บุคลิกภาพสำหรับผู้ปฏิบ้ติงานด้านบริการ
ห้องสมุดมีภารกิจหลัก คือ การให้บริการสารสนเทศให้กับประชาชนทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย ดังนั้นผู้ปฏิบัติงานทุกตำแหน่งในห้องสมุดควรให้ความสำคัญกับบุคลิกภาพ ที่มีความสง่างาม และสร้างความน่าเชื่อถือกับผู้มาขอใช้บริการ ซึ่งบางคนมีความเข้าใจเพียงว่า การแต่งกายดี การมีใบหน้า ท่าทาง และรูปร่างที่ดี เป็นสิ่งแสดงถึงบุคลิกภาพที่น่านิยม เลื่อมใส ศรัทธา
ความจริงบุคลิกภาพไม่ได้หมายถึงเพียงรูปร่าง หน้าตา ท่าทางภายนอก แต่รวมไปถึงนิสัยใจคอ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ปรากฏให้เห็นจากภายนอกในทันที สำหรับบุคลิกภาพจะเป็นตัวแปรที่สำคัญงานที่ส่งผลให้การปฏิบัติงานด้านการบริการ ประสบความความสำเร็จ หรือความล้มเหลวซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากบุคลิกภาพของผู้ให้บริการก็ได้
ดังนั้น บุคลิกภาพสำหรับผู้ปฏิบัติบริการจึงมีความสำคัญที่ควรใส่ใจนำมาปรับใช้กับตนเองในการปฏิบัติงาน นั่นก็คือ เป็นการสร้างความรู้สึกต่อผู้พบเห็นว่า ว่าชอบหรือไม่ชอบ หรือเกิดความรู้สึกต่อคน ๆ นั้นอย่างไร เช่น เป็นคนมีเสน่ห์น่าคบหาสมาคมด้วย มีความสง่าน่าเกรงขาม หรือกลับเป็นตรงข้ามคือ ไม่น่าคบเสียเลย บุคลิกภาพทำให้คนเกิดความรู้สึกทางใจ ซึ่งทำให้เกิดอารมณ์แต่เพียงอย่างเดียว ไม่ต้องใช้ความคิดสติปัญญา หรือการตัดสินใจที่ต้องใช้เหตุผลใด ๆ ทั้งสิ้น นั่นก็คือ ลักษณะเฉพาะประจำตัวของบุคคลหนึ่ง ๆ เกี่ยวกับปฏิกิริยาโต้ตอบกับบุคคลอื่น ๆ ในการปรับตัวให้เหมาะสมต่อสถานการณ์และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดความเหมาะสมแก่ตัวเอง อันประกอบด้วยรูปร่าง ลักษณะ อากัปกริยา คำพูด น้ำเสียง การแสดงท่าทาง รวมถึงพฤติกรรมที่แสดงออก อุปนิสัยใจคอ ทัศนคติ ความรู้สึกนึกคิด อารมณ์ ซึ่งสามารถแยกให้ชัดระหว่าง บุคลิกภาพ กับ บุคลิกลักษณะ คือ บุคลิกภาพ (personality) คือ ผลรวมของพันธุกรรมและประสบการณ์ทั้งหมดของบุคคล ส่วน บุคลิกลักษณะ (trait) คือ ลักษณะของบุคคลที่แสดงออกที่เห็นได้จากภายนอกอย่างชัดเจน เช่น ลักษณะรูปร่าง หน้าตา สีหน้า กริยาท่าทาง คำพูด น้ำเสียง ที่ปรากฏแก่ผู้พบเห็น
ลักษณะบุคลิกภาพที่ดีสำหรับผู้ปฏิบัติงานด้านบริการอาจพิจารณาแบบกว้าง ๆ ดังนี้
1. ส่วนที่เกี่ยวกับร่างกาย ได้แก่ การมีสุขภาพพลานามัยดี แต่งกายสะอาดและเรียบร้อย กิริยาท่าทางสง่า ร่าเริง แจ่มใส ว่องไว แต่ไม่ใช่หลุกหลิกลุกลน
2. เสียงและภาษาที่พูด น้ำเสียงแจ่มใส ชัดเจน ไม่เบาและไม่ดังเกินไป พูดจาฉะฉาน ไม่เพ้อเจ้อหรือ คลุมเครือ ใช้ภาษาเหมาะแก่บุคคล และถูกกาลเทศะ คุณลักษณะประจำตัวอื่น ๆ เช่น มีความอดทนและอดกลั้นต่อสิ่งภายนอกที่มากระทบจิตใจ สามารถควบคุมอารมณ์ได้ ไม่หวั่นไหว ไม่แสดงออกถึงลักษณะของคนเจ้าอารมณ์ เป็นคนที่รับฟังความคิดเห็น และฟังข้อขัดแย้งของผู้อื่นด้วยอารมณ์ปกติ เข้าใจอะไรได้รวดเร็ว เป็นผู้มีวิจารณญาณไตร่ตรอง สุขุม สามารถเข้าใจอะไรได้ถูกต้อง ตัดสินใจได้เร็วและเหมาะสม วินิจฉัยปัญหาถูกต้องตามที่ควรจะเป็น เป็นต้น
สำหรับ บุคลิกภาพที่ควรระวังสำหรับผู้ปฏิบัติงานด้านบริการ ได้แก่ การขาดความคิดริเริ่ม เฉื่อยชา ผัดวันประกันพรุ่ง ขาดความสังเกต ขาดความรับผิดชอบ ขาดความระมัดระวัง ขาดความสามารถในการทำงาน ขาดการปรับปรุงตัว ดังนั้นผู้ปฏิบัติงานด้านบริการควรสำรวจว่าตนเองว่ามีบุคลิกภาพในลักษณะใด เหมาะสมกับการปฏิบัติงานและการดำเนินชีวิตประจำวันในสังคมหรือไม่ ต่อจากนั้นอาจวางแนวทางปรับปรุงบุคลิกภาพ แต่ระมัดระวังรักษาสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจ ก็จะเป็นเหตุส่งเสริมแก้ไขดัดแปลงบุคลิกภาพให้ดีขึ้น คนทั่วไปยอมรับมาตรฐานของสังคมในเรื่อง ความสะอาดทั้งร่างกายและเครื่องแต่งกาย การมีกิริยาวาจาสุภาพเรียบร้อย พูดจาฉะฉาน ชัดถ้อยชัดคำ ไม่พูดหยาบเพ้อเจ้อ ท่าทางเข็มแข็ง แคล่วคล่อง สง่าผ่าเผย อ่อนโยนแต่ไม่อ่อนแอ รู้จักควบคุมอารมณ์ได้ดี มีทัศนคติที่ดีต่อเพื่อนร่วมงานและสถาบัน นับแต่ครอบครัวจนถึงสังคมภายนอก หากมีการวางแนวทางหรือให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลิกภาพ หรือระมัดระวังการวางตัวในการปฏิบัติงานและการอยู่ในสังคมก็จะส่งผลให้ตัวเราเกิดความน่าเชื่อถือกับผู้พบเห็น ทำให้อยากพูดสนทนาด้วย
การเสริมสร้างบุคลิกภาพสำหรับผู้ปฏิบั่ติงานด้านบริการ ได้แก่
1. การมอง สายตาสามารถบอกถึงความรัก ความเกลียดชัง ความเมตตาปรานี ความโกรธแค้น ความเคารพนับถือ หรือความเหยียดหยาม ดูหมิ่นดูแคลน ฉะนั้น เมื่อเรามองใคร เราจะต้องพยายามใช้สายตาด้วยความสุภาพเรียบร้อย ระวังในการใช้สายตาอย่าให้คนอื่นเกิดความเข้าใจผิดได้
2. การแต่งกาย ต้องคำนึงถึงความสะอาดเรียบร้อย ถูกต้องและเหมาะสมกับกาลเทศะ เช่น ใส่รองเท้ารัดส้น ใส่เสื่อทับใน ควรมีสูท ซึ่งจะทำให้เรามีบุคลิกที่ดูดี และสง่างาม
3. การพูด ต้องมีศิลปะในการพูด ให้ชนะใจผู้ฟัง โดยจะต้องใช้คำพูดที่มีเหตุผล สุภาพ ไพเราะ และใช้คำพูดที่เหมาะสมกับผู้ฟัง (โดยคำนึงถึงวัย เพศ ระดับการศึกษา อาชีพ และความสนใจพิเศษของผู้ฟัง) สถานที่ เวลา และโอกาส
4. การเดิน ต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดเสียงดังจนเกินไป ซึ่งจะทำให้เป็นที่รบกวนผู้อื่น ต้องเดินให้ตัวตรง อกผายไหล่ผึ่ง เดินให้มีท่าทางสง่าและเรียบร้อย ไม่เดินผ่ากลางผู้อื่นที่ยืนสนทนากันอยู่
5. การแสดงท่าทาง ต้องระวังท่าทางที่ไม่สวยงาม เวลาพูดหรือทำอะไรก็ตาม อย่ามีการแสดงท่าประกอบมากเกินไปจนน่าเกลียด หรือแสดงท่าที่ไม่สุภาพ
6. ทักษะในการทำงาน ในการทำงานใด ๆ ก็ตามจะต้องทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะดีได้ ต้องทำด้วยท่าทางคล่องแคล่ว ด้วยความชำนาญ และให้ได้ผลงานดีเด่น
7. สุขภาพ ต้องระวังสุขภาพให้ดี อย่าให้มีโรค ระวังรักษาสุขภาพร่างกายให้สมบูรณ์แข็งแรงอยู่เสมอ
ผู้ที่มี “จิตแจ่มใส กายสง่า วาจาดี คือ คุณสมบัติของบุคลิกภาพที่ดี ซึ่งเรื่องจำเป็นและมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ปฏิบัติงานด้านบริการ ในการใช้ชีวิตอยู่ในสังคมไม่ว่าจะเป็นสังคมครอบครัว เพื่อน องค์กร ซึ่งจุดเด่นที่เห็นได้ชัดเจน สำหรับผู้ที่มีบุคลิกภาพดี คือ การสร้างความเชื่อถือ ที่เกิดจาก รูปร่าง ลักษณะ อากัปกริยา คำพูด น้ำเสียง การแสดงท่าทาง รวมถึงพฤติกรรมที่แสดงออก อุปนิสัยใจคอ ทัศนคติ ความรู้สึกนึกคิด อารมณ์ เมื่อผู้อื่นได้เห็นคุณ ผู้เขียนเป็นบุคคลหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับ บุคลิกภาพที่ดูดี เป็นอย่างมาก และมีความเชื่อว่าการที่เรามีมีบุคลิกภาพดี เป็นการสร้างความมั่นใจให้กับตัวเราเองในการก้าวเดินออกจากบ้านเพื่อไปอยู่ในสังคมภายนอกได้อย่างสง่าผ่าเผย ซึ่งเราไม่จำเป็นต้องแต่งตัวสวย เพียงแต่ต้องแต่งตัวให้ดูดี เหมาะกับกาลเทศะ สถานที่ อายุ เทคนิคง่าย ๆ ในการทำให้เรามีบุคลิกภาพที่ดูดี คือ เริ่มตั้งแต่ ทรงผม ใบหน้า และการแต่งตัว กริยาท่าทางที่แสดงออกกับผู้อื่น (ตั้งแต่ หัวจรดเท้า) ซึ่งต้องมีความใส่ใจและระมัดระวังเป็นพิเศษ
สำหรับการแต่งกายเพียงแค่เรามี สูท 1 ตัวก็สามารถทำให้เราดูดีได้ ฉะนั้นเราจะมีสูทติดไว้ทั้งที่ทำงาน และรถยนต์ส่วนตัว รองเท้าควรเป็นรองเท้ารัดส้น ใส่เสื้อทับในกางเกง หรือกระโปรง ทรงผมควรจัดให้เรียบร้อย ใบหน้าควรแต่งแบบอ่อน ๆ เพื่อความสดใส น่ามองต่อผู้พบเห็น เพียงเท่านี้ก็สามารถทำให้เราดูดีได้ นี่ก็ใกล้จะเปิดภาคการศึกษาใหม่เราจะต้องพบเจอกับผู้ใช้มากมายมีทั้งผู้ใช้ใหม่ และเก่าเราปรารถนาให้ทุกคนมีบุคลิกภาพที่ดูดี สร้างความประทับใจกับผู้ใช้บริการในสัมผัสแรกที่พบเห็น ซึ่งมีผลต่อความสำเร็จในการปฏิบัติหน้าที่เป็นอย่างยิ่ง ดังคำกล่าว ที่ว่า “มาดดี มีชัยไปกว่าครึ่ง”