เจ้าจอมโซ่ง
ทวีโรจน์ กล่ำกล่อมจิตต์. เจ้าจอมโซ่ง : เจ้าจอม สกุลบุนนาค ในรัชกาลที่ 5 พระสนมผู้เลอโฉม ธิดาเจ้าเมืองเพชรบุรี ผู้มีเชื้อสายชาติพันธุ์โซ่ง. เพชรบุรี : เพชรภูมิการพิมพ์, 2550 (DS 582.57 ท56)
สมัยเรียน ป.กศ.ต้น มีเพื่อนสนิทคนหนึ่งเป็นสาวชาวโซ่ง อยู่อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ตอนกลางวันเรามักจะนั่งกินข้าวด้วยกันเสมอเพราะต่างคนต่างมีข้าวห่อมา ต้องขอขอบคุณป้ารวบ(พี่สาวแม่)ที่หุงข้าวทำกับข้าวให้มีห่อมากินทุกเช้า อาหารการกินของเขาก็ไม่ต่างกับพวกเรา ตอนนั้นรู้แต่ว่าโซ่งเป็นชาติพันธุ์หนึ่งแต่ไม่ได้สนใจค้นคว้าเพิ่มเติมอะไร ต่อมาเพื่อนคนนี้เมื่อจบไปทำงานเป็นครูที่บ้านเกิดตนเองและมีลูกสาวฝาแฝด แฝดคนหนึ่งมาเรียนที่คณะวิทย์ มศก. จบไปประมาณเจ็ดแปดปีแล้ว ตอนเรียนแม่เขาฝากลูกมาหาเพื่อนแม่แต่ลูกไม่แสดงตัวให้รู้เลย จนวันหนึ่งเราอยู่เวรเสาร์อาทิตย์เพื่อนมาเองมาหาข้อมูลทำอาจารย์ 3 นี่แหละจึงได้พบกันอีกครั้ง เขาจำเราได้เพราะลูกเขาไปบอกถึงเพื่อนแม่เสมอ ส่วนเราก็เออคุ้นๆนะ พอเขาบอกว่าอยู่เขาย้อยไง เราก็เลยจำชื่อ นามสกุลได้เพราะเพื่อนเขาย้อยมีคนเดียวและเป็นคนหนึ่งที่อยู่ในใจมานาน 30 กว่าปีที่เคยคบกันมา และเรื่องนี้ทำให้คิดว่าการถูกมองโดยที่เขาไม่แสดงตัวอาจเกิดขึ้นกับใครก็ได้จำต้องพึงระวังทำดีไว้ ส่วนความสนใจเรื่องโซ่งนั้นอยู่ในความทรงจำลึกๆ เสมอ จนกระทั่งได้พบหนังสือเจ้าจอมโซ่ง ธิดาเจ้าเมืองเพชรบุรี ก็คิดว่าไม่อ่านไม่ได้แล้ว
“เจ้าจอมโซ่ง” เป็นเรื่องราวอัตชีวประวัติของสตรีผู้เลอโฉมสกุลบุนนาคท่านหนึ่ง เป็นเจ้าจอมพระสนมในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มารดาของท่านมีเชื้อสายเป็นชนชาติพันธุ์โซ่งเมืองเพชรบุรีและเป็นอนุภรรยาเจ้าเมืองเพชรบุรี นามเจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์ (เทศ บุนนาค)
เมืองเพชรบุรีเป็นเมืองที่พระมหากษัตริย์ไทยทรงโปรดปรานมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ปรากฏหลักฐานในพงศาวดารไทย อาทิ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระเอกาทศรถ ก็เคยเสด็จประทับแรมที่ตำหนักโตนดหลวง และหาดเจ้าสำราญ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อหาดที่นี่ แต่ก่อนเคยสงสัยว่าเจ้าองค์ไหนนะที่ทรงพระสำราญที่หาดแห่งนี้จนได้ชื่อว่า “หาดเจ้าสำราญ”
สมัยราชวงศ์บ้านพลูหลวง สมเด็จพระบรมโกศ พระองค์มีพระมเหสีสองพระองค์ เชื้อสายพราหมณ์สมอพลือชาวเมืองเพชรบุรี คือพระพันวัสสาใหญ่ และพระพันวัสสาน้อย รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเสือได้เคยเสด็จมาคล้องช้างป่าเมืองเพชรบุรีและได้เสด็จมาเยี่ยมอาจารย์แสง วัดเขาบันไดอิฐ พระองค์ได้ถวายเรือประทุนไว้ ยังปรากฏหลักฐานอยู่ในถ้ำประทุนวัดเขาบันไดอิฐ
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรี คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระนครคีรี เป็นที่ประทับ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังบ้านปืน (พระรามราชนิเวศน์) และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน เมืองเพชรบุรีจึงได้ชื่อว่าเป็น “เมืองสามวัง”
หนังสือเล่มนี้ได้กล่าวถึงสกุลบุนนาคที่เข้ามามีบทบาทด้านการเมืองการปกครองในเพชรบุรีอย่างยาวนานถึง 60 ปี ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 5 สกุลบุนนาคทรงอิทธิพลชนิดอำนาจล้นชนเพดานต่อทอดอำนาจไปถึงลูกๆ ถึง 4 คน แม้ว่ารากเหง้าเดิมของคนสกุลบุนนาคมาจากแหล่งอื่นแต่ได้มาอยู่เพชรบุรีอย่างยาวนานบุตรหลานจึงได้กลายเป็นคนเพชรบุรีโดยชาติกำเนิด เรียกว่า “สกุลบุนนาคสายเพชรบุรี”
ธิดาและหลานของเจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์ (เทศ บุนนาค) ที่ได้ทรงโปรดฯ เป็นพระสนม มีทั้งสิ้น 8 ท่านด้วยกัน ได้แก่ เจ้าจอมมารดาอ่อน เจ้าจอมเอี่ยม เจ้าจอมเอิบ เจ้าจอมอาบ เจ้าจอมเอื้อน (เจ้าจอมกลุ่มนี้มีชื่อนำหน้าด้วย “อ” จึงมีสมญานามว่า “เจ้าจอมก๊กออ”) เจ้าจอมแถม เจ้าจอมแก้ว เจ้าจอมแส หรือเจ้าจอมโซ่ง (พระมารดาชื่อ หม่อมทรัพย์ สาวชาวโซ่งบ้านท่าโล้ เมืองเพชรบุรี)
ความสำคัญของเจ้าจอมแสผู้มีเชื้อสายชาวโซ่งท่านนี้ ก็คือความซื่อสัตย์และจงรักภักดีอย่างสูงยิ่งต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และเป็นผู้ที่ไม่เคยลืมชาติกำเนิดชาติพันธุ์โซ่งฝ่ายมารดาของท่านเลย และกล่าวถึงสัมพันธภาพ “โซ่ง” กับราชสำนักสยามและสกุลบุนนาค
“เจ้าจอมโซ่ง” เล่มนี้ได้นำเสนอภาพเก่าหายากในสมัยรัชกาลที่ 5 รวมถึงประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองของจังหวัดเพชรบุรี โดยใจความตอนหนึ่งได้กล่าวถึงชีวประวัติของ พ.อ.พระยาวิเศษสิงหนาท (ยิ่ง จุลานนท์) ซึ่งเป็นต้นตระกูลจุลานนท์ บิดาของ พ.ท.พโยม จุลานนท์ และมีศักดิ์เป็นปู่ของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นอกจากนี้ยังข้อมูลมีศิลปินคนดัง “สมัย อ่อนวงศ์” ขุนพลแคนที่คนทั่วไปคิดว่าเป็นคนอีสานที่แท้เป็นศิลปินโซ่ง เมืองเพชรบุรีนี่เอง
อาจารย์ล้อม เพ็งแก้ว ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ชาวโซ่งนั้นไม่ว่าจะไปอยู่ที่ใด อย่างไร ก็ภูมิใจและรักษาเอกลักษณ์ของชนชาติ สามารถสืบต่อวัฒนธรรมของกลุ่มตนไว้ได้อย่างเหนียวแน่น มั่นคง ถือได้ว่าเป็นความพิเศษของชนชาติ
ท่านใดสนใจหาฉบับเต็มอ่านได้นะคะ รับรองว่าสนุกได้ข้อมูลประวัติศาสตร์และอัตชีวประวัติไปพร้อมกัน