หางนกยูง และสรรพสิ่งล้วนเกี่ยวพัน
ตายละวาเขียนดร๊าฟไว้ตั้งแต่หางนกยูงยังสะพรั่ง ตอนนี้ฝนตกเลยโรยราไปซะแล้ว จนเช้านี้ี้ (22 มิถุนายน 52) จึงได้กลับมาเขียนต่อเพราะไปฟังเรื่อง โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา กับ GIS ที่ศูนย์คอมพิวเตอร์ คนที่เข้ามาสัมมนาล้วนมาจากที่ไกลๆ เช่น เชีียงใหม่ พังงา และนนทบุรี ส่วนใหญ่มาจาก อบต. และโรงเรียน ส่วนคนที่ใกล้ที่สุดคือตัวเราเองเข้าไปในฐานะผู้ให้กำลังใจเพราะมักคุ้นกับทีมงานและได้รับการเชิญชวนให้ไปสังเกตการณ์ว่าจะมีอะไรบ้างที่สามารถนำมาและนำไปปรับใช้ได้บ้าง และก็ไม่ผิดหวัง
คุณพรชัย จุฑามาศ รองผู้อำนวยการโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สำนักพระราชวัง เป็นผู้เล่าให้ฟังถึงโครงการฯ นี้ว่าเริ่มตั้งแต่ปี 36 ที่พระองค์มีพระราชดำริให้ดำเนินการอนุรักษ์พืชพรรณของประเทศ โดยมีกรอบการดำเนินการ 3 กรอบ แต่ละกรอบจะมีกิจกรรมรองรับ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะพืชเท่านั้น หากรวมไปถึง น้ำ ดิน ป่า ที่มีภูมิปํญญาและวิถีชาวบ้านเป็นตัวกำกับ
กรอบที่ 1 การเรียนรู้ทรัพยากร มี 3 กิจกรรม คือ ปกปักพันธุกรรมพืช สำรวจเก็บรวบรวมพันธุกรรม และปลูกรักษาพันธุกรรมพืช
กรอบที่ 2 การใช้ประโยชน์ มี3 กิจกรรม คือ อนุรักษ์และใช้ประโยชน์พันธุกรรมพืช ศูนย์ข้อมูลพันธุกรรมพืช และวางแผนพัฒนาพันธุ์พืช
กรอบที่ 3 การสร้างจิตสำนึก มี2 กิจกรรม คือ สร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อละกิจกรรมพิเศษสนับสนุนการอนุรักษ์พันธุ์พืช
ระหว่างนั่งฟังก็คิดตามเพราะนำตัวเองไปช่วยน้องอ้อก่อการณ์ใหญ่ ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับภาคตะวันตก ที่ได้วางโครงการของแหล่งเรียนรู้ไว้ให้แล้ว หากนำเรื่องนี้ไปเติมก็น่าจะทำได้ เพราะมีผู้สนับสนุนการทำงานอย่าง ดร.วรพจน์ จากศูนย์ GIS และเป็นการมองในมุมที่กว้าง ส่วนจะจับมุมไหนก่อนก็ว่ากันไป
เกือบสองเดือนแล้วมั้งที่เห็นโปสเตอร์ ความหลากหลายของผลในกลุ่มป่าแก่งกระจาน ที่ชอบมากเพราะนอกจากสวยงามแล้วยังมีพืชพรรณอีกหลายตัวที่ไม่รู้จัก ว่าจะบอกพี่ติ๋วหลายครั้งแล้วว่า หากเก็บจะขอไว้ด้วยเพราะจะเอาไปติดที่ศูนย์ข้อมูลฯ ก็ลืม จนเป็นเวรเช้าเมื่อวันพฤหัสบดีก่อน พี่ติ๋วบอกว่ายังมีอีกหนึ่งจึงขอไว้ พอวันศุกร์อาจารย์มาจึงให้ดูบอกว่าน่าสนใจดี หากเราสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ออกมาใช้ประโยชน์ที่ห้องสมุดของเรา มาวันนี้วันจันทร์อาจารย์บอกว่าคุยกับน้องๆ ทีมงานแล้วว่าเรามีไอเดียแบบนี้ๆ เด็กตอบว่าสามารถทำได้และเราต้องเครดิตกับหน่วยงานต้นทาง
และก็เป็นอีกครั้งที่เราเห็นว่าอัตราการทำงานของคนรอบข้างที่มาช่วยให้ความรู้กับเรา เร่งและแรงมากดังนั้นทำให้เราต้องเร่งตัวเอง เพราะไม่อยากให้เพื่อร่วมงานรู้สึกว่าเราช้าหรือเอื่อยจนเฉื่อย ส่วนที่เราคิดได้อีกข้อหนึ่งเป็นงานของตัวเองที่ต้องรับภาระในการอบรมเรื่องการจัดกิจกรรมในโรงเรียนที่ต้องการให้มีทั้งระบบ ในอีกสองสัปดาห์หน้า ซึ่งกะว่าจะนำเรื่องหลักสูตรท้องถิ่นเป็นโจทย์เพื่อแตกเป็นกิจกรรมที่สามารถทำทั้งระบบ พอฟังเรื่องนี้ก็โชะเชะน่าจะนำไปคิดต่อได้ไม่ยาก โทรไปปรึกษาขายไอเดีย คุณครูทั้งหลายท่านบอกว่าดีฉันจะคอยเอาไปใช้ และตั้งใจจะทำเป็นต้นแบบตามสติปัญญาที่คิดได้
แถมด้วยเรื่องใกล้มาอีกนิดและน่าจะทำได้เลยคือ ปีที่แล้วพี่แมวเล่าว่ามีพี่คนหนึ่งที่ทำผลงานวิชาการเกี่ยวกับเรื่องต้นไม้ในมหาวิทยาลัยศิลปากร และหากเอามาสานต่อเป็นเรื่องราวก็น่าสนใจมากทีเดียว
สรุปว่างานทุกอย่าง ความคิดทุกความคิดไม่ไ้ด้มาจากใครคนใดคนหนึ่ง คนนี้อาจจะคิดก่อน อีกคนก็อาจมาเติมขยายออกไปเรื่อย เรื่องที่ฟังเมื่อครั้งโน้น อาจเป็นประโยช์กับวันนี้ เชื่อมโยงต่อๆ กัน แล้วเราก็จะได้อะไรมากมาย เพราะสรรพสิ่งล้วนเกี่ยวกัน
ส่วนปีนี้หางนกยูงสวยดี ช่วงปิดเทอมไปนั่งที่โรงเรียนสาธิตฯ เห็นค่อยๆ ร่วงลงมา คงเป็นชุดสุดท้าย เพิ่งมีโอกาสได้หยิบดูใกล้สวยจริงๆ เลยถ่ายรูปมาฝาก ลองดมมีกลิ่นด้วยแฮะ เราว่าหอมอ่อนๆ แต่ยอดตองบอกว่าไม่หอม พี่สุนีย์เคยบอกเป็นความรู้ว่ามีหางนกยูงพันธ์ุ์ไทยดอกจะเล็กกว่าหางนกยูงฝรั่งที่ดอกใหญ่ รูปที่เห็นคงเป็นหางนกยูงฝรั่ง ส่วนด้านข้างห้องสมุดน่าจะเป็นหางนกยูงไทย
ปีนี้หางนกยูงสวยมากจนพี่สมศรีนำไปเปรียบเทียบกับดอกซากุระ