ยูเนสโกเลือกกรุงเทพฯเป็นเมืองหนังสือโลกปี 2556

เมืองหนังสือโลก (World Book Capital) เริ่มเมื่อปีพ.ศ. 2544 ที่องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO จะมอบรางวัลแก่เมืองที่ได้รับคัดเลือกจากคณะกรรมปีละหนึ่งเมือง ในฐานะที่เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้และส่งเสริมการอ่าน เพื่อกระตุ้นให้ิเกิดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้ด้วยหนังสือในระดับนานาชาติ ให้สอดคล้องกับการเฉลิมฉลองให้วันที่ 23 เมษายนของทุกปีเป็น “วันหนังสือและลิขสิทธิ์โลก” ยูเนสโกต้องการให้ทั่วทั้งโลกส่งเสริมให้เกิดการอ่าน การจัดพิมพ์หนังสือ และการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาผ่านความคุ้มครองด้านลิขสิทธิ์
คุณสมบัติของเมืองที่สามารถเข้าแข่งขันเป็นเมืองหนังสือโลกจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขดังนี้
1.  ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมในกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน
2.  ต้องจัดกิจกรรมต่อเนื่อง เป็นการจัดกิจกรรมมหกรรมเกี่ยวกับหนังสือขนาดใหญ่
3.  มีโครงการสนับสนุน ทั้งการพัฒนาหนังสือและการอ่าน
4.  มีการส่งเสริม สนับสนุน เสรีภาพทางความคิด การแสดงออกและการจัดพิมพ์หนังสือ
5.  มีแผนเกี่ยวกับงบประมาณรายจ่ายและแหล่งทุนสนับสนุนการขับเคลื่อนกิจกรรมอย่างชัดเจน
6.  มีแผนงานและโครงการที่จะดำเนินงานระหว่างปีที่จะได้รับการคัดเลือก
7.  การดำเนินงานหลังจากได้รับการคัดเลือกแล้ว จะดำเนินการอย่างไร ต้องมีแผนงานรองรับชัดเจน
เมืองที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นเมืองหนังสือโลกตั้งแต่ปี 2544-2555 ได้แก่ มาดริด ประเทศสเปน อเล็กซานเดรีย ประเทศอียิปต์ นิวเดลี ประเทศอินเดีย อันท์เวิร์ป ประเทศเบลเยี่ยม มอนตรีออล ประเทศแคนาดา ตูิริน ประเทศอิตาลี โบโกตา ประเทศโคลัมเบีย อัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ เบรุต ประเทศเลบานอน ลูเบียนา ประเทศสโลเวเนีย บัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา เยเรวาน ประเทศอาร์เมเนีย และคณะกรรมการยูเนสโกได้ตัดสินให้กรุงเทพฯ ของประเทศไทยเป็นเมืองหนังสือโลกในปี 2556
จะเห็นได้ว่า หนังสือคือสิ่งที่มีพลังอำนาจสูงสุดและมีประสิทธิภาพมากที่สุดในการกระจายความรู้และรักษาไว้ซึ่งความรู้นั้น ๆ เพื่อมนุษยชาติ การอ่านหนังสือจึงมีความสำคัญ ดังคำกล่าวของคุณประภัสสร เสวิกุล นักเขียนชื่อดังและเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายที่ว่า “…เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าหนังสือเป็นคลังความรู้และแหล่งภูมิปัญญาของมนุษยชาติ หนังสือให้ทั้งความรู้ ความคิด และความบันเทิง หนังสือบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองและในโลกให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา ค้นคว้า วิจัย  หนังสือจุดประกายอุดมคติ ถ่ายทอดความงามของศิลปะการประพันธ์ และผลงานด้านวรรณกรรมอันเป็นอมตะ การอ่านหนังสือจึงทำให้ผู้อ่านเกิดโลกทัศน์ที่กว้างไกล และขยายมิติทางความคิดให้หลากหลายขึ้น รวมทั้งรู้เท่าทันสถานการณ์…ความสำคัญอย่างยิ่งของการอ่านก็คือการก่อให้เกิดจินตนาการไปตามชั้นเชิงและวรรณศิลป์ของผู้เขียน…ถ้าถามว่าจินตนาการมีความสำคัญอย่างไรก็คงต้องย้อนไปดูคำกล่าวของไอน์สไตน์ที่ว่า จินตนาการมีความสำคัญกว่าความรู้ (Imagination is more important than knowledge) ทั้งนี้เพราะความรู้เป็นสิ่งพื้นฐานซึ่งคนทั่วไปสามารถจะเรียนรู้ได้เทียมกัน แต่จินตนาการคือการนำความรู้นั้น ไปต่อยอดเพื่อให้เกิดองค์ความรู้หรือนวัตกรรมขึ้นมา…
ดังนั้น เราชาวหอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ในฐานะที่ทำงานอยู่ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการอ่าน การศึกษาค้นคว้าโดยตรง ควรช่วยกันส่งเสริม สนับสนุนให้ผู้รับบริการของเรา ผู้คนรอบข้าง คนในครอบครัว และตัวเราเองได้อ่านหนังสือให้มากขึ้น เพื่อให้เกิดความรู้และจินตนาการต่าง ๆ และเพื่อเป็นการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลที่กำหนดให้วันที่ 2 เมษายน ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เป็นวันรักการอ่าน และประกาศให้ปี 2552-2561 เป็นทศวรรษแห่งการอ่าน พร้อมให้การส่งเสริมการอ่านเป็นวาระแห่งชาติ ตั้งเป้าภายในปี 2555 คนไทยอ่านหนังสือเพิ่มขึ้นเป็นปีละ 10 เล่ม
😆 มาอ่านหนังสือกันนะค่ะ 😆
อ้างอิง
http://www.komchadluek.net/detail/20120618/133056/เมือง(ของคนไม่อ่าน)หนังสือโลก.html#.UB4cAKAqgUM.
http://www.sorndee.com/node/90.
http://www.thailog.org/wikilog/2011-01-28-08-48-56/item/233-เมืองหนังสือโลก-world-book-capital.html.

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร