เขาว่า "หนูว่าเขา" กับการคิดอย่างมีระบบ

เมื่อสองสามอาทิตย์ก่อนดิฉันมีอาการค่อนข้างจิตตกเพราะมีคนที่รักใคร่ถึงสามคนต้องประสบชะตากรรมอย่างไม่น่าเชื่อ ความจริงเป็นเรื่องก็สะสมมาเป็นปีแล้ว แต่บังเอิญมาเบ่งบานสุกงอมพร้อมกัน กลายเป็นของล้นตลาด… (อารมณ์)  สามคนนี้มีทั้งอยู่ใกล้และไกลตัว คนแรกก้าวผ่านไปได้ ด้วยความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย อีกคนใช้น้ำตาและเพื่อนๆ เป็นที่พักใจ จึงเป็นๆ หายๆ ด้วยความที่อยู่ไกลจึงรู้บ้างไม่รู้บ้าง ส่วนคนที่สามอยู่ไกลอีกเช่นกัน แต่คุยกันเกือบทุกวันในทุกสื่อ แต่ก็คงไม่หมดหรอก เพราะคงไม่มีอะไรสื่อออกมาได้ทั้งเต็มร้อย ผลคือน้องรักอาการค่อนข้างหนักจนต้องอยู่ในการดูแลของจิตแพทย์
การรับฟังอะไรมากๆ ทำให้เกิดความเครียดและความเค้นโดยไม่รู้ตัว เกิดอาการไปแผลงฤทธิ์ที่บ้าน จนยอดตองเขียนอีเมล์มาให้อ่านหนึ่งหน้ากระดาษเต็ม ดูเวลาแล้วน่าจะเป็นตอนตีสอง ขณะที่เราหลับไปแล้ว ลูกคงเครียดตาม  เช้ามาเห็นจดหมายของลูกที่เขียนมาเล่าในมุมที่ของเขา จึงคิดตามมุมของลูก
ความทุกข์หรือปัญหาคงไม่มีอะไรดีไปกว่าการรับฟังความเห็นของคนรอบๆ ตัวอย่างมีสติ คิดตามและนำไปปฏิบัติ มันคงมีอะไรดีมั่งแหละ ครั้งนี้ตัวเองยังได้นักจิตวิทยามาช่วยบำบัดเยียวยาหาทางออกให้แบบหนึ่ง สอง สาม …เราโชคดีทีมีตรงนี้ แต่หลายๆ คนไม่ใช่ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะหาไม่ได้
ส่วนเรื่องจะเล่าให้ฟังคือเรื่องของน้องคนสุดท้ายที่ได้รับข้อหา “เขาหาว่า หนูว่าเขา” ด้วยเหตุที่น้องไปเขียนรายงานเพื่อวิพากษ์วิจารณ์ระบบๆ หนึ่งว่ามีข้อดี ข้อเสียอย่างไร แล้วก็ทำไปตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย แต่”เขา” คนนั้นคิดว่า “ว่าเขา” เรื่องนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความไม่สบายใจ ที่คาดว่าทั้งสองฝ่ายว่าผู้กระทำหรือถูกกระทำ ด้วยความที่เป็นน้องเราจึงคิดว่าน้องเป็นผู้ถูกกระทำ แต่ก็ยังไม่อยากปักใจเชื่ออะไร (แค่เอนเอียงตามเสียงลือเสียงเล่าอ้าง) จึงขออ่านรายงานเจ้าปัญหา ก็เห็นว่าเป็นรายงานที่วิพากษ์วิจารณ์ในเชิงระบบที่เห็นกันอยู่มากมาย ที่มีเนื้อหาคล้ายกัน แต่อาจมีมุมของผู้เขียนคนนี้ต่างออกไป ไม่รู้สึกแปลกอะไร  ทำไมต้องอะไรนักหนา เพราะ “เขา” ที่ว่าก็ไม่ใช่เด็กน้อยแล้ว น่าจะหนักแน่นเป็นหลักให้คนอื่นได้พึ่งพิงได้แล้ว
คำว่า การคิดอย่างเป็นระบบ จึงลอยมา เพราะมีโอกาสได้แว๊บๆ อ่านงานเขียนของ Peter Senge เจ้าของผลงานเรื่อง The Fifth Discipline : The Art and Practice of the Learning Organization  ในวิทยานิพนธ์อ้างกันเยอะมากจึงต้องตามไปหาอ่านต้นฉบับ หนังสือเล่มนี้มีที่ห้องสมุดเพชรบุรีค่ะ
Senge  บอกว่าตามแนวคิดในการพัฒนาองค์กรของการเรียนรู้ มีอยู่ 5 ประการคือ รูปแบบความคิด/จิตใจ (mental model)  ความเชี่ยวชาญเฉพาะบุคคล (personal mastery) การสร้างวิสัยทัศน์ร่วมกัน (shared vision) การเรียนรู้ร่วมกันเป็นทีม (team learning) และการคิดอย่างเป็นระบบ (system thinking)
ส่วนตัวแล้วสนใจในเรื่องสุดท้ายเพราะคิดว่าหากเรามองอะไรเป็นระบบแล้วจะทำให้เราแก้ปัญหาหรือเข้าไปจัดการอะไรๆ ได้ง่ายขึ้น
เคยดูรายการที่ ดร.วิป จำแบบประมาณๆ สรุปว่าคนที่เรียนคณิตศาสตร์เก่งๆ จะมองในเชิงระบบได้ดี ด้วยความที่ตัวเองเรียนคณิตศาสตร์ไม่ได้เรื่องเลยจึงศึกษาและอ่านเรื่องนี้ และบังคับตัวเองให้มองแค่ระบบ ไม่วอกแวกอารมณ์เข้าไปเกี่ยวข้องหรือไปตัดสินเรื่องใดเรื่องหนึ่งในการทำงาน ยกเว้นเวลาเมาท์ที่ต้องใส่อารมณ์พร้อมทั้งใส่ไข่
ได้อ่านคอลัมน์ เส้นสายลายคิด  โดย จรีพร แก้วสุขศรี คณะภาษาและการสื่อสาร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 01 สิงหาคม พ.ศ. 2548 ปีที่ 29 ฉบับที่ 3710 (2910) จึงขอเอามาขยายต่อให้อ่านคือ …
“การคิดอย่างเป็นระบบจริงๆ แล้วมีการใช้กันอย่างแพร่หลายทั้งในส่วนของงานและตัวบุคคล เช่น งานทางด้านวิศวกรรม (engineering) ทางด้านขนส่ง (logistics) ทั้งนี้เป้าหมายก็เพื่อเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายและเพิ่มประสิทธิภาพ ปัจจุบันบุคคลที่คิดอย่างเป็นระบบได้เป็นรูปธรรมจริงๆ และเห็นได้ชัดคือ นักพัฒนาโปรแกรมหรือคนเขียนโปรแกรม (programmer) ซึ่งคนกลุ่มนี้จะมีกระบวนการทางความคิดที่เป็นระบบและสลับซับซ้อน มีความคิดอย่างเป็นระบบย่อยๆ อยู่ในความคิดอย่างเป็นระบบหลัก ซึ่งเป็นความสามารถพิเศษเฉพาะบุคคล
แต่นั่นก็คือการทำงานที่ขึ้นอยู่กับเฉพาะบุคคล ซึ่งต่างกับชีวิตความเป็นอยู่ของบุคคลทั่วไป โดยจะเกี่ยวข้องกับงาน บุคคล และสภาพแวดล้อมที่แตกต่างและแปรเปลี่ยนตลอดเวลา และเพื่อให้ท่านได้เข้าใจในหลักการง่ายๆ ของการคิดอย่างเป็นระบบซึ่งปกติทุกคนก็มีอยู่แล้วนั้น
โดยในเบื้องต้นขอยกตัวอย่างการรับประทานอาหาร ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัว ปกติแล้วจุดประสงค์หลักในการรับประทานอาหารของทุกคนก็คือ “อิ่ม” โดยมีจุดมุ่งหมายรองซึ่งแตกต่างกันแต่ละบุคคล เช่น อาหารมื้อนั้นต้องอร่อย อาหารมื้อนั้นต้องครบ (เกือบครบ) 5 หมู่ ราคาประหยัด อาจมีเป้าหมายย่อยลงไปคือ ร้านที่จะไปรับประทานอยู่ใกล้ที่ทำงาน หรือเป็นร้านทางผ่านที่ต้องเดินทางไปต่อ เป็นต้น เมื่อเราไปถึงร้านอาหารที่ขายข้าวแกงโดยเราไม่รู้ล่วงหน้าว่าวันนี้ร้านค้าทำกับข้าวอะไรบ้าง ดังนั้นเมื่อเราไปเห็นอาหารเราก็จะเลือกเพื่อตอบสนองความต้องการของตน ซึ่งจะขึ้นอยู่กับความพึงพอใจหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับระดับความต้องการของคนคนนั้น แต่ท้ายสุดแล้วทุกคนก็จะอิ่ม ซึ่งความคิดที่เกิดขึ้นในระหว่างนั้นล้วนเป็นความคิดอย่างเป็นระบบทั้งสิ้นโดยมีจุดมุ่งหมายหลักก็คือ “อิ่ม”
แต่ในภาวะการทำงานจริงๆ โดยเฉพาะบุคคลระดับหัวหน้างานขึ้นไป ความคิดอย่างเป็นระบบมีความสำคัญอย่างมาก เพราะงานจะเข้ามาตลอดเวลาเหมือนกับสายพานลำเลียง แต่หากเราไม่มีกระบวนการทางความคิดที่ดีหรืออย่างเป็นระบบแล้ว งานก็เดินหรือลำเลียงออกไปไม่ได้
และนั่นก็คือปัญหาที่จะตามมาอีกหลายอย่าง เพราะฉะนั้น จะเห็นว่าความสำคัญของงานก็จะแปรผันตามระดับความรับผิดชอบของเรา ดังนั้นคนที่เป็นระดับหัวหน้างานขึ้นไปจะต้องหมั่นทำเป็นประจำ
ทำอย่างไรที่จะคิดอย่างเป็นระบบ (ซึ่งจริงๆ แล้วมีหลักสูตรในการอบรม) ขั้นแรกต้องฝึกจินตนาการ (ไม่ใช่เพ้อฝัน) โดยมีเหตุมีผล เป็นการจำลองเหตุการณ์ทางความคิด ซึ่งคนที่จะทำการ simulation ได้ดี คนคนนั้นจะต้องมีประสบการณ์หรือพื้นฐานในเรื่องนั้นดีด้วย เพราะไม่เช่นนั้น simulation ก็จะไม่เป็นจริง
แต่ถ้าเราไม่รู้ล่ะ… ก็ต้องหาข้อมูลและทำให้ตัวเองรู้ให้ได้ไม่เช่นนั้นความล้มเหลวหรือความผิดพลาดก็จะตามมา ท่านลองคิดซิว่าถ้าท่านต้อง รับผิดชอบจัดงานเลี้ยงพนักงานประจำปี หรือจัด พนักงานไปอบรมดูงานนอกสถานที่ ท่านจะต้องทำอย่างไรบ้าง โดยคนที่ไม่อยากคิดมากอาจใช้วิธีจ้างคนมาดำเนินการแทน ในงบประมาณที่ได้รับ ซึ่งแน่นอนว่าค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นผู้รับจ้างก็จะบวกค่าดำเนินการ (ค่าความคิดของเขา) เข้าไปด้วย แต่ถ้าเราทำเองล่ะ…จะประหยัดกว่าหรือไม่
การทำงานในปัจจุบันก็เช่นกัน เราต้องตัดสินใจทำอะไรก่อนหลังอยู่ตลอดเวลา ซึ่งตามที่เราได้เรียนหรืออบรมมาก็จะมีการจัดลำดับการทำงานอยู่ 4 อย่างด้วยกัน คือ
1.งานด่วน และสำคัญ
2.งานด่วน แต่ไม่สำคัญ
3.งานไม่ด่วน แต่สำคัญ
4.งานไม่ด่วน และไม่สำคัญ
เกือบทั้งหมด ก็จะเลือกทำงานด่วนและสำคัญเป็นอันดับแรก ถ้าถามถูกมั้ย ก็ตอบว่าไม่ผิด แต่ก็ไม่ถูกทั้งหมด เพราะในชีวิตการทำงานจริงเราจำเป็นต้องให้มีผลงานออกมาในแต่ละวันโดยเฉพาะงานที่เจ้านายสั่ง
ซึ่งบางครั้งเราอาจจะต้องเอางานที่ไม่ด่วนและไม่สำคัญก่อน หากงานนั้นใช้เวลา 5-10 นาทีหรือเพียง 1 นาที (ออกคำสั่ง) ซึ่งนั่นคือผลงานที่ออก มาแล้วอย่างน้อย 1 อย่าง แต่ถ้าท่านทำงานด่วนและสำคัญก่อน ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาครึ่งวัน เจ้านายอาจจะเดินมาหาท่านหลายรอบ เพราะยังไม่มี งานออกมาเลยสักอย่าง คุณคิดว่าเจ้านายจะคิดอย่างไร ???
การคิดอย่างเป็นระบบไม่ใช่แค่เป็นการสร้างให้บุคคลหรือทีมงานมีความเข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งต่างๆ ซึ่งเป็นการมองภาพรวมเท่านั้น ยังจะช่วยขจัดปัญหาความ ซับซ้อนของงานได้อีกด้วย และยิ่งเราเป็นระดับหัวหน้างานด้วยแล้ว เราก็จะเป็นเพียงคนจัดลำดับวางแผนและตัดสินใจงานเท่านั้น หากเราคิดอย่างเป็นระบบได้ดี งานก็จะออกมาอย่างต่อเนื่องและนั่นคืออนาคตของท่าน ซึ่งเกิดจากกระบวนการทางความคิดที่เป็นระบบนั่นเอง
เรื่องนี้เขียนตั้งแต่เมื่อคืนวันเสาร์ พอดี๊เมื่อเช้ามีคนโทรมาถามความคิดเห็นเรื่อง “งาน”  ก็น่าจะเข้าเค้าเรื่อง System thinking เป็นกำลังใจให้นะเธอ…. สู้ๆ … จึงเอามาขึ้นให้อ่านกันก่อน
ปล. คำว่าเป็นกำลังใจให้กับสู้ๆ สัจธธรรมที่พบคือแปลว่า อิฉันหมดปัญญาและมีความปรารถนาดี… 55

Enhanced by Zemanta

One thought on “เขาว่า "หนูว่าเขา" กับการคิดอย่างมีระบบ

  • เห็นด้วยอย่างยิ่ง “ความคิดอย่างมีระบบ” หากองค์กรใดมีคนคิดแบบนี้มากๆ ทุกคนในองค์กรย่อมมีความสุข องค์กรสามารถดำเนินไปได้อย่างดี มีประสิทธิภาพ จึงอยากให้ทุกคนแปลงเป็นการปฏิบัติจริงด้วย นอกจากนี้อย่าลืมว่า ในองค์ยังมีหัวหน้าตามลำดับชั้น มีลูกน้อง มีเพื่อนร่วมงานที่ต่างก็ไม่ด้อยกว่ากันเป็นจำนวนมาก ดังนั้นจึงต้องมีกรอบ กฏ กติกา มารยาท จรรยาบรรณรองรับ แต่จะเข้มข้นมากน้อย เพียงใด ขึ้นอยู่กับผู้เป็นหัวหน้าด้วย จริงไหม
    กับหัวหน้าด้วย

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร