ชวนอ่านหนังสือ : นครปฐมศึกษาในเอกสารฝรั่งเศส รวมบทความแปล

ได้หนังสือเล่มนี้เป็นของตัวเองจากภาควิชาภาษาฝรั่งเศสส่งมาให้ 1 เล่ม เนื่องจากช่วยอาจารย์ค้นคว้าข้อมูลจากห้องสมุด ได้มาแล้วก็อ่าน เล่าให้ลูกฟัง  จนเมื่อได้มีโอกาสเข้าร่วมอบรมปฏิบัติธรรมฉลองปีพุทธยันตี ของมหาวิทยาลัย ลูกชายไปด้วยและได้พบกับคุณยายท่านหนึ่งซึ่งเป็นคุณแม่ของอาจารย์ที่ไปร่วมปฏิบัติธรรม ลูกชายให้คุณยายเล่าให้ฟังเรื่องเกี่ยวกับการใช้ชีวิตช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้วคุณยายก็อยากฟังเรื่องเกี่ยวกับนครปฐมสมัยโบราณ ดิฉันจึงพอได้ใช้ความจำที่ได้จากการอ่านหนังสือเล่มนี้ไปเล่าให้คุณยายฟัง แต่จำได้เพียงบางส่วน จึงทำให้กลับมาหยิบอ่านอีก แล้วก็เลยเอามาชวนเพื่อนอ่านด้วย
ของห้องสมุดอยู่ที่  DS589 น2 น26  อาจารย์กรรณิกา จรรย์แสง และอาจารย์ Laurent Hennequin เป็นบรรณาธิการ โดยศูนย์ข้อมูลเพื่อการค้นคว้าวิจัยฝรั่งเศส-ไทยศึกษา ภาควิชาภาษาฝรั่งเศส คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ. 2552
ในหนังสือเล่มนี้ ดิฉันอ่านตั้งแต่ บทกล่าวนำที่เขียนโดย ผศ.ดร.มณีปิ่น พรหมสุทธิรักษ์ คณบดีคณะอักษรศาสตร์ แล้วรู้สึกดี ทำให้อยากอ่านต่อไป  อาจารย์มณีปิ่นเขียนว่า
“การที่มหาวิทยาลัยศิลปากรได้มาจัดตั้้งวิทยาเขต ณ พระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐมนี้ เบื้องต้น ศาสตราจารย์ ม.ล.ปิ่น มาลากุล รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการและอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากรในขณะนั้น ได้ให้เหตุผลที่สำคัญในการขอใช้พระราชวังสนามจันทร์แก่คณะรัฐมนตรีว่า ‘ เนื่องจากสถานที่แห่งนี้เคยเป็นพระราชวังของพระมหาธีรราชเจ้า ปราชญ์ทางด้านอักษรศาสตร์และโบราณคดี นอกจากนั้นนครปฐมยังเป็นเมืองเก่าแก่ทางประวัติศาสตร์ เป็นที่ประดิษฐานพระปฐมเจดีย์ และเป็นศูนย์กลางทางวรรณคดีและศิลปวัฒนธรรม จึงเหมาะอย่างยิ่งที่จะเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยศิลปากร’ ด้วยเหตุนี้ คณะอักษรศาสตร์ ซึ่งมีการเรียน การสอนด้านภาษา วรรณคดี และศิลปวัฒนธรรม จึงได้ถือกำเนิดขึ้นมาในสถานที่ที่มีโบราณสถานอันทรงคุณค่าทางด้านประวัติศาสตร์แห่งนี้”
นครปฐมศึกษาในเอกสารฝรั่งเศส  เล่มนี้เป็นการรวบรวมบทความที่แปลจากผลงานที่เกี่ยวข้องกับนครปฐมทางด้านโบราณคดี ของนักสำรวจและนักวิชาการฝรั่งเศส ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 เริ่มต้นด้วย เรื่อง งานศึกษาเรื่องนครปฐมจากเอกสารฝรั่งเศส เขียนโดย โลรองท์ เอนเกง แปลโดย อาจารย์กรรณิกา  จรรย์แสง เนื้อหาเล่าถึงการบันทึกการเดินทางสำรวจของนักสำรวจชาวฝรั่งเศส คนแรกคือ สังฆราช ฌ็อง-บัปติสต์ ปัลเลอกัวซ์  บันทึกไว้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1843 (พ.ศ. 2386) ซึ่งกำลังเดินทางไปดูแลชุมชนชาวคริสต์ทางตะวันตก ผ่านนครปฐม บันทึกความเป็นอยู่ของชุมชนที่ผ่าน ทำให้เห็นภาพความเป็นอยู่ของคนในเขตนครไชยศรี ว่ามีไร่อ้อยอยู่ตลอดสองริมฝั่งน้ำ มีโรงงานน้ำตาลอยู่เรียงราย โบสถ์ของศาสนาคริสต์ในสมัยนั้นสร้างด้วยไม้ไผ่ หลังคามุงจาก  จนวันหนึ่งเดินทางมาถึง เจดียเก่าแก่ที่ถูกทิ้งร้างไว้ และมีคนที่ร่วมมาในขบวนไปหยิบฉวยพระพุทธรูปทำด้วยทองสำริด ทำด้วยเงิน มาประมาณ 20 องค์ พอบาทหลวงเห็นก็ดุเอา และให้โยนทิ้งในแม่น้ำเสีย และบอกว่า สยามมีกฏหมายลงโทษคนขโมยรูปเคารพด้วยการเผาทั้งเป็น  ดิฉันจึงคิดไปว่า ในคลองเจดีย์บูชาลึกลงไปคงมีทรัพย์สมบัติอยู่เยอะแน่ ๆ
เรืองที่สองเป็นเรื่อง มณฑลนครไชยศรี เขียนโดยลูเซียง ฟูรเนอโร แปลโดย  อาจารย์อรพินท์ ชาตรูปะมัย  ยังเป็นเรื่องการพูดถึงการบันทึกของผู้เขียนเกี่ยวกับองค์พระปฐมเจดีย์ มีการกล่าวถึงงานประติมากรรม “ขบวนทัพของพญาพาล” ที่สร้างอยู่ในองค์พระฯ ด้วย ซึ่งในปัจจุบันเราคงไม่เคยได้เห็น และเชิงอรรถส่วนหนึ่งได้อธิบายว่า ในตำนานเก่าแก่ ระบุว่า วัดธรรมศาลาได้เชื่อมต่อกับวัดพระเมรุ ซึ่งอยู่ไกลออกไปหลายกิโลเมตรทางอุโมงค์ใต้ดิน (ตรี อมาตยกุล 2482 หน้า 9) ก็ทำให้อยากตามไปหาเอกสารนั้นอ่านบ้าง ส่วนที่เขากล่าวกันว่าเป็นอุโมงค์ใต้ดินที่วัดธรรมศาลานั้น ก็ได้เคยไปเลียบๆ เคียงๆ ดูอยู่ และอยากรู้จังว่า จะเดินเข้าไปได้จริงมั๊ย?

“ประติมากรรม ขบวนทัพพญาพาล”

เรื่องที่สาม เป็นเรื่องงานโบราณคดีในสยาม พระปฐมเจดีย์ เขียนโดย ลูเนต์ เดอ ลาชงกิแยร์ แปลโดย อาจารย์กรรณิกา จรรย์แสง ในบทนี้กล่าวถึง รายละเอียดส่วนประกอบขององค์พระปฐมเจดีย์
เรื่องที่สี่ เป็นเรื่องตำนานพระพิมพ์ เขียนโดยศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ โดยบอกว่า พระพิมพ์ในราชอาณาจักรสยามแบ่งได้เป็นหลายหมวด คือ  แบบพระปฐม แบบถ้ำแหลายมลายู แบบขอม แบบอยุธยา  และพระเครื่องต่างๆ
เรื่องต่อๆ มา ได้แก่ เรื่องสกุลช่างศิลป์ทวารวดี  เรื่องการค้นพบเหรียญโบราณในสยามกับอาณาจักรทวารวดี การก่อสร้างปฏิสังขรณ์พระปฐมเจดีย์ : ข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับที่ตั้งเมืองนครปฐม
นอกจากนั้น ที่น่าดีใจอีกอย่างคือ งานวิจัยของหนูเล็ก (นฤมล บุญญานิตย์) ของเรา อาจารย์ก็ได้นำไปเป็นข้อมูล และได้มีการขอข้อมูลไปใช้หลายอย่าง  เพราะเท่าที่ทราบหนูเล็กก็ได้ไปเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับองค์พระปฐมเจดีย์มาอย่างหนักหนา สาหัสเหมือนกัน อ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว จึงโยงไปถึงงานวิจัยของหนูเล็กได้อีกเล่ม
ดิฉันจึงขอชวนอ่านหนังสือเล่มนี้โดยละเอียดด้วยตนเอง ซึ่งจะได้ความรู้ที่ไม่เคยได้อ่านจากเอกสารของไทย มีรูปภาพที่แปลกตา หลังจากอ่านหนังสือเล่มนี้ครั้งแรก อ่านเจอเรื่องเกี่ยวกับต้นโพธิ์ต้นแรกขององค์พระ ที่อยู่ด้านวิหารพระนอน ยังได้พาลูกไปดูเลย หลังจากเข้าไปกราบไหว้พระนอนแล้ว ก็ออกมาดูต้นโพธิ์แล้วอธิบายถึง ความเก่าแก่ ความน่าเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาของเรา   เคยได้ยินบางคนกล่าวว่า ก่อนที่เราจะไปเที่ยวดูความเจริญของประเทศบ้านเมืองอื่นๆ เราควรศึกษารากเหง้าของเราเสียก่อน เพื่อสร้างความรักความศรัทธาในชาติ ในตัวตนเป็นปฐม เราเป็นคนนครปฐมได้เรียนรู้ และรู้เรื่องราวเกี่ยวกับจังหวัดนครปฐมของเราเพียงใด นอกจากเรื่องราวขององค์พระปฐมเจดีย์ที่ยิ่งใหญ่ ยังมีโบราณสถานอื่นๆ อีกมาก เช่น วัดพระประโทณเจดีย์ วัดธรรมศาลา วัดพระเมรู หรือแหล่งขุดค้นในโรงเรียนเทคโนโลยีนครปฐม…มีเรื่องมากมายที่น่าศึกษาย้อนอดีตอันยิ่งใหญ่ของเมืองนครไชยศรี

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร