งานในห้องสมุด

หนูเล็กยกหนังสือมาให้ตั้งหนึ่ง แล้วถามว่าเจ้คิดอย่างไร อะไรคือปัญหา
น่านสิ ยากนะที่จะหาคำตอบแบบฟันธง เด๊ะๆ
เรื่องของเรื่องคือห้องสมุดเรามีกลุ่มที่ตัวเองขนานนามว่า young gen (eration) (แม้วัยจะไม่ใช่) เข้าไปทำหน้าที่จัดหมวดหมู่และทำรายการ
ปีก่อนโน้นก่อนที่น้องอ้อจะอำลาเวที ก็ไปถ่ายทอดวิทยายุทธ์กันอีกครั้ง ปิดเทอมที่แล้วอิช้านก็ไปสำทับอีกที พอสักพักก็ตามด้วยการทำความเข้าใจโมดูลที่ต้องไปทำงาน เลยไปถึงพื้นฐานอย่าง AACR2 และ MARC จากพี่ๆ ที่สำนักวิทยบริการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และที่เพิ่งสิ้นสุดไปหมาดๆ ก็เข้าคอร์ส ของรองศาสตราจารย์ระเบียบ ศุภวิรี จากคณะอักษรศาสตร์ และจากน้องอ้ออีกครั้ง…
ครั้งสุดท้ายนี้ ได้รวมมวลหมู่ท่านที่ไม่เคยสัมผัสงานนี้เข้าไปด้วย รวมทั้งน้องหนิงผู้มาใหม่
หนูเล็กจะมารายงานให้ฟังเป็นระยะๆ ได้แต่ขมวดคิ้ว ส่งเสียงอืมมมม… ขมวดคิ้ว นั่งครุ่นคิดว่าจะหาทางออกอย่างไร
คงได้แต่พูด (โอกาสคงน้อย) จึงขอเขียนให้อ่าน…. เริ่มตั้งแต่การทำความเข้าใจทั้งในเรื่ององค์กร งาน และความเข้าใจในวิชาชีพของตนเอง
องค์กรมีงานอันหลากหลาย ความหลากหลายของงานมีจุดกำเนิดของคนที่เข้ามาทำงานต่างกัน ความต่างกันคือชั่วโมงบินในการสะสม การสะสมบางอย่างจำเป็นต้องลงไปคลุกคลีเพราะหากไม่เข้าไปก็ไม่สามารถเข้าใจและทำได้ การสะสมบางอย่างเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาแม้จะไม่ได้เข้าไปคลุกคลี
องค์กรจำเป็นต้องมีคนเข้ามาทดแทนคนเก่า และการทดแทนในงานบางงาน ไม่ใช่สามารถทำแบบเปิดปุ๊บ ติดปั๊บ ใส่น้ำร้อน หรือเข้าเตาไมโครเวฟแล้วรับทานได้
งานมีหลากหลาย และความหลากหลายนั้นมีที่เราชอบมาก ชอบน้อย ไม่ชอบเลย หรือกระทั่งทั้งชอบและไม่ชอบในคราวเดียวกัน
ตัวเองเป็นคนโดนโยกย้ายให้ทำงานมาเกือบทุกหน้าที่แทบจะมากที่สุดคนนึงในห้องสมุด ด้วยเหตุผลคือความเหมาะสม ที่ไม่ใช่ตัวเราเป็นคนตัดสิน หากเป็นผู้บริหารหรือองค์กรบอกว่าว่าเรา “เหมาะ”
หากถามว่าชอบอะไรมากที่สุดก็ต้องยาก หากถามว่าอยากทำอะไรมากที่สุดน่ะพอจะตอบได้
แต่เมื่อวันใดที่ต้องโยกย้ายงานให้ไปทำหน้าอื่นๆ ความรู้สึกคือไม่ยึดติดกับสิ่งเก่าๆ แต่ยังรู้สึกเสียใจ น้อยใจ โหยหา น้อยใจ ตั้งคำถาม ฯลฯ มีบ้างในบางอารมณ์เพราะว่ายังเป็นคนธรรมดาๆ ที่ไม่เคยคิดบวกตลอดเวลา
บรรณารักษ์มีงานสองลักษณะในห้องสมุดคืองานเบื้องหน้าที่ยกให้เป็นกลุ่มงานบริการ และงานเบื้องหลังที่ยกให้เป็นกลุ่มงานเทคนิค
สมัยเรียนหนังสือมีการสอนตลอดเวลาว่างานบริการคือหัวใจของห้องสมุด แต่ตัวเองมักโต้แย้ง ตามประสาคนหัวดื้อไปว่า เป็นเพียงห้องหนึ่งของหัวใจ …. หัวใจมีต้อง 4 ห้อง แบ่งๆ ไปให้เพื่อนบ้างเหอะ
ตอนเรียนปริญญาโท จำได้ว่าเขียนบทความเรื่องนี้ส่ง โดยเชื่อมโยงระหว่างงานในฝั่งเทคนิคว่าในฝั่งบริการจะนำไปใช้และคิดต่อได้อย่างไร เสียดายต้นฉบับไม่อยู่แล้ว แต่ยังพอจำเค้าได้ลางๆ ว่าคิดอย่างไร
เพื่อนๆ ทั้งสองฝั่งบอกว่าไม่เคยดูเรื่องความเชื่อมโยง ต่างทำงานในมุมของตน แถมสมัยนั้นกระแสของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ยังไม่รุนแรง คนไหนยึดมุมไหนได้ก็จะยึดมั่นถือมั่น ปฏิเสธการเรียนทักษะของอีกฟาก ด้วยเหตุผลว่า ยาก ไม่ชอบ ไม่เคยทำ ไม่รู้จะเอาไปใช้ตอนหลัง ….
สุดท้ายในห้องสมุดจึงมักมี 2 พวก คือ  พวกบริการ กับพวกเทคนิค ขึ้นต้นด้วยคำว่า “พวก” แล้ว แปลว่า ดีกันไม่ได้ …. จริงหรือไม่ หรือเราคิดไปเอง
ของเราโชคดีที่มี “พวก” แบบมันๆ คนเอง เป็นความพยายามที่เต็มไปด้วยความปรารถนาดี ที่ต้องการให้ทุกคนได้เห็นถึงความโยงใยของงานที่เกื้อหนุนซึ่งกันและกัน
……………….
วิชาการจัดหมู่ละทำรายการ ถือเป็นวิชาชีพ ซึ่งหมายถึงต้องมีความโดดเด่นที่คนในสายงานอื่นยากที่จะเข้าถึง
เว็บไซต์คลังปัญญาไทยได้อธิบายลักษณะสำคัญของวิชาชีพไว้ว่า        คำว่า วิชาชีพ มาจากคำสนธิ คือ “วิชา” และ “อาชีพ” ถ้าสังเกตแล้วจะเห็นว่าวิชาชีพนั้นไม่ใช่อาชีพธรรมดา แต่ประกอบด้วย “วิชา” ด้วย ดังนั้นอาชีพทุกอาชีพไม่ได้รับการยกย่องให้เป็นวิชาชีพทั้งหมด มีเพียงบางอาชีพเท่านั้นที่ได้รับเกียรติถือว่าเป็นวิชาชีพ …………. http://www.panyathai.or.th/wiki/index.php/%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%9E
บางทีนะการเปิดใจที่ยอมรับและทำความเข้าใจกับเรื่องพวกนี้ อาจจะดีกว่าการโดนกระแสของสารสนเทศที่มากมายมาล้มทับ จนตั้งหลักไม่ได้….
จงคิดและทบทวน
งานเทคนิคแก้ไขได้ด้วยระบบ หากแก้ได้คือจบ นำไปใช้ได้ต่อไป
งานบริการแก้ไขได้ด้วยระบบเพียงอย่างเดียวไม่ได้ หากแก้ไขครั้งนั้นคือครั้งนั้น มีโอกาสที่เกิดใหม่ทุกวินาที และทางแก้อาจไม่ใช่แบบเดิม แม้กระทั่งปัญหานั้นเกิดจากคนเดิม….
งานเทคโนโลยีเป็นเรื่องของการนำเครื่องมือมาใช้ ทุกคนทำได้หากให้ความสนใจและเรียนรู้
งานทุกอย่างต้องมีการ “ตีความ” แต่เมื่อตีความแล้วต้องรู้จักตั้งมั่น ตั้งสติ นึกถึงคำที่ครูบาอาจารย์สั่งสอนตั้งแต่ประถมวัย ….
พยัญชนะ สระ การประสมคำ ตัวเลข อ่านเอาเรื่อง สรุปใจความและหาแหล่งที่อยู่ จริงแล้วชีวิตเรามีแค่นี้มิใช่หรือ…..
เราคิดแบบนี้นะ!

One thought on “งานในห้องสมุด

  • อ่านเรื่องนี้แล้วก็ อืมมม ไปด้วย เกิดอะไรขึ้นกันน้อ
    ตอนสอบเปลี่ยนตำแหน่งเป็นบรรณารักษ์ ข้อสอบถามว่า “บรรณารักษ์”เป็นวิชาชีพหรือไม่ โปรดอธิบาย
    บรรณารักษ์ก็คงตอบกันได้อยู่แล้วเนอะ

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร