EM Ball

em ball
สถานการณ์น้ำท่วมปี 2554 นี้ถือได้ว่าร้ายแรงก่อความเสียหายอย่างใหญ่หลวง หนำซ้ำต้องอยู่กับน้ำเน่าขังที่เหม็นอีก วันนี้มีวิธีทำ EM ball ที่หลายคนหลายฝ่ายอาจมีความคิดขัดแย้งกันว่าใช้แก้ปัญหาน้ำเน่าเหม็นได้จริงหรือ ก็ต้องทดลองพิสูจน์กันไป
วิธีทำไม่ยาก เริ่มจาก
1. นำดินธรรมชาติที่มีลักษณะของเส้นใยของเชื้อราขาวๆ ซึ่งพบได้ในบริเวณที่มีใบไม้แห้ง ใบไม้ผุกองทับถมกัน หากหาไม่ได้ให้ใช้เปลือกผลไม้สุก เช่น เปลือกสับปะรด
2. นำวัสดุข้างต้นใส่ถังหมัก เติมน้ำให้พอท่วมวัสดุ จากนั้นให้เติมน้ำตาลทรายหรือกากน้ำตาล อัตราส่วน 1 : 1 หมายความว่าใส่วัสดุดินธรรมชาติหรือเปลือกผลไม้น้ำหนักเท่าใด ก็เติมน้ำตาลหรือกากน้ำตาลเท่ากัน ถ้าไม่มีตาชั่งก็ใช้วิธีประมาณเอา
3. ผสมคลุกเคล้าให้น้ำตาลหรือกากน้ำตาลละลายดี ปิดปากถังหมักด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ จะช่วยให้มีอากาศเข้าออกได้เพราะจุลินทรีย์ต้องการใช้อากาศในการเพิ่มจำนวน ปล่อยทิ้งไว้หรือหมักไว้ประมาณ 1 สัปดาห์
จากนั้นให้กรองเอาน้ำหมักซึ่งคือส่วนที่เป็นหัวเชื้อจุลินทรีย์ไปใช้งาน
การทำก้อนจุลินทรีย์ หรือ EM ball ใช้วัตถุดิบ 4 อย่าง คือ 1) ดินธรรมชาติ ดินเลน หรือขี้เถ้าแกลบ 2) รำข้าว 3) หัวเชื้อจุลินทรีย์ที่เตรียมไว้แล้ว 4) น้ำตาลหรือกากน้ำตาล
ขั้นตอนการทำ EM ball
1) นำเอาดินธรรมชาติหรือขี้เถ้าแกลบ มาผสมให้เข้ากันกับรำข้าว ในอัตราส่วน 1 : 1 (ใช้ปริมาณเท่ากัน)
2) นำเอาหัวเชื้อจุลินทรีย์มาผสมกับน้ำตาลหรือกากน้ำตาลและผสมน้ำด้วยในอัตราส่วน 1 : 1 : 10 เช่นใช้หัวเชื้อ 1 ลิตร ต่อน้ำตาล 1 ลิตร ต่อน้ำ 10 ลิตร
3) นำวัสดุที่เตรียมได้ในข้อ 1 มาผสมกับหัวเชื้อจุลินทรีย์ที่เตรียมได้ในข้อ 2 เทคนิคสำคัญคือ ค่อยๆ เติมหัวเชื้อจุลินทรีย์ผสมในวัสดุ แล้วคลุกให้เข้ากันดีจนเป็นเนื้อที่สามารถปั้นเป็นก้อนได้ วิธีทดสอบง่ายๆ ลองปั้นเนื้อดินที่ผสมให้กำหลวมๆ แล้วปล่อยมือออก ถ้าวัสดุยังจับตัวเป็นก้อนอยู่ก็ใช้ได้
4) ก้อนจุลินทรีย์ที่ปั้นยังใช้งานไม่ได้ ต้องนำไปบ่มเสียก่อนโดยวางเรียงไว้ในที่ร่ม ไม่ให้้โดนแสงแดดหรือฝน เป็นที่มีอากาศถ่ายเท เอากระสอบป่านหรือผ้าคลุมไว้เพื่อรักษาอุณหภูมิ บ่มแบบนี้ 10-14 วัน ขณะที่บ่มหรือหมักจะมีความร้อนเกิดขึ้น บางครั้งอาจสูงถึง 70 องศาเซลเซียส จึงไม่ควรวางเรียงซ้อนกันเป็นกองสูงมากนัก
เมื่อได้ระยะเวลาตามกำหนดแล้วก็นำไปใช้ในที่มีน้ำท่วมขังและเน่าเสียได้เลย (จะได้พิสูจน์เสียทีว่าใช้ได้ดีจริงไหม) มีบางคนสงสัยว่าจุลินทรีย์แบบน้ำใช้ได้ไหม เพราะมีบางคนทำไว้ใส่ในท่อน้ำทิ้งและในโถส้วมอยู่แล้ว คำตอบคือใช้แก้ขัดไปได้แต่ไม่ดีนัก เพราะจุลินทรีย์เหลวจะช่วยได้เฉพาะผิวๆ น้ำและกระจายหายไปหมด สำหรับผู้ที่ไม่ต้องการรอตามขั้นตอนหรือไม่สะดวกในการทำเองและไปซื้อจากบริษัทร้านค้านั้น เชื้อในขวดที่มาจากโรงงานต้องนำมากระตุ้นเสียก่อนจึงออกฤทธิ์ได้ดี โดยการใช้จุลินทรีย์สำเร็จรูป 1 ลิตร ผสมน้ำตาลหรือกากน้ำตาลประมาณ 2-3 ช้อนโต๊ะ แล้วต้องหมัก 2-7 วัน เพื่อกระตุ้นจุลินทรีย์ก่อนนำมาใช้เป็นหัวเชื้อซึ่งต้องใช้เวลารอเหมือนการทำเองเช่นกัน
จาก มติชนสุดสัปดาห์ 31, 1627 (21-27 ต.ค. 2554) : 93
วิธีที่ง่ายที่สุดที่จะหา EM ball มาใช้คือติดต่อขอจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องนั่นเอง เช่น คณะอักษรศาสตร์ ม.ศิลปากร

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร