การวางแผนกลยุทธ์ : เครื่องมือนำทางองค์การแบบการมีส่วนร่วม : ตอนที่ 1/1
สืบเนื่องจากได้อ่านบทความ แผนกลยุทธ์ขององค์กร ในบล๊อกของคุณ สุกัญญาและเห็นด้วยว่า น่าเสียดายที่ไม่ได้จัดสัมมนา เรื่องแผนยุทธศาสตร์ของสำนักหอสมุดกลาง ดังนั้นจึงต้องขอบคุณคุณสุกัญญาที่ได้เขียนบทความนี้ขึ้นมา
โดยส่วนตัวสนใจเรื่องของแผนยุทธศาสตร์และได้ทำวิจัยในระดับปริญญาเอกเกี่ยวกับแผนยุทธศาสตร์ขององค์การเลยขอนำข้อมูลในงานตัวเองมาเรียบเรียงใหม่เป็นการเรียบเรียงเกี่ยวกับ การวางแผนกลยุทธ์โดยประกอบด้วย บทนำเกี่ยวกับการวางแผนกลยุทธ์ องค์ประกอบของการวางแผนกลยุทธ์,กระบวนการของการวางแผนกลยุทธ์และรูปแบบของการวางแผนกลยุทธ์ เพื่อนาเสนอแลกเปลี่ยนกับทุกท่านและเพื่อเป็นการเตรียมข้อมูลในการทำแผนกลยุทธ์หรือ แผนยุทธศาสตร์ขององค์การต่อไป
แผนกลยุทธ์หรือแผนยุทธศาสตร์ (Strategic Planning) เป็นเครื่องมือทางการบริหารอย่างหนึ่งที่มีประโยชน์มากในองค์การเป็นเสมือนการกำหนดเส้นทางเดินขององค์การในอนาคตและที่สำคัญมากคือ เป็นสิ่งที่ทุกคนในองค์การนั้นๆช่วยกันกำหนดขึ้นมาร่วมกัน ทำให้ทุกคนรู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไรและจะทำอย่างไรที่จะไปถึงจุดนั้น ซึ่งแตกต่างจากการวางแผนในรูปแบบเดิมที่ถือว่าเป็นหน้าที่ของผู้บริหารในการกำหนดอนาคตขององค์การ
ในบทความนี้จะนำเสนอเรื่องเกี่ยวกับความหมายของการวางแผน ความหมายของกลยุทธ์และการวางแผนกลยุทธ์และองค์ประกอบของการวางแผนกลยุทธ์ และกระบวนการของการวางแผนกลยุทธ์ดังนี้
การวางแผนเป็นกระบวนการหนึ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งของการบริหารนักวิชาการทางการบริหารหลายคนได้ให้ความหมายคำว่า การวางแผน ไว้ต่างๆ กันดังนี้
ฮาโรลด์ คูนท์และโอ ดอนเนลล์ (Harold Koontz and O’Donnell, 1968 : 81) กล่าวไว้ว่า การวางแผนคือ การตัดสินใจเลือกไว้ล่วงหน้าว่าจะทำอะไร ทำเมื่อไหร่ ทำที่ไหน ใครเป็นคนทำ และทำอย่างไรดังนั้นการวางแผนคือ กระบวนการที่เกี่ยวกับการเตรียมการกระทำ อย่างใดอย่างหนึ่งในอนาคต เพื่อจะให้บรรลุถึงเป้าหมายถึงเป้าหมายที่วางไว้ด้วยวิธีการที่ดีที่สุด
เคสท์และโรเซนส์ไวค์ (Kast and Rosenzwieg, 1970 : 435-436) ให้ความหมายว่าการวางแผน หมายถึง กระบวนการตัดสินใจล่วงหน้าว่าจะทำอะไร อย่างไร มีการเลือก วัตถุประสงค์ นโยบาย โครงการ และวิธีการปฏิบัติเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์นั้น
แวน กุนสเตอร์น (Van Gunsteren, 1976 : 2-3) ให้ความหมายการวางแผนว่าหมายถึง การประมวลกิจกรรมด้านต่างๆขององค์การให้ดำเนินงานไปอย่างต่อเนื่องและสอดประสานกันจึงจะต้องกระทำร่วมกันอย่างเป็นระเบียบเพื่อจะทำให้ทุกคนในองค์การมีความผูกพันและมุ่งมั่นที่จะผลักดันให้แนวทางการดำเนินงานด้านต่างๆดำเนินการไปได้อย่างราบรื่น
อีกอร์ อันซอฟฟ์ (Igor Ansoff, 1977 : 1) กล่าวว่า การวางแผนเป็นกระบวนการตัดสินใจที่เริ่มจากการกำหนดจุดมุ่งหมาย การพิจารณาทางเลือกและการวิเคราะห์เปรียบเทียบทางเลือกต่างๆซึ่งในขั้นตอนต่างๆจะต้องอาศัยเครื่องมือ
เอช. จี. ฮิกส์ (H.G. Hicks, 1981 : 8 ) อธิบายว่า การวางแผนเป็นหน้าที่ของการบริหารประการแรกที่กระทำเพื่อกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งโดยเฉพาะ การที่จะวางแผนให้มีความสำเร็จผลนั้น จำเป็นต้องมีการวิเคราะห์ข้อมูลตัวเลขจากอดีต การตัดสินใจปัจจุบันและมีการประเมินอนาคตด้วย
ปีเตอร์ เอฟ ดรัคเกอร์ (Peter F. Drucker, 1982 : 65) กล่าวไว้ว่า “การวางแผน” เป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องกันในการตัดสินใจของการประกอบการอย่างมีระบบและด้วยความรอบรู้รวมทั้งกระบวน การที่รวบรวมขึ้นอย่างเป็นระเบียบที่ใช้วิธีการใดๆอันจำเป็นที่ทำให้แผนงานบรรลุความมุ่งหมายโดยต้องอาศัยการวัดผลของการตัดสินใจเปรียบเทียบการคาดคะเนขึ้นอย่างมีระบบ
เฮนรี มินเบอร์ก (Henry Minzberg, 1994 : 12) ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า “การวางแผน” เป็นกระบวนการที่เป็นทางการ โดยคำนึงถึงการบูรณาการหรือเชื่อมโยงระบบการตัดสินใจของหน่วย- งานต่างๆ เข้าด้วยกันอันจะนำไปสู่ การกำหนดวิธีการดำเนินงานที่ชัดเจนเพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายหรือผลลัพธ์ที่ต้องการร่วมกัน
สรุปได้ว่าการวางแผนหมายถึง วิธีการ รูปแบบหรือกระบวนการตัดสินใจล่วงหน้าว่าจะทำอะไร อย่างไร เมื่อใด และใครเป็นผู้กระทำ โดยมีเป้าหมายให้เกิดผลที่ต้องการในอนาคตตามที่คาดหวังไว้ 😀
ส่วนข้างล่างเป็นบรรณานุกรมครับ …