"ได้ยิน แต่ไม่รับฟัง"

เป็นปรากฏการณ์การรักษาทางการแพทย์ที่ดิฉันได้รับจากประสบการณ์ตรงจากการที่ดิฉันเป็นคนไข้ผู้หนึ่งที่ไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลมีชื่อแห่งหนึ่ง ซึ่งอาการในระยะแรกที่เป็น คือ จะเจ็บปวดและเสียวบริเวณหัวเข่า ในขณะที่นั่งนานๆ พอมีการเคลื่อนไหวร่างกายก็พบว่า ขา/เข่า ไม่มีแรง/อ่อนแรง นั่งยองๆไม่ได้ งอเข่าไม่ได้ จึงได้ไปคุณหมอท่านหนึ่ง โดยได้รับการแนะนำจากเพื่อนว่าคุณหมอท่านนี้มีฝีมือและความเชี่ยวชาญฯ
เมื่อได้พบคุณหมอท่านนี้ ท่านก็สอบถามรายละเอียดว่ามีอาการอย่างไร สาเหตุเกิดจากอะไรในขั้นต้น ดิฉันได้พยายามจะเล่าอย่างละเอียดว่าเกิดอะไรขึ้นกับอุบัติเหตุบริเวณหัวเข่าก่อนหน้าที่จะมีการเจ็บเข่า แต่เหมือนว่าคุณหมอก็ฟัง แต่พยายามบอกว่าไม่ใช่/ไม่เกี่ยวกัน และคงไม่ได้ใช้เป็นเหตุผลประกอบ ไม่มีการเอ็กซเรย์ หรือการตรวจผลทางเทคนิคการแพทย์แต่อย่างใดในการรักษา และได้วินิจฉัยว่า ดิฉันเป็น “ข้อเข่าเสื่อม”
ดิฉันพยายามให้เหตุผลโต้แย้งเพิ่มเติมว่าเกี่ยวข้องกับที่เราโดนกรรไกรทิ่มมาหรือไม่ แต่ก็ไม่สำเร็จ เนื่องจากคุณหมอให้เหตุผลจนดิฉันก็คล้อยตาม คือ เข่าเสื่อมไม่จำเป็นต้องอายุมาก เป็นได้ตั้งแต่ทารกหากไม่ได้รับสารอาหารอย่่างเพียงพอหรือไม่ได้ทานนมแม่ และขึ้นอยู่กับการใช้งานข้อเข่า ซึ่งถ้าหากมีการใช้งานมากหรือเป็นนักกีฬาก็อาจจะเสื่อมก่อนวัยได้ วิธีการรักษาคุณหมอไม่แนะนำให้ทานยาปฏิชีวนะ เน้นรักษาด้วยการออกกำลังกาย และให้ทานแคลเซียมร่วมกับวิตามินดีเพื่อเป็นการกระตุ้นให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียมได้ดีขึ้น
ดิฉันไปตามนัดของแพทย์กี่ครั้งก็จะได้แต่แคลเซียมกับวิตามินดีมาทานทุกครั้ง การรักษาไม่คืบหน้า ตลอดระยะเวลา 1 ปีกว่าๆ อาการก็ไม่ทุเลาลง จนกระทั่งวันหนึ่งเข่าของดิฉันมีอาการเจ็บปวดเป็นอย่างรุนแรงจนเกือบเดินไม่ได้ และมีอาการเสียวบริเวณเส้นด้านหลังหัวเข่า ดิฉันจึงตัดสินใจเปลี่ยนคุณหมอเพื่อทำการรักษา ในการรักษาของคุณหมอท่านใหม่ คุณหมอได้เจาะน้ำในข้อเข่าเพื่อดูสีของน้ำฯ และให้ทำการเอ็กซเรย์ฯ คุณหมอสอบถามว่าใครบอกว่าคุณเป็นข้อเข่าเสื่อม คุณหมอได้บอกผลการตรวจกับดิฉันว่า “คุณไม่ได้เป็นข้อเข่าเสื่อมอย่างแน่นอน” และให้ดูฟิลม์กระดูกข้อของดิฉัน พร้อมกับอธิบายโดยละเอียดว่า หากเข่าเสื่อมข้อกระดูกจะมีลักษณะอย่างไร คุณหมอยืนยันว่าข้อกระดูกของดิฉันยังสวยงาม ไม่สึกหรอแต่อย่างใด จึงทำให้ดิฉันทราบว่าตนเองไม่ได้เป็นข้อเข่าเสื่อมตามคำวินิจฉัยของคุณหมอท่านแรก แต่กลับเป็นมากกว่านั้นก็คือ หากไม่ใช่การติดเชื้อฯ ก็อาจจะเป็นการอักเสบของข้อเข่า เนื่องจากการที่มีเศษวัสดุฯจากการที่ตกลงบ่อโคลนคงค้างอยู่บริเวณหลอดเลือดที่หัวเข่าส่งผลให้หลอดเลือดบริเวณนั้นไหลเวียนไม่สะดวกจนเกิดอาการอักเสบก็เป็นได้ แต่ทั้งนี้ จะต้องทำการเจาะน้ำที่ข้อไปตรวจพร้อมทั้งทำการ MRI หลอดเลือดบริเวณหัวเข่า จึงจะทราบสาเหตุที่แน่ชัดกว่านี้ และคุณหมอได้แจ้งว่าโรงพยาบาลที่จะมีการทำ MRI ได้จะต้องเป็นโรงพยาบาลรัฐบาล/โรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ ดิฉันรู้สึกตกใจว่า แล้วที่ดิฉันรักษาตัวกับคุณหมอท่านแรกมาเป็นระยะเวลาปีกว่าแล้วนั้น กลับเป็นการรักษาที่ไม่ถูกทางหรือ?
ดิฉันจึงตัดสินใจไปพบคุณหมอท่านใหม่ ณ โรงพยาบาลที่มีการทำ MRI อีกครั้ง เพื่อต้องการทราบว่าตนเองป่วยเป็นโรคอะไรกันแน่ และคุณหมอท่านที่สามก็ยืนยันว่าติดเชื้อ และได้รักษาโดยการทานยาฆ่าเชื้อมาตลอดระยะเวลาเกือบ 1 ปี ด้วยเหตุนี้ จึงได้ย้อนคิดไปว่า หากวันนั้น “เราไม่ได้ตัดสินใจเปลี่ยนคุณหมอ แล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับเข่าเราในวันนี้” และไม่เข้าใจว่าทำไมคุณหมอมักจะไม่ค่อยฟังคนไข้ในเวลาที่คนไข้อยากจะอธิบายสาเหตุและอาการเจ็บป่วยของตนเองให้คุณหมอฟัง ตามที่คุณหมอได้สอบถาม จนบางครั้งทำให้การตั้งสมมติฐานในการรักษาผิดเพี้ยนหรือไม่ตรงกับอาการของคนไข้  ดิฉันรู้สึกขัดข้องใจจึงได้ไปหาข้อมูล/บทความเกี่ยวกับการที่ คุณหมอเหมือนได้ยิน… แต่ไม่รับฟังคนไข้… ในปัจจุบัน จึงได้ความกระจ่างดังนี้
สาเหตุที่แพทย์พยาบาล ได้ยิน แต่ไม่ได้ฟังได้แก่
สาเหตุจากตนเอง เป็นจากนิสัยส่วนตัว เช่น ขี้หงุดหงิด ไม่มั่นใจในตนเอง กลัวความผิดหรือความผิดพลาด เป็นคนชอบพูด ไม่ชอบฟัง เชื่อมั่น ในตนเองสูง ไม่เคารพความคิดหรือความแตกต่างของผู้อื่น
สาเหตุจากครอบครัว เช่น เศรษฐฐานะดี การศึกษา ความเชื่อ เจตคติ การให้คุณค่า วัฒนธรรมประเพณี ประสบการณ์ในครอบครัว
สาเหตุจากระบบการเรียน กระบวนการเรียนสายวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งเน้นความรู้เรื่องเทคโนโลยีการแพทย์และความรู้ด้านโรคที่ลงลึก จนดูเสมือนว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการเรียน จึงมุ่งเน้นที่การรักษาโรคมากกว่าคน
สาเหตุจากระบบการทำงาน ระบบการกระจายแพทย์พยาบาลไม่พอเพียงและยังไม่เท่าเทียมกันทั่วประเทศ ทำให้งานหนักและไม่มีเวลาพูดคุยกับผู้ป่วยแต่ละคนได้อย่างละเอียด เมื่อเหนื่อยก็หงุดหงิดและไม่อยากจะฟัง
ผลข้างเคียงของ “ได้ยิน แต่ไม่ได้ฟัง”1
แพทย์พยาบาล : หงุดหงิดง่าย พลอย โกรธเกลียดผู้ป่วยที่ไม่เชื่อฟังรายอื่นๆไปด้วย สูญเสียความมั่นใจในตนเอง ไม่พึงพอใจในวิชาชีพ ไม่ใส่ใจจะฟังใคร เพราะ เหนื่อย เบื่อ เซ็ง ทำให้บริการแบบตะคอก ดุด่า เครียดเรื้อรัง หากทนไม่ได้ก็ลาออก ติดสุราเรื้อรัง ติดยาคลายเครียด
ผู้ป่วย : ไม่พึงพอใจในบริการ ฟ้องร้องหรือร้องเรียนเพิ่มขึ้น ได้รับการดูแลที่ไม่เหมาะสมหรือไม่มีคุณภาพ เพราะแพทย์พยาบาลหงุดหงิด
ระบบบริการสาธารณสุข : มีความขัดแย้งระหว่างผู้รักษาและผู้ป่วยเพิ่มขึ้น เพิ่มอคติและบรรยากาศไม่เป็นมิตรในการรักษาพยาบาล รักษาไม่หายในเวลาอันเหมาะสม ทำให้ผู้ป่วยต้องกลับมาใช้บริการ บ่อยครั้งเกินจำเป็น ระบบสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล
ทำอย่างไรให้ “ฟัง” เป็น
► เตือนตนเองว่า คนไข้ไม่ได้มาหาแพทย์เพราะโรค แต่มาเพราะความคิด คนไข้เท่านั้นที่รู้ว่าตนเอง คิดอะไรจึงมาหาแพทย์ ต้องฟังจึงจะรู้
► ลบ อคติ ในใจที่ว่า “การฟังทำให้เสียเวลา” แต่ตรงกันข้าม คือ “ฟังเป็น จะทำให้ประหยัดเวลา”
► ต้องตั้งใจฟังตั้งแต่ครั้งแรก จะได้ไม่หลงรักษาผิดทาง ไม่ควรรักษาโรคไปก่อน แล้วเลื่อนการฟังไปไว้ภายหลังเมื่อมีเวลาพอเพียง ซึ่งจะไม่มีวันนั้นเสียที
► หัดฟังเพื่อ “ทำความรู้จัก” เพื่อนมนุษย์ที่อยู่ตรงหน้า ไม่ใช่เพื่อการ “ซัก” ประวัติ
► เน้นการฟังที่ “เรื่องราว” จนเห็นภาพฉากชีวิต แทนการฟังที่ “วินิจฉัยแยกโรค”
► ฟัง “ไห้ได้อรรถรส” ชื่นชมในความเข้มแข็งของผู้ป่วยที่ผ่านอุปสรรคชีวิตมาได้
► ฟังให้ได้ทั้ง ข้อเท็จจริง (Fact) ความคิดอ่าน (Idea) และ อารมณ์ความรู้สึก (Feeling) ของผู้พูด
► มีสมาธิกับการฟัง จะช่วยให้จำและเข้าใจ เรื่องราวได้ดี คนไข้ก็จะรู้สึกดีที่พูดแล้วมีคนฟัง
► มีสติเมื่อรู้สึกว่ากำลังหงุดหงิดโมโหคนไข้ ให้รู้เท่าทันความคิดตนเองว่าโมโหทำไมและเรื่องอะไร เราต้องการอะไรจากคนไข้ เช่น เราต้องการให้เขารู้ว่าเราหวังดีต่อเขา หรือเราต้องการความสำเร็จในการทำงาน ทำให้เรามั่นใจและภูมิใจในตนเองเพิ่มขึ้น ถ้าเช่นนั้นเรามีวิธีเพิ่มความภูมิใจในตนเองด้วยวิธีอื่นอีกหรือไม่ หรือความภูมิใจของเราขึ้นอยู่กับการกระทำของคนไข้เท่านั้น
ขอบคุณที่มาของข้อมูล  http://www.doctor.or.th/clinic/detail/7455   22 ธันวาคม 2555 เวลา 20.25 น.
หากคุณหมอเปิดใจรับฟังปัญหาของคนไข้มากขึ้นซักนิด อาจเป็นการแก้ปัญหาได้ถูกจุดเร็วขึ้น นอกจากจะแก้ปัญหาความเจ็บป่วยทางร่างกายแล้วยังแก้ปัญหาความเจ็บป่วยทางด้านจิตใจ เป็นการลดช่องว่างระหว่างคุณหมอกับคนไข้ได้อีกทางหนึ่งด้วย ทำให้คนไข้มีขวัญและกำลังใจในการมาพบแพทย์เพื่อทำการรักษาในครั้งต่อๆไป
จวบจนปัจจุบันดิฉันได้พบคุณหมอท่านที่ 5 ดิฉันรู้สึกว่าได้พบกับคุณหมอ “เทวดา”  แล้ว ซึ่งเป็นคุณหมอที่ให้ความสำคัญและรับฟังข้อมูลจากคนไข้เป็นอย่างมาก ในการพบคุณหมอท่านนี้จะมีการสนทนาถึงสาเหตุและแนวโน้มตลอดจนวิธีในการรักษาแต่ละครั้งไม่ต่ำกว่า 30 นาที การรักษาคืบหน้าไปด้วยดี และระหว่างรอผลการตรวจที่ต้องใช้ระยะเวลานาน คุณหมอไม่รอช้า ส่งต่อคุณหมอท่านอื่นทันทีที่เห็นว่าดิฉันมีแนวโน้มจะเป็นโรคอื่นๆได้อีก ใส่ใจทุกรายละเอียดหากไม่จำเป็นก็ไม่อยากให้คนไข้เจ็บตัว แต่หากจำเป็นก็จะต้องยอมเจ็บตัวเพื่อตรวจหาเชื้อโรคในขั้นสูงต่อไป หากไม่จำเป็นก็ไม่อยากให้คนไข้ต้องเสียเงินเสียทองกับการตรวจวิธีพิเศษต่างๆที่มีค่าใช้จ่ายสูงๆ หากการตรวจนั้นไม่ได้ช่วยอะไร ถึงแม้ว่าคนไข้รายนั้นๆจะเบิกค่าใช้จ่ายฯได้ก็ตาม คุณหมอชี้ให้เห็นว่าเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณของรัฐบาลและเป็นการไปกันที่ของผู้ป่วยอาการหนัก เป็นต้น
 

4 thoughts on “"ได้ยิน แต่ไม่รับฟัง"

  • ดีใจด้วยค่ะน้องหนิงที่พบคุณหมอเทวดาแล้ว ขอให้รักษาหายไวๆ นะ
    อาการที่ได้ยินแต่ไม่รับฟัง พบเจอประจำ เช่นเมื่อครั้งพาป้านพรัตน์ไปหาหมอก็แสดงอาการแบบนี้ละทำท่ารำคาญคนไข้จนเรื่องราวมันเลยเถิดรักษาเรื่อยไปจนแย่

  • “ได้ยิน แต่ไม่รับฟัง” อาการแบบนี้ไม่ได้เกิดกับหมออย่างเดียวหรอก คนในสังคมรอบตัวเราก็เป็นกันเยอะ ใครพูดอะไรก็ไม่ฟัง เข้าหูแต่ไม่เข้าสมอง เพราะมีคำตอบของตัวเองอยู่ในใจทุกเรื่องอยู่แล้ว พูดให้ตายก็ไม่เกิดประโยชน์

  • หากจำเรื่องข้างต้นไม่ได้ขอแนะนำ Print เก็บไว้ และหรือแจกจ่ายญาติพี่น้อง และหรือนำเสนอผู้เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นข้อคิดข้อพึงระมัดระวังสำหรับทั้งคนไข้ และหมอหรือแพทย์
    พวกเราหรือคนไทยเกือบทุกคน ย่อมเชื่อถือหมอผู้รับผิดชอบโรคนั้นโดยตรง อีกทั้งเกรงใจไม่กล้าเปลี่ยนหมอ เกรงว่าหากกลับมาหาอีก จะไม่ได้รับการรักษาต่อ แถมโดนดุอีกว่า “ก็ให้หมอคนนั้นตรวจแล้วทำไมไม่ให้ตรวจเลยล่ะ กลับมาทำไมอีก ” จริงไหม พี่แมวขอตอบว่าจริงยิ่งกว่าจริง แต่ชีวิตคนนะ ต้องแสวงหาเพื่อให้มีชีวิตอยู่อย่างยืนยาวต่อไป อย่างไรก็ตามคนทุกอาชีพเหมือนกันหมด (ลักษณะที่แจ้งข้างต้น) สำหรับหมอผู้ให้บริการและ ผู้ให้ชีวิตใหม่แก่คน พี่ว่าหมอที่มีเมตตา มีคุณธรรมก็มีมากมาย กรมดีของหนิงจึงพานพบหมอดี หมอคนแรกก็ใช่ว่าไม่ดีนะ ก็ได้ยามากินพร้อมแคลเซียมไง หายไม่หายก็ไปใหม่ ฮ่าฮ่า

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร