การสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ของคนในองค์กร

จากที่ข้าพเจ้าได้อ่านหนังสือเรื่อง Learning Organization & Knowledge Management ซึ่งเป็นการศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเองที่กำหนดไว้ตาม KPI และได้สรุปนำเสนอหัวหน้าฝ่ายฯ และหัวหน้าหอสมุด ซึ่งหัวหน้าหอสมุดแนะนำว่าควรเขียนลง Blog เพื่อแลกเปลี่ยนให้เพื่อน ๆ ได้รับรู้ และหัวหน้าฝ่ายเสนอแนะว่า ควรเสนอแนะให้เป็นรูปธรรม สามารถนำไปปฏิบัติได้
ทำให้เราคิดต่อยอดต่อไปว่า น่าจะเขียนเรื่องการสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ ว่าเราจะสร้างอย่างไรเพื่อให้เกิดองค์กรแห่งการเรียนรู้ที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และเป็นอมตะ ตามยุทธ์ศาสตร์ของสำนักหอสมุด ที่ต้องการมุ่งให้ห้องสมุดเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ ซึ่งสาระสำคัญพอสรุปสั้นได้ว่า วิธีการทำให้องค์กรมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน หรือทำให้มีความเป็นอมตะ และคนในองค์กรทำงานอย่างมีความสุขนั้น จะต้องเริ่มที่การพัฒนาการเรียนรู้ของคนในองค์กรให้เป็นผู้มีความรู้ และมีปัญญาปฏิบัติงาน เพื่อให้เป็นพลังแห่งความสามารถขององค์กรในการเผชิญกับ ความท้าทายใหม่ๆ และพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้อย่างต่อเนื่อง
ดังนั้นการสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ของคนในองค์กร ที่ต้องอาศัยเรื่องของการจัดการความรู้เป็นตัวช่วย ใช้ Core competency เป็นแผนที่เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย และสร้างบรรยากาศให้เกิด learning organization รวมทั้งต้องปลูกฝังเรื่องของคุณธรรม จริยธรรมควบคู่ไปด้วย องค์กรจึงจะเกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและเป็นอมตะ
วัฒนธรรมการเรียนรู้ คือ รูปแบบของค่านิยม ความเชื่อ ความเข้าใจ และวิธีคิด ด้านการเรียนรู้ การศึกษาหาความรู้ จากแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ เพื่อพัฒนาความรู้ ทักษะ ความเข้าใจ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงทัศนคติและพฤติกรรมในการเรียนรู้ของคนในองค์กรที่ยืดถือร่วมกัน สะท้อนผ่านวิถีการทำงาน และการปฏิบัติงานของคนในองค์กร และนำมาถ่ายทอด แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับบุคลากรในองค์กรร่วมกันผ่านช่องทางต่าง ๆ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการปฏิบัติงาน และคุณภาพชีวิตของคนในองค์กร และสามารถบ่งชี้ถึงประสิทธิภาพการทำงานอีกด้วย
ดังนั้น การสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ของคนในองค์กร ผู้บริหารหรือนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จะต้องเข้าใจถึงลักษณะธรรมชาติในกระบวนการเรียนรู้พื้นฐานของคนในองค์กรเสียก่อน ซึ่งจะเป็นข้อมูลประกอบการการตัดสินใจเลือกทางเลือกต่าง ๆ ในการดำเนินการตามกระบวนการสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ของคนในองค์กร ว่าจะสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้อย่างไร จึงก่อให้เกิดการเรียนรู้และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของบุคลากรในองค์กร ซึ่งคนในองค์กรส่วนใหญ่จัดอยู่ในกลุ่มของวัยผู้ใหญ่ ที่มีลักษณะธรรมชาติการเรียนรู้ที่แตกต่างจากการเรียนรู้ของเด็ก
นักจิตวิทยาได้ทำการวิจัยค้นคว้าเกี่ยวกับกระบวนการเรียนรู้ไว้มากมาย ซึ่งพอจะสรุปได้ คือ 1) ผู้ใหญ่จะเรียนเมื่อต้องการจะเรียน 2)ผู้ใหญ่ จะเรียนเฉพาะสิ่งที่เขามีความรู้สึกว่ามีความจำเป็นต้องเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียนเพื่อนำไปปฏิบัติ 3) การสอนผู้ใหญ่ควรใช้วิธีการมีส่วนร่วมด้วย 4) ผู้ใหญ่ต้องการจะเรียนรู้ทักษะและใฝ่หาความรู้ที่จำเป็นในการเพิ่มขีดความสามารถของตนในการทำงานและนำทักษะนั้นมาใช้ในการแก้ปัญหาได้ทันที 5) ประสบการณ์ชีวิตมีผลต่อการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ ซึ่งวิธีการเรียนรู้เบื้องต้นของผู้ใหญ่ คือ การวิเคราะห์และค้นหา ความจริงจากประสบการณ์ ดังนั้นประสบการณ์เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ใหญ่มีความแตกต่างระหว่างบุคคล ซึ่งส่งผลให้ผู้ใหญ่สามารถเรียนรู้ได้มากขึ้น 6) ผู้ใหญ่จะเรียนรู้ได้อย่างดียิ่งในบรรยากาศแวดล้อมที่เป็นกันเอง 7) ผู้ใหญ่ต้องการแนะแนว ไม่ใช่การสอน และต้องการวัดผลตัวเองมากกว่าการให้คะแนน เป็นต้น
ดังนั้นแนวทางการสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ของคนในองค์กรให้เป็นวิถีปฏิบัติ คือ
1.ส่งเสริมให้มีการจัดการความรู้ที่อยู่ในสมองคนในองค์กรโดยให้มีรูปแบบและกิจกรรมหลักในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันอย่างไม่ขาดสาย ซึ่งห้องสมุด ก็ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องอยู่แล้วในเรื่องของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่าน Blog
2. ให้ผู้นำเป็น Role Model เรื่องการสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ โดยเป็นแบบอย่างของการเป็นผู้ใฝ่เรียนรู้ และเป็นผู้พร้อมแบ่งปันความรู้ให้พนักงานเห็นอย่างชัดเจน เช่น การบอกเล่าถึงประสบการณ์โดยตรงในการแสวงหาความรู้ วิธีการเรียนรู้ และประโยชน์ที่ท่านได้รับจากการเรียนรู้ต่าง ๆ
3. ส่งเสริมให้มีการเสวนา แบ่งปันความรู้ โดยการจัด Shared Forum ให้เป็นเวทีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้จากผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญจากภายในและภายนอกมาแลกเปลี่ยนขยายมุมมองเพิ่มเติมในเนื้อหาที่เกี่ยวกับกลยุทธ์สำคัญขององค์กรเป็นต้น
4.ส่วนงานของ นักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (HRD) ควรจัดให้ความรู้ ความเข้าใจ ทัศนคติที่ดีต่อการเรียนรู้ และพัฒนาทักษะในการเป็นผู้ถ่ายทอด สอนงานเพิ่มเติมเพื่อให้ผู้มีพร้อมให้ความรู้นั้นสามารถถ่ายทอดความรู้ให้ผู้อื่น เข้าใจได้อย่างชัดเจน รวมทั้งการจัดให้มีการ พัฒนาทักษะการเรียนรู้ (learn how to learn) สำหรับพนักงานทุกคนเพื่อให้ผู้ใฝ่เรียนรู้มีความสามารถในการเรียนรู้ได้ด้วยตนเองและได้อย่างมีประสิทธิผล เช่น การจัดกิจกรรมการส่งเสริมการอ่านให้กับบุคลากร ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการเรียนรู้ผู้ใหญ่ที่สามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต (lifelong learning) การจัดฝึกอบรมเรื่องเทคนิคการสื่อสาร การพัฒนาบุคลิกภาพให้เป็นผู้กล้าแสดงออก มีความมั่นใจ เป็นต้น
5. นักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ควรส่งเสริมค่านิยมเรื่องการเปิดใจกว้างและการรับฟังความคิดเห็นเพราะจะช่วยกำหนดพฤติกรรมที่เอื้อต่อการเป็นองค์กรที่มีวัฒนธรรมของการเรียนรู้ได้อย่างมาก ด้วยการ สื่อสาร หรือจัดกิจกรรม รณรงค์ให้พนักงานทุกคนเป็นความสำคัญของการเปิดใจและการรับฟังนั้นว่าเป็นประตูแห่งโอกาสของการเรียนรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาความคิดที่กว้างไกล ซึ่งประเด็นนี้ ผู้บริหารควรต้องทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดี โดยจัดหาโอกาสการที่ไปรับฟังความคิดเห็นของพนักงานหรือเปิดโอกาสให้มีช่องทางแก่พนักงานในการแสดงความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ต่าง ๆ เพื่อสร้างบรรยากาศของการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้อย่างกว้างขวางทั่วทั้งองค์กร
6. จัดให้มีระบบยกย่องเชิดชู หรือชื่นชมยินดีกับผู้ให้ความรู้และผู้แสดงออกถึงการเป็นผู้ใฝ่เรียนรู้ตลอดเวลาเพื่อเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมเหล่านี้ขยายเป็นวงกว้าง
จะเห็นได้ว่าการสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ของบุคลากรในองค์กรที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ผู้บริหาร หรือนัก HRD เป็นผู้มีบทบาทสำคัญ ที่จะต้องเข้าใจในเรื่องของลักษณะธรรมชาติการเรียนรู้ของคนในองค์กร การสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ บทบาทของผู้นำที่เป็นตัวอย่างที่ดี การจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมการเรียนเรียนรู้ การฝึกทักษะด้านการเรียนรู้ การสื่อสาร และถ่ายทอดของผู้มีความรู้ รวมทั้งการส่งเสริมค่านิยมในเรื่องของการเปิดใจกว้างยอมรับความคิดเห็นของผู้ เป็นต้น
ในเรื่องของการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองนั้นข้าพเจ้าได้มีโอกาสฟังท่าน ศาสตราจารย์ ดร.จำเนียน จวงตระกูร มาบรรยายเรื่องของ กลยุทธ์การวางแผนพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ท่านบอกว่าการเรียนรู้ของท่าน ท่านมีคติประจำใจของท่านว่า “เกิดเป็นคนโง่ไม่เป็น เป็นใหญ่ยาก” นั่นหมายถึง ไม่มีใครฉลาดที่สุดได้ตลอดเวลา เราจึงต้องเสาะแสวงหาความรู้ใส่ตัวเองเสมอ เราสามารถเรียนรู้ได้จากทุกคนโดยเฉพาะผู้ใต้บังคับบัญชา เพื่อนร่วมงาน เราต้องเป็นผู้ฟังที่ดี คือเราจะต้องโง่บ้างและฟังให้มาก” ดังนั้นการสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ให้กับบุคลากรในองค์กรให้เป็นผู้ที่มีการเรียนรู้ที่เหนือชั้นย่อมทำให้องค์กรเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนและเป็นอมตะตลอดไป
แพ้เป็นบันได ชนะเป็นสะพาน ประสบการณ์เป็นบทเรียน

3 thoughts on “การสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ของคนในองค์กร

  • พี่กำลังมองหาคนช่วยทำโครงการพอดี มีงานให้ช่วยแบบเร่งด่วนดังนี้คือ จัดทำโครงการพัฒนาบุคลากรเพื่อสนับสนุนให้ห้องสมุดสู่ ASEAN กับ นำเสนอ ร่าง KPI ในส่วนที่เป็นเรื่องของ KM กับ LO ขอบคุณล่วงหน้าค่ะ ส่งผ่านที่ท่าน หน.ฝ่่ายได้เลยนะคะ

  • ขอขอบคุณค่ะ ที่ให้โอกาสในการเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนเรื่องของการพัฒนาบุคลากรในองค์กรของเรา ซึ่งน้องโรส กำลังเขียนหลักสุตรฝึกอบรมอยู่ค่ะ แล้วจะนำเสนอตามลำดับขั้นตอนต่อไปค่ะ ซึ่งน่าจะมีการติดต่อสื่อสารกันเพื่อความเข้าใจและช่วยกันต่อยอดความคิดให้ผลการปฏิบัติงานเห็นเป็นรูปธรรมค่ะ ส่วนเรื่อง ร่าง KPI ที่เป็นเรื่องของ KM กับ LO นั้น กำลังคิดอยู่คะ แต่น่าจะทำความเข้าใจเรื่อง Concept ก่อนค่ะ

  • ทำมาเหอะ เวลาผ่านไปเร็วเหลือเกิน

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร