่างใหญ่หลวงต่อดวงตาของเราได้ อย่าลืมเอาใจใส่ดวงตาของคุณด้วยนะ 🙄
บรรณานุกรม
ศูนย์ดวงตาสภากาชาดไทย. ดวงตาน่ารู้[ออนไลน์]. เข้าถึงเมื่อ 8 กรกฎาคม 2556. เข้าถึงได้จาก www.eyebankthai.com/