EXIF "ความลับในไฟล์ภาพ"

          เพื่อนๆหลายคน ใช้ Browser อะไรในการท่องเที่ยวไปในโลกอินเตอร์เน็ตครับ Firefox, Internet Explorer หรือ Google Chrome ส่วนผมทุกวันนี้ส่วนใหญ่จะใช้แต่ Firefox ครับ วันนี้มีโปรแกรมเสริมใน Firefox ดีๆ ซึ่งผมจะใช้เป็นประจำ มาฝากเพื่อนๆ คอเดียวกันที่ชอบใช้ Firefox เพื่อไว้ใช้ดูข้อมูลภาพถ่าย EXIF ผ่านทาง Firefox Browser
          EXIF ย่อมาจาก Exchangeable image file format เป็นค่าข้อมูลต่างๆที่ถูกบันทึกอยู่ในไฟล์ของรูปภาพ ที่ถ่ายโดยใช้กล้องดิจิทัล เช่น ถ่ายด้วยกล้องยี่ห้อ/รุ่น อะไร ค่าสปีดชัตเตอร์ ค่ารูรับแสง ค่า ISO White balance ความยาวโฟกัส วันเวลาที่ถ่าย และอื่นๆ
          การจะทำให้ Firefox Browser สามารถดูข้อมูล EXIF จากภาพถ่ายได้จะต้องติดตั้ง Extension (โปรแกรมเสริม) ก่อน โดยคลิกที่ Tools ของ Firefox แล้วกดไปที่ Add-ons แล้วเลือกไปที่ Extensions ผมได้ทำขั้นตอนการติดตั้งแบบง่ายๆมาให้เพื่อนๆได้ทดลองทำดู ไม่ยากครับ สำหรับเพื่อนๆที่ทราบแล้วก็ต้องขออภัยไว้ก่อนนะครับที่มารบกวน…..

 ขั้นตอนการติดตั้งโปรแกรมเสริม FxIF ใน Firefox Browser

          ขั้นตอนที่1. ใช้เมาส์คลิกที่เครื่องหมายดังรูป หรือถ้าไม่ได้ตั้งหน้า Firefox เป็นแบบนี้ก็ให้คลิกที่ Tools แทนครับ

ขั้นตอนที่2. คลิกที่ชุด Add-ons ดังรูป (ต้องขอโทษครับ สงสัยรูปที่ผมทำมาจะเล็กไปหน่อย)

ขั้นตอนที่3. พิมพ์ชี่อ Fxif  ในช่อง Search all add-ons แล้วกด Enter

ขั้นตอนที่4. จะเห็นโปรแกรมเสริม Fxif ให้คลิกที่ Install

ขั้นตอนที่5. เมื่อ Install เสร็จ คลิกที่ Restart now เพื่อให้โปรแกรมเสริม FxIF พร้อมที่จะใช้งาน

ขั้นตอนที่6. เสร็จสิ้นขั้นตอนการติดตั้ง โปรแกรมเสริม Fxif พร้อมใช้งานแล้วครับ

          รูปที่1.  ใช้เมาส์ คลิกขวา ที่รูปจะมีหน้าต่างปรากฎขึ้นมา ใช้เมาส์คลิกที่ FxIF Data (บรรทัดสุดท้าย) ผมขออนุญาตใช้รูปใน blog นำมาเป็นตัวอย่างนะครับถ้ามีอะไรที่เป็นการล่วงเกินเจ้าของรูป ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยนะครับ ขอบคุณครับ

 

          รูปที่2.  เมื่อใช้เมาส์คลิกที่ FxIF Data จะปรากฎหน้าต่างที่แสดงข้อมูลของรูปภาพนั้นขึ้นมา ในข้อมูลที่แสดงก็จะมีค่าการตั้งกล้อง ที่ผู้ถ่ายรูปตั้งเอาไว้ขณะที่ถ่าย ณ เวลานั้น เช่น ยี่ห้อ/รุ่นของกล้อง, วัน/เดือน/ปี/เวลา, ความยาวโฟกัสของเลนส์, รูรับแสง, สปีดชัตเตอร์, ISO, ระบบวัดแสง, white balance, การตั้ค่าสี และอื่นๆอีกขึ้นอยู่กับ option ของกล้อง

          รูปที่3.  โปรแกรมเสริม EXIF ของ Fire Fox มีให้โหลดมาใช้หลายตัวครับ ผมทดลองใช้มาหลายตัวแล้วครับ แต่ชอบตัวนี้ที่สุด(เป็นความเห็นส่วนตัวนะครับ) ส่วนของ Internet Explorer , Google Chrome หรืออื่นๆ ผมไม่ทราบครับว่ามีหรือปล่าว

          รูปที่4.  ข้อมูลของ EXIF น่าเชื่อถือได้มากแค่ไหน ในความคิดของผม คิดว่าเชื่อได้ในระดับนึง ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ยกตัวอย่างเช่น วัน/เดือน/ปี/เวลา EXIF มันก็เอาข้อมูลจากในกล้องมาบันทึกลงไป แล้วถ้ากล้องตัวนั้นตั้งเวลาผิดล่ะ มันเป็นข้อสงสัยของผมเองนะครับอาจจะผิดก็ได้ แต่ที่ผมทราบคือ EXIF สามารถเขียนขึ้นมาจากโปรแกรมอื่นได้ และสามารถเอาออกได้ หรือแสดงให้เห็นบางส่วนก็ได้

          รูปที่5.  ประโยชน์ของ EXIF ก็คือทำให้เราสามารถวิเคราะห์ภาพได้จากข้อมูลที่ถูกบันทึกไว้ อย่างเช่นภาพนี้ทำไมภาพถึงไม่ชัด ดูจากข้อมูลจากรูปสาเหตุที่ทำให้ภาพไม่ชัดก็คือค่าของสปีดชัตเตอร์ต่ำหรือช้าเกินไป ทำให้การจับถือกล้องในการถ่ายภาพให้อยู่นิ่งๆจะทำได้ยากจึงทำให้ภาพไม่ขัด

          รูปที่6.  ภาพนี้ผมชอบมากครับเพราะการวางภาพ ผู้ถ่ายภาพได้วางรูปหน้าลงตรงจุดตัด 9 ช่องพอดี โดยเฉพาะดวงตาโฟกัสได้เป๊ะ… ดูทีไรก็เหมือนกับท่านจ้องมองดูเราอยู่ กล้องทุกตัวไม่ว่าจะเป็นตัวใหญ่ หรือตัวเล็ก ก็สามารถถ่ายภาพให้สวยได้ ขึ้นอยู่กับจังหวะและเวลา….ที่สำคัญเราต้องรู้จักกล้องของตัวเองด้วย…ผมคิดเอาเองนะ…555

          รูปที่7.  “จะเห็นหรือไม่เห็น Exif”  ถ้าภาพไหนที่เจ้าของภาพปิดค่า Exif ไว้ เราก็ไม่สามารถดู Exif ของภาพนั้นได้ สำหรับภาพที่ผ่านกระบวนการ process มาแล้ว จะขึ้นอยู่กับผู้ process ทื่ตั้งใจจะให้ติด Exif มาด้วยหรือไม่ (ภาพนี้ใช้ IPad ถ่าย  ISO 500 ทำไม noise เยอะจัง)

          รูปที่8.  ภาพส่วนใหญ่ที่ผมลงใน Blog  เมื่อย่อภาพเสร็จทำการ Save ก็จะไม่ Save เอาค่า Exif ออกมา  เนื่องจากต้องการให้ภาพมีขนาด File ที่พอดีไม่ใหญ่จนเกินไป ทำให้โหลดเร็วเพราะไฟล์เล็ก และไม่เปลืองเนื้อที่ในการจัดเก็บข้อมูลของ server ด้วย

          รูปที่9.  รูปที่ถ่ายในขณะที่แสงปกติ ให้สังเกตุดูที่ค่าทั้ง 3 คือ  สปีดชัตเตอร์ 1/500 , ค่ารูรับแสง f3.0 , ค่า ISO 80 ทั้ง 3 ค่านี้ (ในกรณีที่เราปรับตั้งไว้ที่โหมด อัตโนมัตของกล้อง) จะเปลี่ยนแปรผันกันเพื่อให้ได้ภาพที่สมบูรณ์ เอแต่กล้องของพี่นี่ค่า f ทำไมมันไม่ยอมเปลี่ยนเลย ดูจากสเปคของกล้องแล้ว ค่า f/3.0 (W) to f/5.8 (T) อ๋อผมเข้าใจแล้วครับกล้องปกติดี แต่ไม่ขออธิบายนะครับ เดี๋ยวจะยาว….555

          รูปที่10.  ภาพนี้ใช้ ISO 6400 สูงมากแต่ยังได้ภาพที่ดี กล้องของผมตั้ง ISO 800 ภาพก็แย่แล้วรับไม่ได้ (อันเนี๊ย…เป็นสาเหตุที่ทำให้ผมอยากได้กล้องใหม่555) ท่านที่ไม่ค่อยจะรู้เรื่องกล้อง อ่านแล้วอาจจะงงว่ามันบ่นอะไรของมัน จะเอากล้องใหม่อยู่.. น๊านนนน….  ผมจะขออธิบายแบบ ดำน้ำ งูงู ปลาปลา ให้ฟังนะครับ… ถ้าเรามองจากภาพที่เห็นแบบไม่ต้องคิดอะไรมาก ก็จะต้องบอกว่าห้องนี้มีแสงสว่างมาก ดูโต๊ะอ่านสิ…แสงยังออกโอเวอร์เลย…  แต่ดูจากข้อมูล Exif ของภาพบอกว่า ใช้ ISO สูงถึง 6400 , ค่ารูรับแสง f/4.0 , สปีดชัตเตอร์ 1/125 มันบ่งบอกว่าภายในห้องนี้มีสภาพแสงน้อย ไม่สามารถถือกล้องถ่ายได้ เนื่องจากสปีดชัตเตอร์ต่ำจะทำให้ภาพไหว ไม่ชัด จึงต้องเพิ่มค่า ISO ให้สูงขึ้น (คือเพิ่มความไวแสงนั่นเอง) ทำให้สปีดชัตเตอร์มีความเร็วมากขึ้นพอที่ผู้ถ่ายภาพจะถือกล้องถ่ายแล้วภาพจะไม่เกิดการไหว เมื่อก่อนใครที่เคยใช้กล้องฟิล์ม จะต้องซื้อม้วนฟิล์มมาใส่กล้องสิ่งที่ผู้ซื้อจะต้องเลือกนอกจากยี่ห้อก็คือ ISO นั่นเอง ร้านขายฟิล์มส่วนใหญ่ก็จะนำมาขายแค่ 3 อย่างที่นิยม คือ ISO100 , ISO200 และ ISO400 นักถ่ายรูปก็จะต้องเลือกซื้อฟิล์มค่าISO ใด ISO หนึ่ง เมื่อนำมาใส่กล้องแล้วเท่ากับว่ากล้องนั้น ตั้งค่า ISO นั้นแล้วตายตัวจนถ่ายหมดม้วน สำหรับยุคนี้กล้องดิจิตอลทำได้หลายอย่างครับ อย่างการตั้งค่าISO สามารถตั้งเปลี่ยนได้รูปต่อรูปเลยครับแถมปรับได้สูงมากอีกด้วย 555

          รูปที่11.  ถึงอย่างไร ISO ก็ยังเป็น ISO อยู่ดี คือยิ่งเราตั้งค่าสูงมากเท่าใดก็ยิ่งมีผลต่อภาพครับ ช่างภาพเขานิยมเรียกกันว่า noise ครับ ยิ่งเราตั้ง ISO สูง โอกาสเกิด noise ก็จะมากตามไปด้วย ยกตัวอย่างจากภาพนี้นะครับ ผมเดาเอานะครับ ว่าผู้ถ่ายภาพถ่ายภาพจากด้านใน(รูป10) พอเดินออกมาด้านนอก ลืมปรับ ISO ลงเพื่อให้ได้ค่าที่สมดุล (สังเกตุจากค่าของสปีดชัตเตอร์ ดูมันเวอร์จนเกินไป) ถ้าไม่คิดมากก็ถือว่าได้ภาพครับ แต่ผลพวงจากการที่เราตั้งค่า ISO สูง มันทำให้ภาพนี้มี noise เกิดขึ้นครับ   “noise เป็นแบบไหนหรือดูอย่างไร”  noise จะเกิดบริเวณส่วนที่มืดครับให้สังเกตุดูที่เบาะรถ ตัวรถสีน้ำเงิน และบริเวณเงาใต้รถ เราจะเห็นเป็นเม็ดจุดเล็กๆเต็มไปหมด ในทางเทคนิค noise เกิดจากตัวเซ็นเซอร์รับภาพและซอฟต์แวร์ของกล้องครับ กล้องแต่ละรุ่นให้คุณภาพของรูปไม่เท่ากัน คุณภาพดีตามราคาเลย..555  ยุคนี้เป็นยุคของกล้องดิจิตอล ของดีแล้วถูกไม่มีในโลก และเทคโนโลยีมันก็พัฒนาไปไม่มีวันที่จะสิ้นสุด หลอกล่อเอาเงินออกจากกระเป๋าของเราไปได้เรื่อยๆ สิ่งที่จะหยุดมันได้ก็คือการใช้เทคโนโลยีให้พอดีกับตัวเรา

          รูปที่12.   สมัยนี้เป็นยุคของโซเชียลเน็ตเวิร์กครับ  “หาคนที่ถ่ายรูปเป็นหาง่าย แต่หาคนที่ถ่ายรูปดีหายาก”  เพราะอะไร……  ก็เพราะว่าการถ่ายรูปสมัยนี้ต้องมีทั้งศิลปะ และความรู้ในการใช้กล้องดิจิตอลที่มีความสลับซับซ้อนของเทคโนโลยี เพื่อที่จะดึงเอาความสามารถของกล้องออกมาใช้ (ถ้าขาดข้อนี้..มีกล้องแพงก็ไร้ค่า)  ผมว่าทำได้ยากนะในบางสถานการณ์สำหรับอารมณ์ในการถ่ายภาพ อย่างเมื่อปลายปีที่ผ่านมาผมไปขึ้นเขาที่ วัดเจติยาคิรีวิหาร(ภูทอก) จังหวัด หนองคาย ผมว่าเป็นสิ่งก่อสร้างที่น่ามหัศจรรย์มาก คือท่านพระอาจารย์จวน ท่านได้สร้างบันไดเวียนวนไปมารอบเขาภูทอก 7 ชั้น ผมชอบมากเลยครับแต่ผมไม่ไปอีกแล้ว ขึ้นเขาเหนื่อยมากๆ… 555 “พึ่งจะรู้ตัวเองว่า ตัวเรานี่นอกจากจะชอบเมารถ แล้วสภาพร่างกายก็ถดถอยไปเยอะ” ขึ้นแค่ชั้น5 ก็ออกอาการแทบจะคานแล้วปวดขามากๆ แล้วจะเอาอารมณ์ศิลป์ที่ไหนมาถ่ายรูป เอาชีวิตให้รอดก่อน….. แต่ผมก็ขึ้นไปถึงนะ  ชั้น 7  ไม่ถึงไม่ได้อายลูกๆ เดินทิ้งเราไปซะไกล ระหว่างเดินก็ถ่ายรูปไปเรื่อย ตั้งใจว่าจะเอารูปสวยๆ กลับมาฝากเพื่อนๆ พอกลับมาถึงบ้านเปิดดูรูปที่ไปถ่ายมา…ดูไม่ได้เรื่องเลย….555…ก็มันเหนื่อย..หนิ….ปวดขาด้วย..

          รูปที่13.  จากรูปถ้าสังเกตุดูจะเห็นว่าแสงด้านใน กับแสงด้านนอกมีความแตกต่างกันมาก แล้วเรามาดูที่ข้อมูลของรูป เราตั้งระบบวัดแสงของกล้องเป็นแบบ Matrix (ก็คือการวัดแสงแบบเฉลี่ยทั้งภาพ) กล้องจะวัดแสงทั้งภาพแล้วคำนวนออกมา โดยไม่ให้มีส่วนใดของภาพ โอเวอร์ หรือ อันเดอร์ จนเกินไป โดยที่มันไม่สนใจว่าคนในรูปจะหน้ามืดหรือไม่

          รูปที่14.  ภาพสุดท้ายไม่รู้ปลาทูของใคร คนถ่ายสงสัยจะหิวภาพเลยไม่ค่อยชัด….555 ก็นี่มันมื้อเย็นแล้ว… นิ….ได้เวลากินแล้ว.

3 thoughts on “EXIF "ความลับในไฟล์ภาพ"

  • ดีมาก ๆ ที่น้องวิรุฬห์มาแบ่งปันความรู้ให้กับเพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ ชาวหอสมุดฯ ของเรา ตอนนี้ก็อยู่ที่แต่ละคนจะรับเอาความรู้นี้ได้กันมากน้อยแค่ไหน พี่เปิดดูแว็บ ๆ ยังไม่ได้ดูละเอียด เดี๋ยวมีเวลาจะศึกษาอีกที

  • เยี่ยมที่สุด! เก็บๆ เรื่องพวกนี้ แล้วรวบรวมขยายความเป็นคู่มือ สร้างเป็นผลงานได้เลยน้อง อย่างนี้น่าจะเป็นผลงานเชิงประจักษ์

  • รูปที่5,6,8,9 ฝีมือพี่นกเอง ภาพไหนที่ออกมาดีถือว่าฟลุคอย่างภาพที่ 6 จุดตัดเก้าช่องคงต้องกลับไปทบทวนใหม่ ขอบคุณสำหรับคำแนะนำในภาพต่างๆ พยายามจะทำความเข้าใจนะแต่ก็ยังงงอยู่ดี น่าจะเปิดอบรมอีกสักรอบนะ

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร