ความสัมพันธ์ระหว่างสมอง สองมือ และ…หัวใจ

เมื่อเดือนก่อนได้เรียนหลักสูตร ก.พ. ออนไลน์ เรื่อง การสร้างแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ในการทำงาน ในหลักสูตรดังกล่าวได้ให้ความหมายของแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ ว่าหมายถึง ความปรารถนาที่จะกระทำสิ่งใดให้สำเร็จตามเป้าหมาย โดยพยายามแข่งขันกับมาตรฐานขั้นที่ดีเลิศ พยายามปรับปรุงการทำงานโดยเน้นผลลัพธ์ ผู้กระทำจะรู้สึกสบายใจเมื่อประสบผลสำเร็จ และมีความรู้สึกเสียใจ แสดงความรับผิดชอบเมื่องานล้มเหลว ผู้มีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์สูงจะตั้งใจทำงานเพื่อให้ผลงานมีคุณภาพสูงตามไปด้วย กล่าวคือ สำเร็จอย่างรวดเร็ว มีประโยชน์มาก นำไปใช้ประโยชน์ได้ในระยะยาว ลักษณะของแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการมีวินัยในตัวเอง การรักษาเวลา การรับผิดชอบ เรียกได้ว่า เป็นผู้ที่ทำงานเพื่องาน นอกจากนั้น ผู้ที่มีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์สูงจะเห็นรางวัลในการทำงานคือ ความเชื่อในความสำเร็จอย่างดีของตน มากกว่าที่จะเห็นความสำคัญจากแรงจูงใจหรือรางวัลภายนอก เป็นผู้ทำงานที่เห็นความสำเร็จเป็นหลัก ผลประโยชน์อื่น ๆ เป็นรอง ซึ่งในหลักสูตรดังกล่าวยังได้กล่าวถึงค่านิยมในการทำงาน ค่านิยมในชีวิต และการวางแผนซึ่งสามารถนำไปใช้ในการทำงานและการดำเนินชีวิตได้
ผู้เขียนคิดว่าคนเราจะประสบความสำเร็จในชีวิตทั้งด้านอาชีพการงานและเรื่องส่วนตัวได้นั้น นอกจากจะมีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์แล้ว จะต้องกระทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยสมอง สองมือของเรา และต้องมีหัวใจหรือการเอาใจใส่ในเรื่องนั้น ๆ ด้วย ทั้งสมอง สองมือ และหัวใจจะต้องมีความสัมพันธ์กันจึงจะประสบความสำเร็จ ซึ่ง
สมอง คือ อวัยวะสำคัญในสัตว์หลายชนิดตามลักษณะทางกายวิภาค มีหน้าที่ควบคุมและสั่งการการเคลื่อนไหว พฤติกรรม และรักษาสมดุลในร่างกาย และยังทำหน้าที่เกี่ยวกับการรู้ อารมณ์ ความจำ การเรียนรู้ การเคลื่อนไหว และความสามารถอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการเรียนรู้ (ที่มา : th.wikipedia.org/wiki) ความคิด เป็นการทำงานของสมองตามหลักธรรมชาติ ทุกขณะของมนุษย์ต้องอาศัยกลไกของความคิด เป็นจุดเริ่มต้นในการเคลื่อนไหว เปลี่ยนความรู้สึกเป็นการกระทำอยู่ตลอดเวลา มนุษย์มีความสามารถในการคิดต่างกัน บางคนมีความคิดที่แตกต่างจนสามารถพัฒนาผลงานที่เป็นเลิศเหนือผู้อื่น แต่บางคนกลับไม่สามารถคิดหาทางออกหรือแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้ ความแตกต่างนี้เกิดขึ้นจากการพัฒนากระบวนการคิดของแต่ละคนที่ฝึกการใช้สมองให้คิดบ่อย ๆ คิดในสิ่งที่ยากและท้าทายอยู่เสมอ สมองก็จะพัฒนาให้มีศักยภาพสูง สามารถส่งความคิดให้เกิดผลได้ดี เร็วและแม่นยำ (ที่มา : เทียนประพันธ์ พันธลิขิต.  คิดต่างอย่างคนฉลาด! แนวคิดของนักคิดนำทางสู่ความสำเร็จ.)
 มือ คือ อวัยวะส่วนหนึ่งของร่างกายอยู่ต่อแขน สำหรับจับ หยิบสิ่งของต่าง ๆ (ที่มา : th.wikipedia.org/wiki)
หัวใจ เป็นอวัยวะสำหรับการสูบฉีดเลือดไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย (ที่มา : th.wikipedia.org/wiki)

มนุษย์ต้องใช้มือในการหยิบ จับ สัมผัส  และใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานเพื่อให้เกิดเป็นผลงานขึ้นมา ซึ่งต้องอาศัยการฝึกฝนตั้งแต่เด็ก ๆ เรื่อยมา จนเกิดความเคยชินและชำนาญ ซึ่งแน่นอน มือ ก็จะถูกควบคุมและสั่งการด้วยสมอง สมองและมือจึงต้องมีความสัมพันธ์กัน ขณะเดียวกันหากไร้ซึ่งหัวใจแล้วสิ่งต่าง ๆ ในร่างกายก็จะหยุดนิ่งไม่สามารถเคลื่อนไหวหรือกระทำสิ่งใด ๆ ได้ หลายหลายท่านคงเคยได้ยิน ได้ฟัง หรือได้อ่าน คำที่เกี่ยวข้องกับใจ เช่น จริงใจ เข้าใจ ใส่ใจ เต็มใจ เอาใจ มีใจ ซึ่งให้ความสำคัญกับใจเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น ในการกระทำสิ่งใด ๆ ก็ตามเราจึงต้องใช้สมองในการคิดและวางแผน กล้าคิดในสิ่งที่แตกต่างจากคนอื่น กล้าพอที่จะลงมือทำ ทำด้วยใจ ทุ่มเทเอาใจใส่ ไม่ใช่แต่ว่าจะทำอย่างเสียไม่ได้หรือทำให้มันเสร็จไปเท่านั้น ทุกอย่างก็จะออกมาดีงามเองนะคะ 😆
 
 

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร