ทอดกฐินวัดใหม่วารีเย็น นครสวรรค์
เมื่อวันเสาร์-อาทิตย์ที่ 17-18 พ.ย 55 ผมได้มีโอกาสไปทอดกฐินวัดใหม่วารีเย็น จ.นครสวรค์ กับผู้ใหญ่พยอมและชาวคณะบางแขมพร้อมสมาชิกชาวศิลปากรอีก 5 คน ต้องขอบคุณพี่ตาที่ชวนไปร่วมทำบุญกัน ขออนุโมทนา สาธุ
การทอดกฐินเป็นประเพณีอันดีงามของชาวพุทธที่ปฎิบัติสืบทอดมาจนกระทั่งปัจจุบัน การทอดกฐินเป็นกาลทานตามพระวินัยกำหนดไว้คือ ตั้งแต่แรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงวันขึ้น 15ค่ำ เดือน 12 เท่ากับว่าวันเพ็ญเดือน 12 ซึ่งเป็นวันลอยกระทงจะเป็นวันสุดท้ายของการทอดกฐินนั่นเอง ผู้มีจิตศรัทธาเลื่อมใสจะทอดกฐินก็ให้ทอดได้ในระหว่างนี้ จะทอดก่อนหรือหลังกำหนดนี้ ไม่จัดเป็นการทอดกฐิน
ระหว่างทางก่อนที่จะไปวัดใหม่วารีเย็น ได้แวะวัดท่าซุง จ.อุทัยธานี ที่มีหลวงพ่อฤาษีลิงดำอันโด่งดังมีผู้คนเคารพนับถือมาแวะกราบไหว้กันอย่างล้นหลาม บางช่วงเวลามีการอยู่ปฏิบัติธรรมด้วย คนขับรถพาเที่ยวรอบวัดเล่าให้ฟังว่าที่วัดนี้มีห้องน้ำไว้รองรับประชาชนถึง 4,000 กว่าห้อง คิดดูแล้วกันว่าประชาชนจะมากเพียงใดและสถานที่จะใหญ่โตเพียงไหน หากมาถึงที่วัดนี้แล้วสิ่งที่พลาดไม่ได้คือการเข้าไหว้พระในวิหารแก้ว บางคนมาถึงวัดไม่มีโอกาสได้เข้าเพราะที่วิหารนี้เปิดและปิดเป็นเวลา ช่วงเช้า 9.00-11.45 น. และบ่าย 14.00-17.00 น.
วัดท่าซุง หรือ วัดจันทาราม ตั้งชื่อตามอดีตเจ้าอาวาสชื่อจันท์ (ในสมัยพระนารายณ์มหาราช นายทหารชื่อจันท์กลับจากศึกเชียงใหม่ มาตามหาภรรยาไม่พบเลยมาบวชที่วัด ต่อมาเป็นสมภาร เปลี่ยนชื่อวัดมาเป็นวัดจันทารามตามชื่อท่านสมภาร) บุคคลทั่วไปนิยม เรียกว่าวัดท่าซุง เพราะในอดีตจังหวัดอุทัยธานี มีป่าไม้มาก จึงมีการขนส่งท่อนซุงมาลงท่าน้ำซึ่งมีแม่น้ำสะแกกรังไหลผ่านบริเวณวัดท่าซุง เพื่อผูกเป็นแพล่องไปตามแม่น้ำ
หลวงพ่อพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ) เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 28 มิถุนายน 2460 เดิมชื่อสังเวียน เป็นบุตรคนที่ 3 ของคุณพ่อควง และคุณแม่สมบุญ สังข์สุวรรณ เกิดที่ ต.สาลี อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี มีพี่น้อง 5 คน หลวงพ่อมรณภาพเมื่อวันศุกร์ที่ 30 ต.ค. 2535 ที่โรงพยาบาลศิริราช สิริอายุ 75 ปี 55 พรรษา
วัดใหม่วารีเย็น จ.นครสวรรค์ ผมเพิ่งมาเป็นครั้งแรก พี่ตากับอารีมาทำบุญวัดนี้เป็นครั้งที่สองแล้ว เมื่อมาถึงคณะกรรมการและชาวบ้านให้การต้อนรับเป็นอย่างดี อาหารการกินเพียบพร้อม กินข้าวเสร็จแล้วเพื่อนพี่ตาซึ่งเป็นสะใภ้นครสวรรค์พาไปอาบน้ำที่บ้านพี่สาวสามี เสร็จแล้วก็มาดูมหรสพที่จัดแสดงฉลองงานทอดกฐิน มีลิเก รำวงย้อนยุค บรรยากาศแบบงานวัดทั่วไป ชาวบ้านมาเที่ยวกันเยอะ สักประมาณ 3 ทุ่มพวกเราทั้งห้าคนก็เข้านอนเสียงเพลงและการแสดงดังกระหึ่มทั้งวัดช่วยอำพรางเสียงกรนของผมไปได้ไม่งั้นเพื่อนร่วมห้องคงแย่
ตี 5 ครึ่งพวกเราก็ไปอาบน้ำที่บ้านเดิม ประมาณ 6.30 น. ร้านอาหารของชาวบ้านที่มาช่วยทำบุญกฐินครั้งนี้เริ่มนำอาหารมาบริการผู้มาทำบุญกันฟรีๆ อาหารมีหลายซุ้ม เช่น ก๋วยเตี๋ยวไก่ ข้าวพะแนงหมู ผัดซีอิ๊ว ข้าวเหนียว ไก่ทอด ส้มตำ กระเพาะปลา ไอติม ข้าวต้มมัด ฯลฯ
เก้าโมงเช้าทำพิธีวางศิลาฤกษ์ตอกเสาเข็มกัน พราหมณ์ทำพิธีและพระสงฆ์สวดมนต์ เสร็จแล้วรอเวลาทอดกฐิน การทอดกฐินที่นี่มีประเพณีแห่องค์กฐินเวียนรอบหน้าวัดกันด้วย 3 รอบ เพื่อนพี่ตา (สะใภ้นครสวรรค์) มาเรียกว่าหนุ่มนครปฐมมาช่วยกันแห่หน่อย ผมกับพี่ช่างวิชัยก็ไปช่วยกันแห่องค์กฐิน การแห่ไม่ใช่เดินธรรมดาจะมีมารผจญไม่ให้นำองค์กฐินเข้าวัดง่ายๆ คนแห่องค์กฐินก็ต้องรวมพลังกันสู้เพื่อจะนำองค์กฐินเข้าวัดให้ได้ เล่นกันไปเล่นกันมากว่าจะครบสามรอบกินเวลาเกือบชั่วโมง เหนื่อยแต่ไม่เจ็บตัวอะไร ระหว่างแห่องค์กฐินเวียนรอบหน้าวัดนั้นบรรดาคนที่เป็นเจ้าภาพกฐินสามัคคีต่างเตรียมเหรียญมาโปรยทานด้วย ตะกร้าเหรียญโปรยทานนับรวมกันได้ประมาณ 10 ตะกร้าใหญ่ เหมือนโปรยทานไม่รู้จักหมดมีมากๆๆๆ ทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่เก็บเหรียญได้คนละหลาย เมื่อนำองค์กฐินเข้าวัดแล้วก็ถึงเวลาข้าวกลางวันที่วัดจัดเตรียมไว้จนอิ่มหนำสำราญแล้ว ถึงเวลาทำพิธีถวายผ้ากฐินเสร็จประมาณ 14.30 น. ก็ขึ้นรถเดินทางกลับ คณะกรรมการและชาวบ้านนำข้าวกล่องเป็นข้าวมันไก่ขึ้นมาแจกพร้อมกระยาสารทน้ำอ้อยให้กินบนรถกันอีก คิดว่าโอกาสหน้าเมื่อโบสถ์เสร็จแล้วจะไปใหม่
ขากลับแวะเที่ยวบึงฉวาก และถึงนครปฐมโดยสวัสดิภาพเมื่อ 19.00 น.