เวลาที่เหลืออยู่
หากผู้คนแต่ละคนมีอายุขัย 70 ปี จะพบว่า แต่ละคนมีเวลาเท่ากันคือ
= 840 เดือน
= 25,550 วัน
= 613,200 ชั่วโมง
เคยสงสัยหรือไม่ว่าผู้คนแต่ละคนมีเวลาเท่ากันคือ ใน 1 วันมี 24 ชั่วโมง แต่ทำไมเขาจึงสร้างผลงานหรือประสบผลสำเร็จได้ไม่เท่ากัน
เมื่อพิจารณาดูดี ๆ จะพบว่าธรรมชาติของเวลามีลักษณะ คือ
1. เป็นทรัพยากรที่ทุกคนมีเท่ากันไม่ว่ารวยหรือจน คือ ใน 1 วัน มี 24 ชั่วโมง
2. เป็นทรัพยากรที่มีจำกัด ใช้แล้วหมดไป ไม่สามารถเก็บไว้ได้
3. ไม่สามารถซื้อหรือขอเวลาเพิ่มได้
4. เวลาจะผ่านไปเรื่อย ๆ ไม่สามารถจะย้อนกลับมาได้
คนหลาย ๆ คน มีมุมมองต่อระยะของเวลาที่แตกต่างกัน เวลาอาจแสนสั้นเหลือเกินสำหรับคนบางคน แต่อาจยาวนานเกินไปสำหรับคนบางคน คนเราไม่สามารถทำอะไรได้ครบทุก ๆ สิ่งตามที่ต้องการในเวลาอันจำกัด การบริหารเวลาจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ทุกคนต้องกระทำ เพื่อให้ใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่าตามเวลาที่เหลืออยู่ หลักที่ใช้ในการบริหารเวลาที่ใช้กันกันอยู่ชนิดหนึ่งคือ หลักของปาเรโต้ หรือ กฎ 80/20
หลักของปาเรโต้ หรือ กฎ 80/20 คิดขึ้นโดยนักเศรษฐศาสตร์ชาวอิตาลี ชื่อ วิลเฟรโด้ ปาเรโต้ (Vilfredo Pareto) ในปี ค.ศ. 1960 เขาได้สร้างสูตรคณิตศาสตร์ขึ้นมาอธิบายการแพร่กระจายความมั่งคั่งในประเทศอิตาลีที่เกิดขึ้นอย่างไม่เท่าเทียมกัน ด้วยการสังเกตเห็นว่า ประชากรจำนวน 20 เปอร์เซ็นต์ ครอบครองความร่ำรวยในปริมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ของความร่ำรวยทั้งหมด
กฎ 80/20 มีความหมายว่า อะไรก็ตามที่มีจำนวนน้อย (ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์) เป็นส่วนที่มีความสำคัญ และจำนวนที่มาก (ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์) เป็นส่วนที่สำคัญน้อย หรือเรียกง่าย ๆ ว่า “จำนวนน้อยที่สำคัญมาก และจำนวนมากที่สำคัญน้อย” หากคุณสังเกตการใช้ชีวิตประจำวันแต่ละวันจะพบว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำตลอดทั้งวันจะมีเพียง 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่มีความสำคัญจริง ๆ, 80 เปอร์เซ็นต์ของเสื้อผ้าที่ถูกใช้เป็นประจำ มาจาก 20 เปอร์เซ็นต์ของเสื้อผ้าที่มีอยู่, 80 เปอร์เซ็นต์ของร้านอาหารกลางวันที่รับประทานเป็นประจำ มาจาก 20 เปอร์เซ็นต์ของร้านอาหารทั้งหมดที่มีอยู่ในโรงอาหาร เป็นต้น
หลักการ 80/20 มาจากแนวคิดที่ว่า ทุกอย่างไม่ได้เป็นเส้นตรง สิ่งที่เกิดขึ้นจำนวนมหาศาลที่ไม่สำคัญ สามารถตัดทิ้งไปได้ มีพลังงานจำนวนน้อยเท่านั้นที่ก่อให้เกิดผลดีมหาศาล…การเติบโตของสิ่งที่สำคัญจำนวนน้อยจะเติบโตเป็นเท่าทวีคูณมากขึ้นอย่างรวดเร็ว เหตุนี้คนรวยจะยิ่งรวยเร็วขึ้น ไม่ใช่เพราะเขาเก่งกว่าแต่เขาอยู่ในส่วนที่ทำให้ทวีตัวได้รวดเร็ว (อานันท์ ชินบุตร 2548 : 21) เราจึงจะไม่มองที่งานเล็ก แต่เรามองที่งานสำคัญซึ่งจะส่งผลที่ให้ประโยชน์สูงสุด เราจะไม่เสียเวลาไปกับกิจกรรมที่เสียแรงแต่ได้ผลน้อย เราจะมีเวลาพักผ่อน เราจะมีเวลาได้คลายเครียด เราจะมีเวลาได้ใช้สมองไปกับเรื่องที่ทำให้เรามีความสุข ความสำเร็จที่เหนือชั้นมาจากการทุ่มเทแรงพยายามไปในสิ่งที่จะส่งผลดีขนาดใหญ่ระยะยาวโดยลงแรงน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ (อานันท์ ชินบุตร 2548 : 38)
กฎ 80/20 ไม่ได้ให้คนเห็นแก่ตัว แต่ให้รู้จักเลือกกระทำในสิ่งที่มีความสำคัญ ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ก่อน แล้วค่อย ๆ ขยายการกระทำในส่วนที่เหลืออีกประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ให้ครบ 100 เปอร์เซ็นต์ โดยให้พยายามเลือกกระทำในส่งที่เป็นสาระสำคัญก่อน ไม่หมกมุ่นอยู่แต่การลงรายละเอียดนานเกินไปจนไม่มีเวลาเหลือพอสำหรับการกระทำในสาระสำคัญ ตัวอย่างเช่น มหาเศรษฐีที่ป่วยใกล้จะตาย มีสิ่งที่เขาต้องกระทำแต่ยังไม่ได้ทำเหลืออยู่อีก 10 อย่าง แต่เวลาที่เขาจะมีชีวิตเหลืออยู่น้อยมาก ดังนั้นเขาจึงต้องเลือกกระทำในสิ่งที่เขาคิดว่าจะก่อให้เกิดผลดีมากที่สุดก่อน เขาจึงเลือกทำพินัยกรรมเป็นอันดับแรก เพื่อตัดปัญหาการทะเลาะวิวาทในการแย่งมรดกกันในหมู่ญาติพี่น้องและคนในครอบครัวของเขา และค่อย ๆ ทำในสิ่งที่เหลือที่มีความสำคัญลำดับถัดไปเรื่อย ๆ จนกว่าเขาจะหมดลมหายใจ เป็นต้น
ดังนั้นในการใช้ชีวิตประจำวันที่มีอยู่จำนวน 24 ชั่วโมง จึงควรแบ่งเวลาให้เหมาะสมเพื่อรักษาความสมดุลในชีวิตแต่ละด้าน ได้แก่ หน้าที่การงาน ครอบครัว คนที่คุณรัก คนรอบข้าง การพักผ่อน การรักษาสุขภาพ และทำในสิ่งที่คุณรัก โดยแต่ละด้านกระทำ 20 เปอร์เซ็นต์ที่มีความสำคัญก่อน หากมีเวลาเหลือจึงค่อย ๆ ขยายการกระทำในส่วนที่เหลืออีกประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ให้ครบ 100 เปอร์เซ็นต์ เพื่อจะได้ไม่กินเวลาในด้านอื่น ๆ ไป โดยฝึกทำให้เคยชินจะก่อให้เกิดความสุข และไม่เกิดความเครียด ซึ่งอะไรที่ทำซ้ำ ๆ ผ่านไปช่วงเวลาหนึ่งจะกลายเป็นนิสัย นิสัยจะชี้นำชีวิตคุณ หากต้องการความสำเร็จ ต้องรู้จักบ่มเพาะนิสัยที่ดี นิสัยที่ดีเกิดจากการลงมือทำสิ่งที่มีประโยชน์ต่อตนเอง ทำซ้ำ ๆ จนกลายเป็นสิ่งเคยชิน และเป็นส่วนหนึ่งของตัวคุณ (แอนโทนี รอบบินส์, อ้างถึงใน วิศิษฐ์ ศรีพิบูลย์ 2552 : 185)
คุณมีเวลาในชีวิตแค่สองหมื่นกว่าวันเท่านั้น ดังนั้น อย่านั่งรอโชคลาภ อย่ามัวแต่คิดถึงความเจ็บปวดหรือความล้มเหลวในอดีต ในเวลาที่เหลืออยู่ของชีวิตนี้หากยังไม่ได้ทำอะไรดี ๆ ให้กับชีวิตและคนรอบข้างก็รีบ ๆ ทำซะ เพราะเผลอแป๊บเดียวก็หมดเวลาไปอีกหนึ่งวันแล้ว ทำวันนี้ให้เหมือนกับวันสุดท้ายที่คุณมีชีวิตอยู่ อย่าผลัดวันประกันพรุ่ง เพราะพรุ่งนี้อาจไม่มีเวลาเหลืออยู่ให้ทำอะไรได้อีก
บรรณานุกรม
วิศิษฐ์ ศรีพิบูลย์. The Lord of Time เทพแห่งกลาลเวลา. กรุงเทพมหานคร : บานานา สวีท, 2552.
อานันท์ ชินบุตร. คิดแบบกฎ 80/20. กรุงเทพมหานคร : กู๊ดมอร์นิ่ง, 2548.
2 thoughts on “เวลาที่เหลืออยู่”
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.
น่ากลัว… ฟังเพลงแสนล้านนาทีดีกว่าน่าร้ากกก
รู้สึกคุ้นๆ กับเรื่องนี้น่าจะเป็นของคุณกวีที่เขียนลงไว้
ของหนูใหญ่ให้แนวคิดเกี่ยวกับการจัดสรรเวลาให้ได้สิ่งดีดีเพิ่มขึ้นมาด้วย