มาทำงานน้อย แต่ได้คะแนนประเมินมาก จริงหรือ?

ผ่านมา 3 รอบแล้วที่มหาวิทยาลัยศิลปากรเปลี่ยนระบบการพิจารณาความดีความชอบเพื่อเลื่อนขั้นเงินเดือน โดยวัดจากผลสัมฤทธิ์ของงานด้านตัวชี้วัดผลงานหลัก (Key Performance Indicators : KPIs) และการประเมินพฤติกรรมการปฏิบัติงานด้านความสามารถหรือสมรรถนะ (Competency) ทุกครั้งที่ได้รับเอกสารสีชมพูหรือหนังสือแจ้งผลการเลื่อนเงินเดือน ก็มักจะมีเสียงสะท้อนกลับมา เช่น ทำไมคนที่มีวันลามากกว่าคนอื่น จึงได้เลื่อนขั้นเงินเดือนเท่ากับคนอื่น หรือได้เลื่อนมากกว่าคนอื่น ทำไมทำงานมากกว่าคนอื่นจึงได้ผลตอบแทนน้อยกว่าคนอื่น และอื่น ๆ อีกมากมาย
ผู้เขียนขออธิบายตามความเห็นส่วนตัวในเรื่องดังกล่าว ดังนี้
ในการประเมินผลการปฏิบัติงานนั้น จะแบ่งคะแนนออกเป็น 2 ส่วน คือ Competency 30% และ KPIs 70% รวมเป็น 100 %
– Competency 30% จะประเมินจาก สมรรถนะหลัก 4 ข้อ และสมรรถนะตามสายงาน 4 ข้อ หากเป็นผู้บริหารตั้งแต่หัวหน้าฝ่ายหรืองานที่ถูกต้องตามกฎหมายขึ้นไป จะถูกประเมินสมรรถนะการบริหารจัดการอีก 5 ข้อ
–  KPIs 70% ประเมินจาก งานที่แต่ละคนปฏิบัติตามแผนยุทธศาสตร์ขององค์กร (25%) ผลลัพธ์ของงานหลักที่รับผิดชอบ (70%)  และงานที่ได้รับมอบหมาย (5%) รวมเป็น 100% โดยคิดค่าถ่วงน้ำหนักเท่ากับ 70%
หากทุกคนได้คะแนน Competency เท่ากันหมดคือ 30% ดังนั้นจะมาวัดความแตกต่างกันที่ KPIs ซึ่งก็มีโอกาสได้คะแนนประเมินเท่ากันได้ ถึงแม้จะมีวันที่มาปฏิบัติงานไม่เท่ากัน
สมมติว่า คุณ ก คุณ ข และคุณ ค ทำงานด้วยกัน มี KPIs ที่เหมือนกัน 1 กิจกรรม คือ การทำรายการทรัพยากรสารสนเทศ มีเกณฑ์การให้คะแนน ดังนี้
เกณฑ์คะแนน 1 คือ น้อยกว่า 8 ชื่อ/วัน
เกณฑ์คะแนน 2 คือ 8-10 ชื่อ/วัน
เกณฑ์คะแนน 3 คือ 11-15 ชื่อ/วัน
ในรอบการประเมินหนึ่งซึ่งมี 6 เดือน มีวันทำงานประมาณ 105 วัน คุณ ก และคุณ ข มาปฏิบัติงานครบ 105 วัน โดยไม่มีวันลา ส่วนคุณ ค มีวันลาป่วย และลากิจ 22 วัน ซึ่งอยู่ในข่ายที่ได้รับการพิจารณาให้เลื่อนขั้นเงินเดือนได้ตามระเบียบวันลาของข้าราชการ ดังนั้น คุณ ค จึงมีวันที่มาปฏิบัติงาน 83 วัน หากทุกคนทำงานตามกิจกรรมดังกล่าวได้เท่ากัน คือ สามารถทำได้ 15 ชื่อ/วัน ดังนั้นทุกคนจะได้คะแนนอยู่ในเกณฑ์ 3 เท่ากัน แต่จะเห็นได้ว่าผลผลิตที่ทุกคนทำให้กับหน่วยงานไม่เท่ากัน คือ คุณ ก และคุณ ข ทำได้ในรอบการประเมินดังกล่าวคนละ 1,575 ชื่อ(105×15) ส่วนคุณ ค ทำได้ 1,245 ชื่อ(83×15)
เหตุดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้กับกิจกรรมหรืองานที่วัดเกณฑ์คะแนนกันด้วยเกณฑ์คุณภาพได้เช่นกัน ยกตัวอย่าง เช่น คุณ A คุณ B คุณ C และคุณ D ทำงานทีมเดียวกันคือการบริการยืม-คืน มีเกณฑ์การให้คะแนน ดังนี้
เกณฑ์คะแนน 1 คือ มีบริการและมีการรับส่งงาน
เกณฑ์คะแนน 2 คือ มีเกณฑ์คะแนน 1 + มีการรายงานผลการปฏิบัติงาน
เกณฑ์คะแนน 3 คือ มีเกณฑ์คะแนน 2 + เสนอความเห็นเพื่อแก้ไข/พัฒนางาน
สมมติว่า คุณ A คุณ B และคุณ C มาทำงานในรอบการประเมินดังกล่าว 105 วัน ส่วนคุณ D มาทำงาน 83 วัน ซึ่งในวันที่คุณ D ไม่มาปฏิบัติงาน ทั้งคุณ A คุณ B และคุณ C จึงต้องช่วยกันทำงานแทนคุณ D เนื่องจากเป็นงานให้บริการจึงไม่สามารถหยุดรอให้คุณ D มาปฏิบัติหน้าที่ของตนได้ หากในรอบการประเมินนั้น ทั้ง 4 ท่านทำคะแนนอยู่ในเกณฑ์ 3 เหมือนกัน คือ มีเกณฑ์คะแนน 2 + เสนอความเห็นเพื่อแก้ไข/พัฒนางาน ทั้ง 4 ท่านก็จะได้คะแนนประเมินเท่ากัน
ด้วยเหตุนี้หน่วยงานจึงจำเป็นต้องมีกิจกรรม เพื่อกระตุ้นให้บุคลากรมีความรับผิดชอบต่อองค์กร โดยมีตัวชี้วัดคือ จำนวนวันลาป่วย ลากิจ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กับผู้ที่มีวันลาป่วยและลากิจน้อยด้วยคะแนน 5%
บางท่านอาจคิดโต้แย้งว่า ในเวลาราชการมาทำงานได้ไม่เต็มที่ ก็มาทำให้ช่วงนอกเวลาราชการแล้ว แต่หากคิดกลับกัน เนื่องจากหน่วยงานของเราเป็นหน่วยงานให้บริการ ในเวลาราชการมักจะมีงานที่ต้องประสานงานกับหน่วยงานอื่นหรือผู้ใช้บริการ งานที่ต้องการร่วมกันตัดสินใจแก้ไขปัญหาในทันที งานที่ต้องการให้หลายคนช่วยกันทำให้เสร็จโดยเร็ว งานที่ต้องอยู่ในจุดบริการต่าง ๆ ซึ่งต้องสลับกันพักรับประทานอาหารกลางวัน เป็นต้น จึงมีความจำเป็นที่ต้องการผู้ที่สามารถอยู่ปฏิบัติงานในเวลาราชการได้เต็มที่มากกว่า
แต่ไหนไหนก็ไหนไหน เราทำงานอยู่ด้วยกัน เปรียบเสมือนลงเรือลำเดียวกันแล้ว ก็ต้องช่วยกันพายไปให้ถึงจุดหมาย หากมีใครเหนื่อยล้า หรืออ่อนแรงไปบ้างก็สมควรได้พักเพื่อเยียวยา เพื่อจะได้มีแรงมาช่วยกันพายต่อ จริงไหมค่ะ 😆

One thought on “มาทำงานน้อย แต่ได้คะแนนประเมินมาก จริงหรือ?

  • อ่านเสร็จเริ่มเหนื่อยล้า ขอลายาว ๆ ๆ ๆ

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร