การปิดทองฝังลูกนิมิต

e0b8a5e0b8b9e0b881e0b899e0b8b4e0b8a1e0b8b4e0b895

ช่วงเทศกาลตรุษจีนของทุกปี ตามวัดต่างๆ มักจะมีงานปิดทองฝังลูกนิมิตกัน  ครอบครัวเราได้ไปปิดทองฝังลูกนิมิต มีข้อสงสัยว่า ด้าย เข็ม สมุด ที่ใส่ลงไปในถุงผ้ากลางอุโบสถหมายความว่าอย่างไร ต่างก็ตอบกันไปประมาณว่า แต่ที่ถูกเป็นอย่างไรจึงต้องมาค้นหาข้อมูลกัน

นิมิต ” แปลว่า เครื่องหมาย

ลูกนิมิต ก็คือ ลูกหินกลมๆ ที่ใช้ฝังเพื่อเป็นเครื่องหมายบอกให้ทราบว่าตรงไหนเป็นเขตอุโบสถ หรือโบสถ์ เพื่อให้พระสงฆ์ได้ใช้เป็นที่ประกอบสังฆกรรม

การฝังลูกนิมิตนี้ มีชื่อเรียกเป็นทางการอีกอย่างหนึ่งว่า การผูกพัทธสีมา ซึ่งคือ เขตทำสังฆกรรมที่กำหนดตามพุทธานุญาต เช่น การสวดปาติโมกข์ การบวชพระ การกรานกฐิน และการปวารณากรรม เป็นต้น

เริ่มจากพระสงฆ์ ประชุมพร้อมกันในโบสถ์ เพื่อทำพิธีสวดถอน มิให้อาณาบริเวณที่จะกำหนดนี้ ไปทับที่ที่เคยเป็นสีมา หรือเป็นที่ที่มีเจ้าของครอบครองอยู่ก่อน เมื่อพระสงฆ์สวดถอนเป็นแห่งๆ ไปตลอดสถานที่ที่กำหนดเป็นเขตแดนทำสังฆกรรมแล้วว่า มีอาณาเขตเท่าใด จากนั้นจะต้องไปขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต เพื่อให้ที่ดินบริเวณนั้นเป็นสิทธิ์ของสงฆ์ ที่เรียกว่าขอ วิสุงคามสีมา (คือเขตที่ได้พระราชทานแก่สงฆ์ เพื่อใช้เป็นที่ทำสังฆกรรม) เป็นการแยกส่วนบ้านออกจากส่วนวัด ( วิสุง แปลว่า ต่างหาก คาม แปลว่า บ้าน) การที่ต้องขอพระบรมราชานุญาตเพราะถือว่า พระมหากษัตริย์เป็นเจ้าของแผ่นดิน การจะกระทำใดบนพื้นแผ่นดินจึงต้องขอพระบรมราชานุญาตก่อน

การสวดถอนนี้จะกระทำก่อนพิธีการผูกสีมา หรือทำในวันเดียวกันก็ได้ โดยมากนิยมใช้ลูกนิมิต 8 ลูก ฝังตามทิศต่าง ๆ รอบพระอุโบสถ 8 ทิศ ทิศละหนึ่งลูก รวมทั้งกลางพระอุโบสถอีกหนึ่งลูก รวมทั้งหมด 9 ลูก เพื่อถวายการบูชาพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์สาวกผู้ใหญ่ประจำทิศ หรือบูชาเทพนพเคราะห์ทั้ง ๙ ให้เกิดบุญและสิริมงคลแก่ตัวเองและครอบครัว ลูกนิมิตแต่ละลูกมีความหมายดังนี้

1. นิมิตลูกเอก เป็นลูกที่มีความสำคัญมาก ถือเป็นประธานของลูกนิมิตทั้งหมด ฝังไว้บริเวณใจกลางโบสถ์ หรือบางท่านเรียกว่า สะดือโบสถ์ รายล้อมด้วยลูกนิมิตอีก 8 ลูก เป็นการถวายการบูชาพระพุทธเจ้า ผู้เป็นพระประมุขแห่งอริยสงฆ์ เป็นการอัญเชิญและบูชาพระเกตุ เทพผู้คุ้มครองสถานที่ส่วนกลางของโบสถ์

2. ทิศตะวันออก ลูกที่อยู่ด้านหน้าของโบสถ์ถือเป็นลูกบริวารที่มีความโดดเด่นเป็นพิเศษ เป็นลูกแรกที่ต้องเริ่มนับ ยกเว้นลูกกลางสะดือโบสถ์ ดังนั้น จึงเปรียบนิมิตลูกนี้เหมือนปฐมสาวก หรือ พระสาวกองค์แรกของพระพุทธเจ้า คือ พระอัญญาโกณฑัญญะ การฝังลูกนิมิตไว้ด้านทิศตะวันออกเพื่อเป็นการบูชาพระอัญญาโกณฑัญญะ เป็นการอัญเชิญและบูชาพระจันทร์ เทพผู้คุ้มครองสถานที่ส่วนด้านหน้าของโบสถ์

3. ทิศตะวันออกเฉียงใต้ การฝังลูกนิมิตไว้ทางทิศนี้ เพื่อบูชาพระมหากัสสปะ ซึ่งต่อมาได้เป็นประธานสงฆ์ทำสังคายนา เป็นการอัญเชิญและบูชาพระอังคาร เทพผู้คุ้มครองสถานที่อีกองค์หนึ่ง

4. ทิศใต้ เป็นลูกนิมิตที่อยู่ด้านขวาของโบสถ์ เป็นการบูชาพระสารีบุตร พระอัครสาวกฝ่ายขวา เป็นการอัญเชิญและบูชาพระพุธ เทพผู้คุ้มครองสถานที่ด้านทิศใต้ของโบสถ์

5. ทิศตะวันตกเฉียงใต้ การฝังลูกนิมิตทางด้านทิศนี้ เพื่อบูชาพระอุบาลีเถระ และเป็นการอัญเชิญและบูชาพระเสาร์ ซึ่งเป็นเทพหนึ่งในนพเคราะห์ทั้ง ๙ คือ เทพผู้ดูแลคุ้มครองสถานที่ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้

6. ทิศตะวันตก เป็นลูกนิมิตที่ฝังอยู่ด้านหลังของตัวโบสถ์ เป็นสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายของเงา ซึ่งเปรียบได้กับพระเถระที่เป็นพุทธอุปัฏฐาก คอยเฝ้าติดตามดูแลปรนนิบัติรับใช้พระพุทธองค์ ดังนั้น การฝังลูกนิมิตทางทิศนี้ เพื่อเป็นการบูชาพระอานนท์เถระ และอัญเชิญบูชาพระพฤหัสบดี เทพคุ้มครองทิศ

7. ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เป็นการบูชาพระควัมปติเถระ และอัญเชิญบูชาพระราหู ซึ่งเป็นเทพประจำทิศนี้

8. ทิศเหนือ ลูกนิมิตที่ฝังด้านซ้ายของตัวโบสถ์ เพื่อเป็นการบูชาพระมหาโมคคัลลานะ พระอัครสาวกฝ่ายซ้ายของพระพุทธเจ้า และอัญเชิญบูชาพระศุกร์ เทพคุ้มครองรักษาประจำทิศนี้

9. ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ลูกนิมิตที่ฝังทางทิศนี้เป็นสัญลักษณ์แห่งความผูกพัน มีผลทางด้านจิตใจ ถือเป็นทิศสุดท้าย เพื่อเป็นการบูชา พระราหุลเถระ ซึ่งเป็นพระโอรสของเจ้าชายสิทธัตถะ และอัญเชิญบูชาพระอาทิตย์ เทพผู้คุ้มครองรักษาประจำทิศ

การปิดทองฝังลูกนิมิต จะมี ดอกไม้ ธุป เทียน ดินสอ กระดาษเขียนชื่อพร้อมคำอธิษฐาน เข็มและด้าย โดยเราจะใส่สมุด ดินสอ เข็มและด้ายลงไปในหลุมที่ฝังลูกนิมิตด้วย เพราะเชื่อว่าจะช่วยให้มีความจำดี มีปัญญาเฉียบแหลมเหมือนเข็ม และมีความเจริญก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องเหมือนความยาวของด้าย มีชีวิตที่ผาสุกยืนยาว เหมือนด้าย ใส่สมุดเพราะมีความเชื่อว่า หากผู้ทำบุญเขียนข้อความที่อธิษฐานลงในสมุด จะมีความจำดี ไม่หลงลืมง่าย และการปิดทองที่ลูกนิมิต เพื่อให้ผิวกายผ่องใส

วัดต่าง ๆ จะจัดงานผูกพัทธสีมา หรือฝังลูกนิมิตได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น เมื่อมีการสร้างพระอุโบสถ ความเชื่อเรื่องหวายที่ถักรองลูกนิมิตในโบสถ์ เมื่อได้รับการปลุกเสกหลังจากการตัดลูกนิมิต แล้วนำมาตัดเป็นท่อน ๆ ประมาณ 1 นิ้ว ถือว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์ให้คุณแก่ผู้เป็นเจ้าของ ถ้าเป็นท่อนที่ไม่เป็นข้อให้คุณด้านเมตตามหานิยม ถ้าเป็นท่อนที่มีข้อให้คุณด้านอยู่ยงคงกระพันและด้านผีสาง

ปิดทองฝังลูกนิมิตปีหน้า ถ้ามีโอกาสก็ไปกันนะคะ

ที่มา:

http://www.dhammathai.org/webboard/view.php?No=4868
http://www.whitemedia.org/wma/content/view/486/15/
http://board.palungjit.com/showthread.php?p=185987
http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=fontor&month=01-2007&date=24&group=11&gblog=1

2 thoughts on “การปิดทองฝังลูกนิมิต

  • พี่นกชวนลุงบูรณ์ไปดูลูกนิมิตรแบบใหญ่ที่สุดในโลก ที่วัดกลางคูเวียงกันเถอะ ตอนเด็กๆ ป๊ะป๋าชอบไปปิดทองฝังลูกนิมิต ตอนวันเที่ยวหลังตรุษจีน ไม่ครบเก้าวัดไม่เลือกค่ะ เดี๊ยวนี้กลับไม่ค่อยได้ไปเพราะคนเยอะมาก ปีนี้พี่เล่าว่าบางวัดทองคำเปลวไม่พอกับผู้มีจิตศรัทธาเลยค่ะ

  • ขอบคุณที่แนะนำ ไว้เด็กๆ มาพร้อมกันจะพาไปเที่ยวดู
    ปิดทองคนเยอะมากจริงๆ มากันเป็นรถบัสใหญ่ๆ วิ่งกันมาเป็นขบวนเลย
    ชวนคุณยายไป บอกไม่ไหวแล้ว เอางั้นแม่จบตังค์แล้วกันหนูไปปิดให้

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร