เรื่องของการเขียนภาษาไทยกับลายมือ

25 April 2013
Posted by Ekanong Duangjak

:mrgreen: เห็นชื่อเรื่องอย่าเพิ่งหัวเราะ หรือเห็นเป็นเรื่องขำว่าเขียน blog เรื่องที่ใครเขาก็รู้ เหตุที่ต้องเขียนเรื่องนี้มีสาเหตุคือ เพื่อนสุดที่รักเล่ามาว่าลูกสุดสวาทเขียน ตัว “ผ” กับ ตัว “พ” สลับกัน เราก็งงว่ามันสลับกันอย่างไร มันก็ต่างกันที่ หัวเข้า หัวออก เพื่อนเลยถามว่า เธอสังเกตุไหมว่า อันตัว “ผ” กับ ตัว “พ” นั้น ยอดแหลมตรงกลางนั้นมันไม่เท่ากัน เราก็บอกว่า ใช่ มันไม่เท่ากันมาตั้งนานแล้ว 😯
โดย “ผ” ยอดแหลมมันอยู่ที่ระดับกึ่งกลาง กับ
ตัว “พ”ยอดแหลมมันอยู่ที่ระดับเท่ากับหัวหรือเสมอเส้น
แต่คุณเพื่อนบอกว่า คุณลูกสุดที่รักเขียนเป็น โดย “ผ” ยอดแหลมมันอยู่ที่ระดับเท่ากับหัวหรือเสมอเส้น
กับ ตัว “พ” ยอดแหลมมันอยู่ที่ระดับกึ่งกลาง
เราก็ว่า เอะ! หรือว่า เค้าเข้าใจผิดเรื่อง หัวเข้าหัวออกมากกว่ามั้ง แต่เพื่อนยืนยันว่าไม่ใช่ เด็กน้อยเค้าเข้าใจเรื่องหัวถูก เค้ารู้ว่า   “พ” หัวต้องออก และ “ผ” หัวต้องเข้า 😮 แต่เข้าใจเรื่องยอดแหลมตรงกึ่งกลางผิด 😥
ถ้าพูดถึงเรื่องการเขียนหนังสือก็ต้องควบคู่ไปกับเรื่องของลายมือ โดยส่วนตัวแล้วเป็นคนที่ลายมือค่อนข้างดี เขียนตัวหนังสือชัดเจน (อันนี้ไม่ได้ชมตัวเองเนื่องจากมีหลายคน ลงความเห็นว่าเป็นเช่นนั้น 😉
ซึ่งความดีเรื่องนี้ต้องยกให้ท่านอาจารย์สมัยเรียนมัธยมตอนปลาย ก่อนอื่นต้องบอกว่าสมัยเรียนมัธยมต้นนั้น ตัวเองเป็นคนที่เขียนหนังสือเอียงหรือโย้ไปข้างหน้ามาก เนื่องมาจากว่านั่งเรียนคู่กับเพื่อนที่เขียนหนังสือมือซ้าย ทำให้เขียนหนังสือเอียงไปข้างหน้าอย่างไม่รู้ตัว
พอขึ้นชั้นมัธยมปลายเลือกเรียนสายศิลป์-ภาษา เค้ามีวิชาเลือกเสรีให้เลือกเรียนก็เลยลงเรียนวิชาบัญชี เพราะคิดว่าง่ายๆสบายๆ แต่ที่ไหนได้หาเป็นไปตามนั้นไม่ จำได้ว่าชั่วโมงแรกอาจารย์ให้เขียนแนะนำตัวเองประมาณ 2-3 บรรทัด แล้วก็ส่งกระดาษให้อาจารย์ สักพักอาจารย์ก็ขานชื่อนักเรียนประมาณ 5-6 คน ตัวเองก็ติดโผไปกับเค้าด้วย ก็งงๆว่าทำไม อาจารย์ท่านบอกว่า ชื่อที่ขานมานี้ พวกนี้เป็นเด็กมีปัญหาเรื่องลายมือ เช่นลายมือเขียนไม่ชัดเจนไม่มีหัว หรือพวกเขียนหนังสือเอียง หรือเขียนตัวเล็กเกินเหตุ หรือเขียนเล่นหาง ประมาณนั้น ต้องมีการปรับปรุงลายมือกันเฉพาะกลุ่มที่ถูกขานชื่อ เพราะเนื่องจากการเรียนวิชาบัญชี ลายมือต้องเขียนชัดเจน เขียนตัวตรงไม่เอียง มิฉะนั้นเวลาทำบัญชี คิดตัวเลขก็จะผิดที่ ผิดตำแหน่งได้ ก็เลยเป็นเหตุที่เป็นประโยชน์กับตนเองมาจนทุกวันนี้
พูดถึงลายมือบุคลากรที่ทำงานในห้องสมุดเราหลายคน หลายตำแหน่ง มีลายมือสวยงาม อ่านง่าย เขียนชัดเจน อาจเป็นเพราะสมัยก่อนงานห้องสมุดต้องใช้การเขียนเป็นส่วนใหญ่ เทคโนโลยียังไม่ก้าวหน้ามากมาย มีเพียงคอมพิวเตอร์ 1 เครื่องในห้องสมุด (ประมาณปี 2536)
เรื่องลายมือต้องยกให้ลุงวิเชียร ที่เกษียณอายุไปแล้วเป็นมือวางอันดับหนึ่ง เพราะลุงวิเชียรรับผิดชอบเรื่องการเขียนสันหนังสือ
พี่สำเนาหรือณิชมน เจ้าหน้าที่เคาน์เตอร์ก็เขียนหนังสือด้วยลายมืออันสวยงาม
ส่วนบรรณารักษ์ก็มีหลายท่าน พี่จิตรา พี่สุมณทิพย์ ที่เป็น Cataloger เป็นต้น คงเพราะเนื่องจากสมัยก่อน Cataloger ต้องเขียนบัตรรายการเพื่อส่งให้เจ้าหน้าที่พิมพ์ดีด นำไปพิมพ์เป็นบัตรรายการ หากเขียนแล้วอ่านไม่ออกก็จะโดนเหล่ โดนบ่น 😎
และยังอีกหลายคนที่ไม่ได้เอ่ยชื่อ ต้องขออภัย เรื่องลายมือเป็นเรื่องที่แก้ไขปรับปรุงกันได้ ล่าสุดได้ยินน้องปู-รุ่งทิวา ชมน้องกอลฟ์-ศรัณย์ เรื่องลายมือการเขียนสันว่า เขียนดี ขอชมเชย 😆
ที่จริงแล้วการเขียนเป็นสิ่งจำเป็นทุกสาขาอาชีพ ก็เลยไปค้นคว้าเรื่อง การเขียนตัวอักษรภาษาไทย พบบทความเรื่อง  “หนังสือภาษาไทยสื่อแห่งความงดงามทางวัฒนธรรม สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ” อ้างถึงใน http://www.dek-d.com/board/view.php?id=951249 มาให้อ่านเพื่อรำลึกถึงสมัยเด็กๆ ที่คุณครูท่านได้พร่ำสอนเราเรื่องการคัดลายมือให้กับเราๆท่านๆ อ่านรำลึกถึงความหลังกัน
สรุปได้ว่า อันภาษาไทยที่เป็นวัฒนธรรม และเอกลักษณ์ประจำชาติ ที่ใช้ในการสื่อสาร เพื่อสื่อความหมาย และสร้างความเข้าใจของคนในสังคม อีกทั้งเป็นมรดกทางวัฒนธรรม ที่มีความงดงาม และมีคุณค่าอันสูงยิ่ง เป็นสิ่งสะท้อนที่แสดงให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองของชาติ ภาษาไทยเป็นภาษาที่งดงาม ที่มีความสมบูรณ์ทั้งด้านภาษาพูด และภาษาเขียน สามารถนำเสนอได้ในรูปแบบของร้อยแก้วและร้อยกรอง ในภาษาเขียนที่นิยมใช้ส่วนใหญ่ เป็นลักษณะแบบร้อยแก้ว มีทั้งการเขียนแบบเรียงความ การเขียนบทความ ฯลฯ แต่การเขียนและการออกเสียงภาษาไทยของเยาวชนไทยในปัจจุบัน ได้ผิดเพี้ยนไปจากอักขรวิธีของภาษาไทย และขาดทักษะในการเขียน ภาษาไทยให้ถูกสวยงามตามแบบไทย โดยเฉพาะการเขียนลายมือที่ผิดไปจากหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ (โดนใจเปะๆๆ) 😉
อาจารย์เปลื้อง ณ นคร แบ่งประเภทการเขียนลายมือไว้เป็น 3 แบบ คือ
1. เขียนตัวบรรจง หมายถึง เขียนตัวอักษรเต็มบรรทัด (ขนาดตัวหนังสือสูง 8 มิลลิเมตร หรือ 1 เซนติเมตร เป็นอย่างมาก) จะเริ่มฝึกตั้งแต่นักเรียนเริ่มเรียนหนังสือ ในการการเขียนตัวบรรจง ตัวอักษรต้องตรง เรียบ การวางสระ วรรณยุกต์ ช่องไฟถูกต้อง
2. เขียนหวัดแกมบรรจง หมายถึง เขียนตัวอักษรครึ่งบรรทัดเล็กน้อย เป็นการเขียนตามความถนัด ต้องการความรวดเร็ว แต่ยังต้องเขียนตัวอักษรให้เป็นตัว คือ ตัวอักษรต้องชัดเจน
3. เขียนหวัด หมายถึง การเขียนอย่างรวดเร็ว ไม่ต้องใช้ความประณีตหรือความชัดเจนอะไรนัก
สำหรับรูปแบบของตัวอักษรไทย ที่ใช้กันในปัจจุบัน แบ่งตามลักษณะอักษรได้ 2 ประเภท คือ
1. ประเภทตัวเหลี่ยม มีเส้นตรงเป็นส่วนประกอบได้แก่
– แบบอาลักษณ์ แผนกอาลักษณ์ กองประกาศิต สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
ใช้เป็นแบบคัดของทางราชการ เป็นลายมือไทยที่สวยงามใช้เขียนเพื่อใช้ในงานเกียรติยศต่าง ๆ
 
 
 
 
 
 
 
 
– แบบพระยาผดุงวิทยาเสริม (กำจัด พลางกรู) อยู่ในแบบหัดอ่าน ที่พระยาผดุงวิทยาเสริมเขียนขึ้น คือ แบบหัดอ่านหนังสือไทยภาคต้น แบบหัดอ่าน ก ข ก กา และหนังสือแบบหัดอ่านเบื้องต้น ซึ่งพิมพ์ขึ้นใช้เมื่อ พ.ศ.2471, 2473 และ 2476 ตามลำดับ เพื่อใช้ฝึกเด็กให้เขียน หรือคัดลายมือหลังจากเรียนอ่านพยัญชนะแต่ละครั้ง
 
 
 
 
 
 
– แบบโรงเรียนทุ่งมหาเมฆ คล้ายแบบของพระยาผดุงวิทยาเสริม ซึ่งอาจารย์สูริน สุพรรณรัตน์ อาจารย์ใหญ่ท่านแรกของโรงเรียน ได้นำลายมือของบิดา คือ อาจารย์มงคล สุพรรณรัตน์ เจ้าของและอาจารย์ใหญ่ โรงเรียนสุพมาศพิทยาคม (ตรอกวัดราชนัดดา จ.พระนคร) มาเป็นต้นแบบให้อาจารย์พูนสุข นีลวัฒนานนท์ (ปุณย์สวัสดิ์) จัดทำเป็นแบบคัดลายมือของโรงเรียนตั้งแต่ พ.ศ.2509
 
 
 
 
 
 
– แบบโรงเรียนสายน้ำทิพย์ คล้ายแบบของพระยาผดุงวิทยาเสริม ซึ่งอาจารย์อุไร ศรีธวัช ณ อยุธยา อาจารย์ใหญ่ และอาจารย์สูริน สุพรรณรัตน์ ผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่ ได้ดำริให้ลายมือของครูทุกคนเป็นแบบเดียวกัน และคณะครูของโรงเรียนได้นำลายมือของอาจารย์มงคล สุพรรณรัตน์มาดัดแปลงและทำแบบฝึกคัดลายมือของโรงเรียนตั้งแต่ พ.ศ.2510 และได้ดัดแปลงลักษณะ ของตัวอักษรอีกครั้งหนึ่งเมื่อ พ.ศ.2519
 
 
 
 
 
– แบบภาควิชาประถมศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คล้ายแบบของพระผดุงวิทยาเสริม เกิดขึ้นจากดำริของศาสตราจารย์อำไพ สุจริตกุล หัวหน้าแผนกวิชาประถมศึกษา ที่ต้องการให้มีอักษร ของแผนกวิชาที่ง่ายต่อการฝึกเด็กเขียน และเพื่อใช้เป็นแบบฝึกลายมือของนิสิตทุกคน ของแผนกวิชาที่จะนำไปสอนศิษย์เมื่อจบเป็นครูแล้ว
 
 
 
 
 
 
2. ประเภทตัวกลมหรือตัวมน มีส่วนโค้งเป็นส่วนประกอบได้แก่
– แบบขุนสัมฤทธิ์วรรณการ กระทรวงธรรมการใช้เป็นแบบฝึกหัดลายมือ ของนักเรียนในสมัยก่อน และโรงพิมพ์ต่าง ๆ ใช้เป็นแบบทำสมุดคัดลายมือจำหน่าย
 
 
 
 
 
 
 
 
– แบบกระทรวงศึกษาธิการ กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการได้ดัดแปลงจากตัวอักษรแบบ ขุนสัมฤทธิ์วรรณการ เพื่อทำเป็นแบบฝึกหัดคัดลายมือใช้ในโรงเรียนประถมศึกษาของโรงเรียน รัฐบาลทั่วประเทศตั้งแต่ พ.ศ.2520
 
 
 
 
 
 
 
 
– แบบราชบัณฑิตยสถาน เป็นแบบตัวอักษรตัวกลม ซึ่งราชบัณฑิตยสถานกำหนดขึ้น (ในปี 2540) เพื่อใช้เป็นแนวทาง ในการสร้างตัวอักษรไทยทั้งการเขียน และการพิมพ์รวมทั้งเพื่อประโยชน์ในการออกแบบ ตัวอักษรไทยมาตรฐานที่จะใช้ในกิจการคอมพิวเตอร์

 

 
 
 
 
 
รูปภาพประกอบจาก : ชุติมา ปัชโชติพงษ์. ตัวอักษรไทยปัจจุบัน. http://www.sk.ac.th/lg/thai/thai_default/web3/Data+/%CD%D1%A1%C9%C3%E4%B7%C2%BB%D1%A8%A8%D8%BA%D1%B9.doc

//

One thought on “เรื่องของการเขียนภาษาไทยกับลายมือ

  • คนรุ่นๆ เราบางทีอ่านแล้วจะเฉยๆ แต่เรื่องการเขียนมีปัญหามาสำหรับเด็กรุ่นใหม่ พี่โชคดีที่ดรงเรียนน้องเต็มเข้มงวดกับเรื่องลายมือมาก จากเดิมที่แย่ระดับห่วยมหากาฬ ปัจจุบันเขียนหนังสือได้เรียบร้อยและสวยงาม น่าชื่นชมคุณครูที่เข้มงวด

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร