แผนยุทธศาสตร์ขององค์กร

วันศุกร์ที่ 14 และวันเสาร์ที่ 15 ตุลาคม 2554 สำนักหอสมุดกลาง มศก. จะจัดสัมมนา เรื่อง แนวทางการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ. 2556-พ.ศ. 2560 ณ โรงแรมพาวีเลี่ยน ริมแคว รีสอร์ท จังหวัดกาญจนบุรี โดยจะมีการรายงานผลการประเมินแผนยุทธศาสตร์สำนักหอสมุดกลาง พ.ศ. 2552-พ.ศ. 2555 และการบรรยายเรื่อง แนวทางการจัดทำแผนยุทธศาสตร์สำนักหอสมุดกลาง พ.ศ. 2555-พ.ศ. 2560 โดย อาจารย์ ดร.ศักดิพันธ์ ตันวิมลรัตน์ ว่าที่ท่านผู้อำนวยการของเราที่จะเข้ามารับตำแหน่งแทนอาจารย์ ดร.นรงค์ ฉิมพาลี ซึ่งจะทำงานครบวาระในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2554 ที่จะถึงนี้
ทราบกันหรือไม่ค่ะว่า “แผนยุทธศาสตร์” คืออะไร มาทำความเข้าใจกันดีกว่า
คำว่า “แผน” ตามพจนานุกรมฉบับบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ให้ความหมายไว้ว่า “สิ่งที่กำหนดถือเป็นแนวดำเนิน เช่น วางแผน, แบบ, ตำรา เช่น แผนโบราณ แผนปัจจุบัน” ซึ่งแผนต่าง ๆ ที่องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนได้กำหนดไว้นั้น แบ่งออกเป็น (1) แผนระยะสั้น เป็นแผนซึ่งมีระยะเวลาดำเนินการ 1-2 ปี เช่น แผนปฏิบัติงานประจำปี (2) แผนระยะปานกลาง มีระยะเวลาดำเนินการ 3-5 ปี เช่น แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (3) แผนระยะยาว มีระยะเวลาดำเนินการ 5-10 ปี และ (4) แผนระยะยาวมาก มีระยะเวลาดำเนินการ 10-20 ปี
แผนยุทธศาสตร์” (Strategy) วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ได้ให้ความหมายไว้ว่า ยุทธศาสตร์ หรือ กลยุทธ์ หมายถึง การวางแผนงานสู่การปฏิบัติเพื่อบรรลุเป้าหมาย ภายใต้การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม หรือการวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ SWOT Analysis กล่าวคือ การวิเคราะห์ จุดอ่อน จุดแข็ง โอกาส และภัยคุกคาม (อุปสรรค) ในกรอบระยะเวลาที่ต้องการ ทั้งนี้เพื่อประกอบการวางแผนการในการใช้วิธีการและทรัพยากรเพื่อให้บรรลุเป้าหมายสูงสุด
แผนยุทธศาสตร์หรือแผนกลยุทธ์นั้น ถือเป็นแนวทาง วิธีการหรือมาตรการเชิงรุก ซึ่งจัดทำขึ้นโดยกลุ่มบุคคลในระดับผู้บริหารขององค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ต่าง ๆ กัน ในการกำหนดยุทธศาสตร์จะดำเนินการดังนี้
1. การตรวจสอบสภาพแวดล้อมและวิเคราะห์องค์กร เพื่อดูว่าปัจจุบันองค์กรอยู่ ณ จุดใด สิ่งใดที่เป็นสิ่งฉุดรั้งให้องค์กรอยู่กับที่หรือถอยหลัง และสิ่งใดที่สนับสนุนให้องค์กรก้าวไปข้างหน้า ที่นิยมใช้กันคือ การวิเคราะห์ SWOT ดังนี้
1.1 วิเคราะห์ปัจจัยภายในขององค์กร ได้แก่ จุดแข็ง (Strengths) ซึ่งเป็นลักษณะ องค์ประกอบ หรือสิ่งที่องค์กรทำได้ดีเหนือกว่าองค์กรอื่น เช่น จุดแข็งด้านความรู้ ความสามารถของทรัพยากรบุคคล ฯลฯ และจุดอ่อนหรือจุดด้อย (Weakness) ซึ่งเป็นลักษณะ องค์ประกอบ หรือส่งที่องค์กรทำได้ด้อยกว่าองค์กรอื่น เช่น อาคารสถานที่คับแคบไม่เพียงพอกับจำนวนผู้ใช้บริการที่มีมาก ฯลฯ
1.2 วิเคราะห์ปัจจัยภายนอกองค์กร ได้แก่ โอกาส (Opportunities) และภัยคุกคามหรืออุปสรรค (Threats) ซึ่งปัจจัยภายนอกที่มีผลกระทบต่อองค์กร ได้แก่ สภาพแวดล้อมทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี หากสภาพแวดล้อมดังกล่าวเป็นสิ่งที่ส่งเสริมหรือเป็นประโยชน์ต่อองค์กรก็จะถือว่าเป็นโอกาส เช่น ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีทำให้หอสมุดสามารถนำมาใช้ในการพัฒนาการให้บริการสารสนเทศออนไลน์ได้ดียิ่งขึ้น, หอสมุดเป็นองค์กรของรัฐที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับของประชาชนจึงมีผู้มาใช้บริการจำนวนมาก ฯลฯ หากสภาพแวดล้อมดังกล่าวทำให้องค์กรเสียหายหรือกระทบต่อการดำเนินงานขององค์กรในทางลบก็จะถือว่าเป็นอุปสรรค เช่น ถูกตัดลดงบประมาณ, อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศสูงขึ้นทำให้ราคาสื่อการศึกษาที่จัดซื้อจากต่างประเทศสูงขึ้นทำให้จัดซื้อได้ในปริมาณที่ลดลง ฯลฯ
2. การกำหนดทิศทางขององค์กร โดยการกำหนดวิสัยทัศน์ (Vision) ซึ่งจะเป็นการบ่งบอกถึงภาพหรือสิ่งที่องค์กรต้องการบรรลุผลหรืออยากจะเป็นในอนาคต ภารกิจหรือพันธกิจ (Mission) เป็นสิ่งที่บอกถึงจุดมุ่งหมายขององค์กร บ่งบอกถึงสิ่งที่องค์กรต้องการจะทำให้ประสบความสำเร็จ และเป้าหมาย (Goals) คือ สถานะในอนาคตที่องค์กรปรารถนาให้บรรลุความสำเร็จ เช่น ยุทธศาสตร์การพัฒนาข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2552-พ.ศ. 2556 ของ ก.พ. กำหนดวิสัยทัศน์ คือ ในปี พ.ศ. 2556 ข้าราชการพลเรือนต้องมีสมรรถนะในการปฏิบัติราชการอย่างมืออาชีพเป็นที่เชื่อถือศรัทธาของประชาชน พันธกิจ คือ เสริมสร้างพัฒนาผู้นำและข้าราชการพลเรือนทุกระดับตามสมรรถนะและใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง เป้าหมาย คือ เพื่อพัฒนาและเพิ่มพูนความรู้ ทักษะ และสมรรถนะของข้าราชการทุกระดับให้ปฏิบัติงานอย่างมืออาชีพ เกิดผลสัมฤทธิ์ คุ้มค่า เป็นที่เชื่อถือศรัทธาของประชาชน
3. การกำหนดยุทธศาสตร์หรือกลยุทธ์ กลุ่มบุคคลในระดับผู้บริหารขององค์กรจะต้องกำหนดและเลือกกลยุทธ์ทีดี และเหมาะสมกับองค์กรที่สุดภายใต้ข้อจำกัดหรือข้อได้เปรียบขององค์กร ในแต่ะละกลยุทธ์จะต้องระบุแนวทางหรือมาตรการในการดำเนินการไว้ด้วย
ถึงแม้ว่าแผนยุทธศาสตร์หรือกลยุทธ์ต่าง ๆ จะกำหนดโดยผู้บริหาร แต่การขับเคลื่อนและดำเนินการต่าง ๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามแผนกลยุทธ์เป็นเรื่องที่บุคลากรทุกคนต้องมีส่วนร่วม ดังนั้นบุคลากรทุกคนต้องทำความเข้าใจและร่วมแรงร่วมใจกันปฏิบัติหน้าที่ตามภารกิจต่าง ๆ ที่ได้รับมอบหมายเพื่อให้องค์กรบรรลุผล เหมือนลงเรือลำเดียวกันแล้วก็ต้องช่วยกันพายเพื่อให้ถึงจุดหมายปลายทางพร้อมกันเร็ว ๆ นะค่ะ

บรรณานุกรม

ราชบัณฑิตยสถาน.  พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542.  กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์, 2546.
วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี.  ยุทธศาสตร์ [ออนไลน์].  เข้าถึงเมื่อ 6 ตุลาคม 2554.  เข้าถึงได้จาก http//widipedia.org/wiki/
สุมิตร  สุวรรณ.  การกำหนดยุทธศาสตร์ (Strategy Formulation).  นครปฐม : เพชรเกษมพริ้นติ้ง กรุ๊ป, 2554.

2 thoughts on “แผนยุทธศาสตร์ขององค์กร

  • อ่านแล้ว เหมือนได้ไปสัมมนาด้วยตนเองเลย แม้จะประกาศยกเลิกก็ตามที…

  • ลองทำแผนยุทธศาสตร์ของงานเราเลยพี่ติ๋ว

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร