เรื่องของกระดาษชำระ

     ในอดีตก่อนที่จะมีการใช้กระดาษชำระนั้นมนุษย์เราใช้วัสดุต่างๆ รวมทั้งน้ำในการชำระล้างสิ่งสกปรกและสิ่งปฏิกูลเพื่อความสะอาดและเพื่อสุขอนามัยที่ดี แต่เมื่อโลกมีการพัฒนาและมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยขึ้นจึงเริ่มค้นคว้าและผลิตสิ่งต่างๆมาใช้เพื่อความสะดวกในชีวิตประจำวัน  กระดาษชำระหรือที่เราเรียกกันว่ากระดาษทิชชูนั้น เป็นผลิตภัณฑ์อีกชนิดหนึ่งที่มีความสำคัญต่อผู้คนในยุคนี้ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าสิ่งของอื่นๆที่จำเป็นต้องมีไว้ใช้สอยทั้งในครัวเรือน สำนักงาน และสถานประกอบการต่างๆจะต้องมีไว้ใช้เพื่อแสดงถึงสุขอนามัยที่ดี และเพื่ออำนวยความสะดวกในการเช็ดทำความสะอาด ทั้งขณะรับประทานอาหาร หรือการใช้บริการในห้องน้ำห้องส้วม ใช้แล้วทิ้งได้เลยไม่ต้องนำไปซักล้างเหมือนผ้า แต่ยิ่งนิยมใช้กันมากเท่าใดก็ยิ่งเป็นการช่วยกันทำร้ายและทำลายสิ่งแวดล้อมของโลกเรามากเท่านั้น เพราะเจ้ากระดาษแผ่นบางๆนี้เป็นผลิตผลจากเยื่อของต้นไม้นั่นเอง การจะได้เยื่อจากต้นไม้ก็ต้องโค่นต้นไม้มาจึงจะนำมาแปรรูปได้ แม้กระทั่งกระบวนการผลิตที่ต้องใช้สารเคมีต่างๆก็ก่อให้เกิดมลภาวะอันตรายต่อโลกเช่นกัน
       ต้นกำเนิดของกระดาษชำระนั้นเกิดขึ้นและมีใช้เป็นครั้งแรกที่ประเทศจีนในสมัยราชวงศ์หมิง ในศตวรรษที่ 14 ประมาณปีค.ศ. 1368-1644 ผลิตใช้กันเฉพาะในราชสำนักและเฉพาะองค์จักรพรรดิเท่านั้น แต่ประเทศแรกที่ผลิตออกมาจำหน่ายก็คือประเทศอเมริกา โดยนายโจเซฟ เกเยตตี ในปีค.ศ. 1857 แต่ไม่ได้รับความนิยมแต่ประการใดเพราะคนในยุคนั้นยังนิยมใช้กระดาษเก่าๆทั่วไปที่มีอยู่และหาได้ง่ายกว่า ไม่ต้องไปเสียเงินซื้อให้สิ้นเปลืองและเป็นของฟุ่มเฟือยใช้ได้ครั้งเดียวก็ทิ้งไป  จนกระทั่งอีก 20 ปีต่อมามีการใช้ส้วมชักโครกและห้องน้ำสมัยใหม่ภายในอาคารเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางจึงมีสองพี่น้องตระกูลสก็อต เริ่มผลิตกระดาษชำระอีกครั้งโดยมีการปรับปรุงคุณภาพให้เนื้อกระดาษนุ่มกว่าเดิมแล้วออกวางจำหน่ายใช้ชื่อว่า “สก๊อตทิชชู” ภายหลังมีผู้ผลิตรายอื่นๆอีกมากมายที่ทำผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ออกมาแข่งขันทางการตลาดกันอย่างดุเดือด เนื่องจากเป็นที่นิยมใช้กันอย่างกว้างขวางจนกระทั่งปัจจุบันนี้ สำหรับวัตถุดิบที่นำมาผลิตเป็นกระดาษชำระนั้นมี 2 ประเภทคือ 1. กระดาษที่ได้จากเยื่อบริสุทธิ์ 100% จากต้นไม้โดยผ่านกระบวนการคัดแยกเยื่อจากต้นไม้ จะให้ความขาวและนิ่มกว่า 2. กระดาษที่ได้จากเยื่อเวียนใหม่ 100% หรือกระดาษรีไซเคิล โดยใช้กระดาษที่ใช้แล้วนำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งผ่านกระบวนการกำจัดสิ่งปลอมปน หมึกพิมพ์ สารเคมีต่างๆ ผ่านการฟอกสี จนได้เยื่อกระดาษมาผลิต
             กระดาษชำระหรือกระดาษทิชชูนั้นมีหลายประเภทด้วยกัน แบ่งตามลักษณะของการใช้งานได้แก่  1. กระดาษชำระ (Toilet Tissue หรือ Toilet Paper) ใช้ในห้องส้วมสำหรับเช็ดทำความสะอาดหลังจากขับถ่าย กระดาษจะเป็นแบบม้วนกลมเนื้อบางเบาและยุ่ยเปื่อยง่ายสลายตัวเร็วเมื่อเปียกน้ำ  2. กระดาษเช็ดหน้า (Facial Tissue) ใช้สำหรับซับหน้าหรือเช็ดเครื่องสำอางค์ กระดาษจะเหนียวนุ่มมักบรรจุในกล่องสี่เหลี่ยม นิยมใช้สีขาว 3. กระดาษเช็ดปาก (Table Napskins) ใช้แทนผ้าเช็ดปากบนโต๊ะอาหาร มีความเหนียวนุ่ม 4. กระดาษเช็ดมือ (Hand Towel)และกระดาษชำระอเนกประสงค์ (PaperTowels) ใช้ในงานบ้านทั่วไปเพื่อเช็ดทำความสะอาดพื้น โต๊ะ และอื่นๆแทนการใช้ผ้า มีความเหนียวกว่าชนิดอื่นๆ มีความกว้างประมาณ 9-10 นิ้ว เป็นแบบม้วนกลม 
        กระดาษชำระหรือกระดาษทิชชูนั้นโดยทั่วไปนิยมใช้สีขาว  อเมริกาเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกและเป็นผู้ใช้มากที่สุดในโลกด้วย  ไต้หวันเป็นประเทศแรกที่ใช้กระดาษชำระแบบแผ่น pop up แต่ที่น่าสนใจเกี่ยวกับประเทศไทยของเราก็คือ กระดาษชำระเป็นตัวชี้วัดระดับมาตรฐานของโรงแรมในประเทศไทย!!
        จะเห็นได้ว่าถึงแม้จะเป็นแค่กระดาษชำระที่ใช้แล้วต้องทิ้งมิอาจนำกลับมาใช้ได้ใหม่เหมือนเช่นกระดาษอื่นๆ แต่แทบทุกครอบครัวก็ต้องซื้อหามาไว้ใช้อย่างน้อยก็ต้องมีอยู่ในห้องน้ำห้องส้วมของบ้าน และปริมาณการใช้ก็มีแต่จะเพิ่มมากขึ้น จนกระทั่งจัดเป็นสินค้าควบคุมราคาอย่างหนึ่งของประเทศไทยไปแล้วอย่างไม่น่าเชื่อ แถมยังมีการโฆษณาแข่งขันกันทางการตลาดอีกต่างหาก  จึงอย่ามองข้ามกระดาษแผ่นบางๆที่ใช้กันอย่างเพลิดเพลินเพราะมันคือปริมาณของต้นไม้ที่ต้องถูกทำลายด้วยมือของเราเอง            
 

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร