ให้กำลังใจ

เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2555 ผู้เขียนไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลศิริราชเพื่อฟังผลการตรวจเนื้องอก ตอนขากลับเดินขึ้นสะพานลอยที่หน้าโรงพยาบาลเห็นขอทานสองแม่ลูกนั่งอยู่ คนที่เป็นลูกดูท่าทางจะเป็นเด็กออทิสติด (Austitic) เห็นพระสงฆ์ที่เดินนำหน้ามาก่อนให้เงินก็เลยให้ตามไปด้วย พอนั่งรถเมล์มาลงที่ห้างเซ็นทรัล ปิ่นเกล้า เห็นชายแก่คนหนึ่งท่าทางไม่คอยสมประกอบ นั่งคุ้ยขยะ และกินอาหารที่คนอื่นกินเหลือแล้วทิ้งลงในถ้งขยะตรงป้ายรถเมล์ มีผู้คนรออยู่ที่ป้ายรถเมล์ประมาณ 10 กว่าคน ไม่มีใครสนใจชายแก่คนนั้นเลย ผู้เขียนยืนดูอยู่พักหนึ่ง คิดว่าทำไมเขาถึงไม่ไปขอทานเพื่อเอาเงินมาซื้อข้าวกินเหมือนคนอื่น ๆ ที่เขาทำกัน ยืนชั่งใจอยู่พักหนึ่งว่าจะให้เงินเขาดีหรือไม่ กลัวเขาจะไม่รับ หรือหากรับไว้แล้วมีคนมาเอาไป เขาก็จะไม่ได้ใช้เงิน เลยตัดสินใจซื้อข้าว 1 ถุง กับข้าวแบบจืดอีก 2 ถุง เหมือนที่เคยใส่บาตรพระตอนเช้า แล้วเดินไปให้ชายแก่คนนั้น รู้ไหมเกิดอะไรขึ้น ชายแก่คนนั้นรีบรับถุงข้าวและกับข้าวไปกอดด้วยความดีใจ ผู้เขียนรู้สึกปลื้มใจ ตัวแทบลอย ไม่คิดว่าการให้ทานกับผู้ที่เขากำลังต้องการความช่วยเหลือจะทำให้เราปลาบปลื้มใจได้ขนาดนี้ อาการเศร้าที่เกิดจากการป่วยของผู้เขียนหายไปเป็นปลิดทิ้ง
มีบางครั้งที่ผู้เขียนมีปัญญหามารุมเร้าแก้ไม่ตก หรือมีปัญหาด้านสุขภาพ เลยคิดไปว่าเราช่างมีความทุกข์มากมายเสียจริง แต่เมื่อเวลาผ่านไป ได้พบเจอเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่คนอื่นประสบที่เลวร้ายกว่าที่เราพบ จึงคิดได้ว่ามีผู้คนอีกมากมายมีความทุกข์และอดอยากยิ่งกว่าเรา เรามีเงินเดือนให้กินให้ใช้ทุกเดือน ถึงเรามีปัญหา หากใคร่ครวญดูดี ๆ ก็จะพบทางออกได้ไม่ยากนัก ถึงแม้เราเจ็บไข้ได้ป่วยรัฐบาลก็ออกค่ารักษาพยาบาลให้ ดีกว่าคนอื่นอีกมากมายที่ไม่มีเหมือนเรา ทำให้เรามีกำลังใจมากขึ้น
ผู้เขียนเคยอ่านหนังสือเรื่อง จิตวิทยาในการสร้างความสุข โดยวิทยากร เชียงกูล กล่าวถึงว่า คนส่วนใหญ่เข้าใจว่า การหาความสุขคือเรื่องของการหาเงิน หาอำนาจ ความพอใจทางเพศ และความพอใจในการบริโภคสินค้าและบริการต่าง ๆ แต่สิงเหล่านี้เป็นเพียงการสนองความสำราญ (Pleasure) เพียงชั่วครู่ชั่วยามที่เกิดจากการสนองความต้องการของร่างกายหรือการทำกิจกรรมที่ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขภายนอก ไม่ใช่ความสุขที่ยั่งยืน (Authentic Happiness) แต่ความสุขหมายถึง ความรู้สึกพอใจอย่างล้ำลึก (Enjoyment) ที่มีความหมายต่อชีวิต มีอารมณ์ดี หรือการมีอารมณ์ความรู้สึกในทางบวก มีชีวิตที่มีคุณภาพ คนที่มีความสุขจะมองว่าโลกที่เป็นอยู่เป็นที่ที่ปลอดภัย เป็นคนที่ตัดสินใจเก่ง มีความคิดสร้างสรรค์ ร่วมมือกับคนอื่นได้ง่าย มีสุขภาพดี มีรัก เมตตากรุณา ให้อภัย เอาใจเขามาใส่ใจเรา เห็นส่วนดีของผู้อื่น ในทางพุทธศาสนากล่าวว่าประตูที่จะนำไปสู่ปัจจัยแห่งความสุขเหล่านั้น คือสภาพจิตใจ ถ้าเรามีสภาพจิตใจที่มีวินัยและสงบสุข รู้จักพอใจกับสิ่งที่มีอยู่ ควบคุมสิ่งที่ทำได้ หรือเป็นอิสระจากเหตุปัจจัยภายนอกได้ เราก็จะมีความสุขได้เช่นกัน ความสุขเป็นกระบวนการในการรู้จักใช้ชีวิต เราจึงควรถือว่าการแสวงหาความสุขเป็นเป้าหมายอย่างหนึ่งในชีวิตร่วมกับเป้าหมายอื่น ๆ การมีความสุขตลอดเวลาเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพราะปกติในชีวิตหนึ่งของคนเราต้องเจอกับเหตุการณ์ทั้งพอใจ ไม่พอใจ  และความรู้สึกที่รุนแรงในตอนแรกจะค่อยลดลงเมื่อเวลาผ่านไป การมีอารมณ์ที่ไม่พึงพอใจในบางครั้งจะเป็นประโยชน์ต่อชีวิตเราที่จะช่วยควบคุมพฤติกรรมของเรา และให้ข้อมูลในชีวิตที่จำเป็นแก่เรา ช่วยให้เราปรับตัวและจัดการแก้ปัญหาชีิวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพได้
ผู้เขียนจึงขอให้กำลังใจกับผู้ที่กำลังประสบปัญหาต่าง ๆ ทั้งปัญหาในการทำงาน ปัญหาชีวิต เจ็บป่วย พลัดพรากจากคนที่รักหรือสิ่งที่เป็นที่รัก คนที่กำลังเสียใจ หรือหมดกำลังใจ ให้รู้จักอดทน คิดใคร่ครวญให้ดีดีก็จะพบทางออกหรือวิธีแก้ไขปัญหาได้ไม่ยากนัก หากปัญหาใดไม่สามารถแก้ไขได้ วิตกกังวลไปก็ไม่มีประโยชน์ สู้ใช้เวลาไปทำสิ่งอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อตัวเราจะดีเสียกว่า เมื่อเวลาผ่านไปอารมณ์ความรู้สึกของเราก็จะค่อย ๆ ดีขึ้นไปเอง ผู้เขียนเชื่อว่า เวลาจะเป็นเครื่องเยียวยาทุกสิ่งได้
😆 อย่าลืมนะคะ หากเดินถึงทางตัน อย่าสิ้นหวัง ให้หันหลังกลับมา คุณอาจจะเห็นทางออกที่คุณเดินผ่านเลยไปก็ได้ 😀

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร