มาช่วยกันลดการใช้พลังงานกันเถอะ

เมื่อวันที่ 29 มกราคม – 1 กุมภาพันธ์ 2556 ผู้เขียนและผู้ร่วมเดินทางอีก 3 คน ได้เข้าร่วมสัมมนาความร่วมมือระหว่างห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษา ครั้งที่ 29 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง จังหวัดลำปาง และในวันที่ 31 มกราคม 2556 ผู้จัดได้พาไปศึกษาดูงาน ณ โรงไฟฟ้าและเหมืองแม่เมาะ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ท่านผู้บริหารและท่านวิทยากรของโรงไฟฟ้าแม่เมาะได้บรรยายว่า เมื่อ พ.ศ. 2470 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้ทรงมีพระบรมราชโองการให้สงวนแหล่งถ่านหินที่มีอยู่ในประเทศไว้ เพื่อให้ทางราชการเท่านั้นเป็นผู้ดำเนินการ และห้ามให้ประทานบัตรการทำเหมืองแก่เอกชน ทำให้ประเทศไทยยังคงมีถ่านหินใช้อยู่ถึงปัจจุบัน 


โรงไฟฟ้าแม่เมาะเป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนที่ใช้ถ่านลิกไนต์เป็นเชื้อเพลิง ด้วยการแปรสภาพพลังงานสะสมของถ่านลิกไนต์ให้เป็นพลังงานไฟฟ้า โดยใช้น้ำเป็นตัวกลาง มีกระบวนการแปรสภาพพลังงานโดยเปลี่ยนพลังงานสะสมในถ่านลิกไนต์ให้เป็นพลังงานความร้อน พลังงานความร้อนจะถูกส่งผ่านไปให้กับน้ำทำให้น้ำกลายเป็นไอน้ำ เปลี่ยนพลังงานความร้อนของไอน้ำให้เป็นพลังงานกลโดยไปหมุนกังหันไอน้ำ และเปลี่ยนพลังงานกลเป็นพลังงานไฟฟ้าโดยให้กังหันไอน้ำไปหมุุนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเป็นขั้นตอนสุดท้าย ไฟฟ้าที่ผลิตในเหมืองแม่เมาะจะถูกส่งไปให้บริการในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย 

แบบจำลองการขุดถ่านหิน

การผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยถ่านหินลิกไนต์จะมีราคาการผลิตถูกกว่าการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยวิธีอื่น ๆ ทำให้เราใช้ไฟฟ้าได้ในราคาที่ไม่แพงนัก แต่ในกระบวนการผลิตก็มีผลกระทบต่อชุมชนโดยรอบ ทำให้โรงไฟฟ้าแม่เมาะต้องทำ CSR (Corporate Social Responsibility) หรือความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมขององค์กร ด้วยการปรับปรุงแก้ไขในขั้นตอนการผลิตที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนโดยรอบอยู่เสมอ สร้างบรรยากาศและภูมิทัศน์ภายในเหมืองให้มีสภาพแวดล้อมที่สวยงาม ร่มรื่น เป็นที่พักผ่อนของคนในเหมือง ชุมชนโดยรอบ และนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเยื่ยมชมหรือเข้ามาพักผ่อน และยังเข้าไปช่วยเหลือชุมชนโดยรอบให้อยู่ดีกินดีอีกด้วย 

บรรยากาศในเหมืองแม่เมาะ (1)

บรรยากาศในเหมืองแม่เมาะ (2)

ปัจจุบันน้ำมันและถ่านหินซึ่งเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลมีปริมาณลดลง ทำให้หน่วยงานต่าง ๆ และภาคเอกชนพยายามหาพลังงานทดแทนมาผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าและใช้เป็นพลังงานในรูปแบบอื่น เช่น พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานความร้อนจากใต้พิภพ พลังงานน้ำขึ้นน้ำลง พลังงานคลื่น พลังงานจากระบวนการชีวภาพ เป็นต้น เพื่อให้พลังงานมีใช้อย่างเพียงพอและใช้ได้ในระยะยาว

จะเห็นได้ว่าผู้ผลิตพยายามทุกวิธีที่จะหาพลังงานมาให้เราซึ่งเป็นผู้บริโภคได้ใช้กันอย่างทั่วถึงและเพียงพอ เรา…ซึ่งเป็นผู้บริโภคคงต้องตระหนักได้แล้วว่า จะช่วยกันใช้พลังงานเหล่านั้นให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้อย่างไร วิธีง่าย ๆ ซึ่งไม่เดือดร้อนอะไรมากนักคือ การประหยัดการใช้พลังงาน ใช้ให้คุ้มค่า ซึ่งมีหน่วยงานหลายหน่วยงานได้รณรงค์ในเรื่องนี้อยู่ เช่น ใช้เสร็จให้ปิดไฟ เปิดไฟเมื่อใช้งาน ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีฉลากเบอร์ 5 ใช้หลอดไฟฟ้าแบบประหยัดพลังงาน เปิดเครื่องปรับอากาศที่อุณหภูมิ 25 องศา ใส่เสื้อผ้าที่เหมาะสมกับอุณหภูมิของบ้านเรา เป็นต้น

หากเราไม่ช่วยการลดการใช้พลังงานและยังเพิ่มการใช้พลังงานอยู่ อีกไม่นานโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าที่มีอยู่จะมีกำลังการผลิตที่ไม่เพียงพอกับการใช้งาน หน่วยงานต่าง ๆ ก็ต้องสร้างโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ซึ่งแน่นอน…ผลกระทบก็จะเกิดกับชุมชนโดยรอบโรงไฟฟ้า หากเราไม่ต้องการให้โรงผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์มาตั้งใกล้ ๆ บ้านเรา ก็ต้องช่วยกันลดการใช้พลังงานได้แล้วนะคะ 😆




Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร