Maintenance Personnel
เนื่องจากเหลือเวลาอีกไม่นาน ก็จะถึงวันที่รอคอยของ บุคลากรห้องสมุดที่ตั้งใจเข้าโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด ตามมติเห็นชอบในหลักการให้มีการดำเนินมาตรการปรับปรุงอัตรากำลังของส่วนราชการ ซึ่งทุกคนต่างก็มีเหตุผลที่แตกต่างกันไป แต่ก็น่าเสียดายเพราะทุกคนล้วนเป็นผู้มีความสามารถในวิชาชีพของตนเองทั้งนั้น
ซึ่งผลกระทบที่ตามมาก็คือ องค์ความรู้ ที่มีอยู่ในตัวของบุคคลดังกล่าวย่อมหายไปด้วยเช่นกัน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของห้องสมุดโดยรวมพอสมควร กอรปกับ สถานการณ์ปัจจุบัน องค์กรต่าง ๆ ต้องเผชิญกับสภาวะการที่ท้าทายของการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ที่มีความยุ่งยากซับซ้อนมากขึ้น การเปิดเสรีทางการค้าและความร่วมมือในรูปแบบของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่กำลังมีผลบังคับใช้ ทำให้หลายองค์กรต้องปรับตัวเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น บุคลากร และการบริหารจัดการบุคลากรในองค์กร จึงเป็นองค์ประกอบสำคัญแห่งความสำเร็จของการบริหารจัดการและการพัฒนาองค์กร
ดังนั้น การบริหารและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในองค์กร จึงเป็นประเด็นสำคัญเพื่อวิเคราะห์หาประเด็นสำคัญที่ยังเป็นช่วงว่างระหว่างประสิทธิภาพด้านการบริหารและการพัฒนาทรัพยากรบุคคลกับสิ่งที่องค์กรคาดหวัง (Gap of Performance and Expectation) เพื่อวิเคราะห์หาความต้องการและวางแผนด้านทรัพยากรบุคคลให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว (Need and Plan for Change) และเพื่อวิเคราะห์นโยบายขับเคลื่อนและลำดับความสำคัญของการพัฒนาทรัพยากรบุคคล (Policy Driver and Priority)
จากรายงานการวิจัยด้านทรัพยากรบุคคลในปี 2012 (2012 Thailand HR Trends Survey)ใน ประเด็นแนวโน้มด้านการรักษาบุคลากร ผลการสำรวจพบว่า แนวโน้มสำคัญที่องค์กรเลือกใช้ในการรักษาบุคลากรได้แก่
1.พัฒนาหัวหน้างานให้มีทักษะในการบริหารจัดการและความเป็นผู้นำ
2.เพิ่มการพัฒนาบุคลากร
3.สร้างบรรยากาศในที่ทำงานให้น่าทำงาน
จากผลการสำรวจดังกล่าวในเรื่องของการักษาบุคลากร องค์กรส่วนใหญ่ คาดหวังจากหัวหน้างานเป็นหลัก และดูเหมือนว่าเรื่องเงินและผลตอบแทนไม่ใช่แนวทางหลักที่องค์กรส่วนใหญ่เลือกใช้เพื่อรักษาพนักงาน ดังนั้น ความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการและทักษะการเป็นผู้นำของหัวหน้างาน เป็นปัจจัยสำคัญต่อการรักษาพนักงานไว้กับองค์กร ซึ่งสิ่งนี้มีความสอดคล้องกับแนวคิดของ ปีเตอร์ ดรักเกอร์ กูรูด้านการบริหารจัดการระดับโลก กล่าวไว้ว่า คนเข้าทำงานเพราะองค์กรแต่ลาออกเพราะหัวหน้างาน (People join organization but leave their boss)
ดังนั้นการปรับบทบาทงานด้านทรัพยากรบุคคล ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้บริหารหรือผู้ทำงานด้านทรัพยากรบุคคล ต้องให้ความสำคัญกับปัจจัยต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงานโดยรวมขององค์กร และควรคำนึ่งถึงการกำหนดแผนกลยุทธ์ด้านต่าง ๆ เพื่อเตรียมรับกับความ ท้าทายที่รออยู่ คือ การรักษาบุคลากรในองค์กร ซึ่งปัจจัยที่สำคัญ คือ การพัฒนาบุคลากรเชิงกลยุทธ์ การสร้างบรรยากาศในการทำงานที่ดี การเพิ่มความผูกพันของพนักงานต่อองค์กร (Employee Engagement) พฤติกรรมของหัวหน้างาน การรักษาคนเก่ง การพัฒนาภาวะผู้นำให้กับบุคลากร การส่งเสริมความก้าวหน้าในอาชีพ การมีโอกาสได้เรียนรู้และพัฒนาตนเองของบุคลากร ความท้าทายดังกล่าวจะสามารถเอาชนะได้ด้วยการติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างต่อเนื่อง การเรียนรู้และศึกษาเพิ่มเติมด้วยตนเองอยู่เสมอ การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ทำงานด้านทรัพยากรบุคคลด้วยกัน เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ สนับสนุนช่วยเหลือและเรียนรู้ร่วมกัน จะสามารถสร้างความแตกต่างและความสำเร็จให้กับองค์กรได้อย่างยั่งยืน