ตลาดบน-ล่าง (นครปฐม)

24 February 2010
Posted by Chanpen Klomchaikhow

เห็นว่าบน-ล่าง ไม่ใช่ใบ้หวยนะจะบอกให้ … แต่เป็นเรื่องของตลาดบน-ล่างของจังหวัดนครปฐม … ที่อยู่ตรงข้ามกับองค์พระปฐมเจดีย์…นั่นเอง
ชาวนครปฐมในเมือง คงจะรู้จักตลาดนี้กันเป็นอย่างดี … ตลาดนี้มีข้าวของทุกชนิดขาย ไม่ว่าจะเป็นอาหารการกิน ของสด ของแห้ง ผักผลไม้ เสื้อผ้าทุกประเภท (ชุดแฟชั่น ชุดไทย ชุดนักเรียน ชุดทำงาน และอีกสารพัดชุด) เครื่องใช้ไม้สอย ร้านขายของชำ ของสำหรับเด็ก ร้านขายยา อุปกรณ์ต่างๆ รวมไปถึง 7-11 ด้วย เป็นต้น เรียกว่ามาที่ตลาดนี้ ได้ทุกอย่างที่ต้องการเลยทีเดียว
ตลาดที่ว่านี้เป็นตลาดสด มีพื้นที่ขนาดใหญ่ และชื่อเรียกออกเป็น 2 ตลาดคือ ตลาดบน และตลาดล่าง หลายคนเคยถามว่า ฝั่งไหนตลาดบน ฝั่งไหนตลาดล่าง ที่มาและที่ไปเป็นยังไง…
ตรงนี้มีคำตอบ… (ไม่ได้นั่งเทียนมานะ แต่มาจากป้ายประชาสัมพันธ์ของ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ต่างหากล่ะ แล้วก็เรียบเรียงเสียงประสานซะใหม่ ไม่รู้เพราะเหมือนเดิมหรือเปล่า)
ตลาดบน-ล่าง (จังหวัดนครปฐม) ตั้งอยู่บริเวณตรงข้ามด้านหน้าขององค์พระปฐมเจดีย์ (ด้านพระร่วงโรจนฤทธิ์) นับเป็นตลาดสดเก่าแก่ที่อยู่คู่กับวิถีชีวิตชุมชนเมืองนครปฐมแห่งนี้มา ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2441 (มากกว่า 110 ปีมาแล้ว) ในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ทรงโปรดให้มีการก่อสร้างตลาดบน-ล่าง เพื่อรองรับความเจริญของศูนย์กลางการค้าขาย และเป็นสถานที่พบปะของชาวชุมชนเมืองนครปฐมสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
สำหรับที่มาของชื่อตลาดบน-ล่าง ที่เรียกกันอยู่นั้น เนื่องมาจากพื้นที่ตลาดแห่งนี้เป็นตลาดสดที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ และพื้นที่ถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน โดยคั่นกลางด้วยถนน หรือที่รู้จักกันในชื่อซอยกลาง ดังนั้นพื้นที่ฝั่งขวาจึงเรียกว่า “ตลาดบน” และพื้นที่ฝั่งซ้ายเรียกว่า “ตลาดล่าง” (ซ้าย-ขวา คือเมื่อเราหันหน้าเข้าหาพระร่วงโรจนฤทธิ์)
จะเห็นว่าตลาดนี้มีอายุมานานเป็นร้อยปี มีการเปลี่ยนแปลงเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งอยู่ในความดูแลของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และได้มีการปรับปรุงพื้นที่ของตลาดให้ได้มาตรฐานตลาดคุณภาพของกรมอนามัย ที่มีความสะดวก สะอาด และครบถ้วนด้วยสินค้านานาชนิด …
ยังไงยังไง เราชาวนครปฐม ก็อย่าลืมอุดหนุนสินค้าของภาคประชาชนของเรากันหน่อยนะจ๊ะ…อย่้ามัวเข้าแต่ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่…จนวิถีชีวิตชุมชนเค้าอยู่ไม่ได้เลย… 😥

7 thoughts on “ตลาดบน-ล่าง (นครปฐม)

  • เมื่อสองสัปดาห์ก่อนรายการพินิจนคร (ช่องThai PBS) ก็นำเสนอเกี่ยวกับคลองเจดีย์บูชา และมีเรื่องตลาดบน ตลาดล่างรวมอยู่ด้วย ลูกสาวนั่งดูเป็นเพื่อนยังถามว่าอยู่ตรงไหน เนื่องจากเค้าเคยไปตั้งแต่เด็กเลยจำไม่ได้ ยังว่าหากว่างๆ จะพาลูกๆ ไปเดินซื้อของที่ตลาดซักหน่อย โดยส่วนตัวแล้วก็ไม่ได้มานานแล้วเหมือนกัน ตั้งแต่ขับรถมาทำงาน เพราะเมื่อก่อนต้องไปขึ้นรถโดยสารกลับบ้านที่ตลาดเป็นประจำ เดี๋ยวนี้ตลาดเปลี่ยนไปสะอาดขึ้น น่าเดินซื้อของมากๆ เมื่อก่อนสมัยเรียนมีร้านขายหนังสือการ์ตูน และร้านเช่าหนังสือขาประจำอยู่ สงสัยตอนนี้ปิดกิจการไปแล้ว ร้านขายของกิฟช้อปพวกกิปติดผม ผ้าเช็ดหน้า ยังอยู่หรือเปล่าก็ไม่รู้ (ขายถูกมากๆๆๆ) คิดถึงจังเลย มีป้าขายขนมอยู่คนหนึ่งชอบดมยาดมโดยใส่ไปในจมูกทั้งสองข้าง ร้านสุกี้น้ำเจ้าอร่อยที่อยู่ตรงข้ามกับร้านขายเครื่องสังฆภัณฑ์ และร้านอื่นๆ อีกมากมาย…

  • มาจุ้นในฐานะ “รักเก่าที่บ้านเกิด” แต่อ้อนแต่ออกที่ตลาดล่างจ้ะ
    เป็นว่าถ้านับแบบนู๋เอ๋ไหนบน ไหนล่าง แล้วงงๆ อยู่
    ล่าง คือ ฝั่งท่าเมล์ขาว บน คือ ฝั่งโรงจำนำ โดยมีซอยกลางคั่น (ซอยที่ก่อนนี้ซักไม่นานมากมีพวกคุณแม่ค้าลูก..ช่างเกี่ยว..เปลี่ยนของสวยงามเป็นของคุณภาพเท่าๆ หน้าตาคนขาย..ให้เรากลับไปรู้ตัวและอารมณ์บูดเน่าที่บ้านอย่างมากมาย)
    ไม่ทันละ…ราชรถมารับและ ว่างๆ ค่อยมาโม้ต่อ

  • พี่ไม่เคยจำได้สักที ใช้วิธีจำชื่อร้านเอา พี่เห็นด้วยว่าว่าเราต้องสนับสุนร้านค้าในท้องถิ่น แต่แหม..เกลียดกิโลแม่ค้ามากกๆๆๆๆ ทำให้ไม่อยากซื้อน่ะ

  • มาต่อจ้ะ…คุณพี่สมฯ เกลียดกิโลแม่ค้าเหรอออออ..
    แต่เราไม่ชอบคนที่ทำให้กิโลขาดความ..เที่ยงตรง…เป็นแต่บ่ายโมงแก่ๆ มากกว่าง่ะ
    เล่าเรื่องที่ยังอยู่ในความทรงจำให้ฟังดีก่าาาา
    สมัยก่อนที่ตลาดล่างเนี่ยตรงบ้านเรา(ร้านเทปน้องอิ๊ปน่ะ)ตรงที่บ้านตั้งอยู่บนพื้นดินเลยเนี่ย
    สมัยก่อนเป็นที่ตั้งบ่อน้ำบาดาล ซึ่งเราก็มิรู้จำนวนหรอกว่ากี่บ่อ
    แล้วอีกง(..ภาษาแบบคนโบราณที่บ้านน่ะ)อีกง..ร้านบ้วนสูนโอสถ
    หรือ ถัดกันไปนิดนึง ประมาณร้านรุ่งอาภรณ์ หรือ ร้านจักยานน่ะ
    เป็นบ้านพักของหัวหน้าผู้ดูการบ่อน้ำนั่นแหละ บริเวณที่ทำการฯ รวมถึงบ่อน้ำเนี่ย
    ก็กินยาวตั้งกะประมาณบ้านหัวหน้าเนี่ยไปยั้นพาณิชย์จังหวัด..เดี๋ยวนี้เป็นอารายนึกไม่ออก
    เป็นว่าสุดหัวมุมตึกที่เดินไปทางพระยากงน่ะ ที่ตอนนี้จะมีแผงลอยขายเสื้อผ้า
    ขายบนฟุธบาทตอนกลางวันนั่นล่ะ…ตัวบ่อและที่ทำการเนี่ย..ถ้าจำไม่คลาดเคลื่อนมาก
    (อ่านเอกสารตั้งกะทำThesisแต่เป็นเรื่องที่ไม่ได้นำมาประกอบ..เลยเริ่มเลือนๆ)
    มีตั้งกะประมาณปลายๆ ร.๕ – ร.๖ น่ะ(เอาSureๆ ขอไปควาญเอกสารก่อน)
    แต่ราวๆ นั้นไม่พลาด เพราะเกิดอยู่ในช่วงเวลาหลังจากที่มีการบูรณะองค์พระ ที่ต่อเนื่องจาก ร.๔ ถึง ร.๕-๖ ซึ่งหลังจากการนั้นเมืองนครปฐมก็มีการย้ายที่ทำการ จากนครชัยศรี มาอยู่ที่ตัวเมืองในบัดNow แต่ทำการชั่วคราวอยู่บนองค์พระในระยะแรก
    ทีนี้เมื่อเมืองย้ายมาชาวบ้านร้านช่องก็ตามมา และปัญหาน้ำไม่พอใช้ก็ตามมา
    แม่เราเล่าว่า แต่ก่อนจะมาอยู่ที่บ้านตลาดเนี่ยแม่อยู่แถวหลังอำเภอแถววัดไผ่ล้อมน่ะ
    เวลาจะใช้น้ำต้องหาบกระป๋องกระแป๋ง…ไปถึงพระเมรุเพื่อเอาน้ำกลับมาใช้ที่บ้าน
    พอมาอยู่บ้านตลาดตอนแรกๆ ยังต้องลงไปซักผ้าในคลองเจดีย์ฯ อยู่เลย
    ไม่แน่ใจว่าตรงสะพานด้านพระยากง(ธ.กรุงไทย) หรือ ด้านตึกเยาวดี(ธ.กรุงเทพ)
    ประมาณนั้น ซึ่งก่อนที่จะมีสะพานน่าตาแบบเดี๋ยวนี้ มีสะพานแดงด้านไหนก็จำไม่ได้
    และจำไม่ได้ถนัดว่าเป็นสะพานไม้หรืออะไรประมาณนั้น และด้านหลังห้องน้ำท่าเมล์ขาวก็มีทางลงไปในคลองฯ เวลาหน้าแล้งชาวบ้านก็ไปใช้น้ำในโพรงน้ำ(น่าจะเรียกไม่ผิดนะ)
    อันนี้ป้าจิ้มลิ้มแม่น้องอุ๊ที่อยู่หลังบ้านเล่าให้ฟัง
    ดังนั้น ภาวะการขาดแคลนน้ำใช้ หรือมีใช้น้อย โดยเฉพาะหน้าแล้งนี้ ทางการจึงริเริ่มขุดน้ำใช้ ซึ่งเป็นวิทยาการสมัยใหม่ในตอนนั้นต้องให้วิศวกรฝาหรั่งมาทำ และต้องบอกว่าเป็นบ่อแรกของประเทศ หรือของจังหวัด..หว่าาาาาา (ยังไม่ได้ดูเอกสาร…ความจำก็มีซ๊าาาาาาาามากมาย…ขออภัยๆ)
    แต่ก็เป็นบ่อแรกแหละ ดังนั้น..ถนนหน้าบ้านเรา…เฉพาะเส้นนั้นจริงๆ ตรงท่าเมล์ขาวเท่านั้นแหละ จึงมีนามว่า “ถนนบ่อเริ่ม” ซึ่งสมัยเราเป็นเด็กก็ให้สงสัยว่าทาหน๊น.อาร๊าย อุตส่าห์มีชื่อแซ่ แต่ไม่มีวงศาคณาญาติเล๊ยยยย มีแค่ท่อนเดียวโด่เด่สั้นจุ๊ดจู๋เนี่ย..แหะ..แหะ หมายถึงถนนน่ะ… แล้วบ้านเราหลังแรกก่อนหน้าที่จะเป็นห้องที่เป็นตึกแบบทุกวันนี้ ก็กระเถิบมาติ๊ดนึงประมาณร้านจักรทองน่ะ ซาหมัยนู้นนนนน เป็นห้องแถวไม้ที่ทางการปลูกให้เช่า(เราว่าจำไม่ผิด..ทางการปลูกน่ะ)เป็นห้องแถวชุดแรกๆ ที่ปลูกบริเวณองค์พระ เป็นห้องแถวชั้นกว่าๆ ประมาณนั้น คือ ชั้นบน หรือที่เรียกว่า เหล่าเต๊ง แบบจะมีก็ไม่ค่อยเต็มใจจะมีน่ะ มีแค่ครึ่งๆ ค่อนๆ แบบตะกายบันไดเล็กๆ ชันๆ ขึ้นไปพอมีที่ซุกนอนเล็กน้อยน่ะ เสียดายล็อทสุดท้ายที่พอมีเหลือ ให้เห็นบรรยากาศห้องแถวไม้รุ่นแรกแบบที่ว่า คือ ตรงร้านมิตรชายและพรรณพิมล ที่ตอนนี้รื้อไปแล้ว(ถ้าจำไม่ผิดนะ..และตรงร้านนันท์นั่นก็ไม่ใช่แบบดั้งเดิม เพราะตอนเราเด็กประมาณใกล้วัยรุ่น ห้องแถวชุดนี้เคยไฟไหม้ใหญ่ครั้งหนึ่ง ประมาณว่าเครื่องฟักไข่ของร้านนันท์ ซึ่งแต่ก่อนมีอาชีพขายไก่เจี๊ยบ ไฟฟ้าเกิดลัดวงจรเป็นบ้านต้นเพลิงประมาณนั้น(อันนี้ฟังผู้ใหญ่ว่า..ไม่confirmจ้ะ)ห้องแถวไม้ที่เห็นอยู่นี่จึงเป็นห้องที่ปลูกในสมัยหลัง แหมนานๆ เข้าตลาดที ต้องบอกว่าน๊านนนนนนนานจริงๆ กว่าจะเข้าตลาดที เลยนึกภาพปัจจุบันไม่ค่อยออก แต่ภาพอดีตยังค่อนข้าง Clear จ้ะ
    ห้องแถวไม้รุ่นเก่าเนี่ยต่อมาพอเขาจะขยับปรับเปลี่ยนเป็นตึก บ้านเราซึ่งเป็นผู้เช่าแต่เดิมทรัพย์สินฯ ก็ให้สิทธิหากะตังค์มาปลูกตึกเป็นของตัวเอง แต่เสียค่าเช่ารายเดือนให้ทรัพย์สินฯ จำได้ว่าสมัยเราเด็กๆ มีคุณลุงคนนึงมาเดินเก็บตังค์ทุกเดือน ๓๐ หรือ ๕๐ บาทประมาณนั้น ตรงห้องแถวไ้ม้บ้านเก่าที่เราเิกิดเนี่ยมีมาก่อน พ.ศ.๒๕๐๗ แน่ๆ เพราะเกิดก่อนเรา พี่ๆ ถัดเราไป 3 คนก็เกิดบ้านนี้ คนโตสุดใน ๓ คนนี้เกิด ๒๕๐๑ และบ้านตึกเนี่ยย้ายมาปลูกใหม่ประมาณ ๒๕๐๙ หรือก่อนหน้าไม่นาน เพราะน้องคนรองเราเกิดบ้านใหม่ปีที่ว่านั่น แล้วแต่ก่อนจำไม่ถนัดว่าเรามาอยู่บ้านตึกแล้วมั้ง ตรงหัวมุมที่ทุกวันนี้เป็นสากลฟาร์มาร์ยังเป็นไม้อยู่ หรือเป็นตึก ๒ ชั้น จำไม่ถนัด(เพราะยังเด็กอยู่มากมาย)รู้แต่ว่าเป็นที่ทำการของ ธ.ออมสิน ยุคที่ยังเป็นประตูบังตาไม้ๆ คล้ายๆ ธนาคารอะไรแถวท่าช้างด้านหลังวังท่าพระน่ะ(ถ้าตรงนั้นยังไม่รื้อเปลี่ยนนะ)ถ้านึกภาพไม่ออกนึกถึงประตูร้านเหล้าในหนังCowboy สมัยก่อน ที่เดี๋ยวนี้ก็ไม่มีให้ดูอีกแล้วนั่นแหละ
    เรื่องเหล้า…เอ้ยเรื่องเล่าเล็กๆ ของแถบตลาดล่างก็พอเป็นสังเขป ประมาณเอวังค์ด้วยประการฉะนี้แล ต้องไปขยับ Up วันเวลาอากู๋ ที่ตามเก็บมาตั้งกะตรุษจีนมาเป็นของกำนันผู้ใหญ่บ้านชาวบล็อกเกอร์ และไปรายงาน 24 ชม.มื้อสุดท้ายของเทอม2/52ก่อน
    เอ้าาาาาาาาาตามข้าพเจ้าไปป้ายหน้า วันเวลาบนGoogle & 24 ชั่วโมงปิดเบรค52จร้าา

  • ถห. แปลว่า แถมหน่อย อันว่า “ชื่อ” ของ “ถนนบ่อเริ่ม” เป็นความน่าภาคภูมิ ในความเป็นส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์พัฒนาการของประเทศ ดังนั้น เรามิหวังเลยว่าทั้ง “ในวันนี้”และ “วันหน้า” จะมีทั่นๆ ผู้มากบารมีใดๆ มาแปร มาเปลี่ยน “ชื่อ” ไปเป็นอื่น
    ให้ห่างไกลไปจาก “ชื่อ” ที่บอกเล่าประวัติความเป็นมาของตัวเองได้ ดังเช่นที่มีการเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ใน”ชื่อ” อารายต่อมิอารายบางส่วนรอบๆ องค์พระ โปรดพิจารณาให้ถี่ถ้วนก่อนที่คนรุ่นหลังจะไม่เหลือความภาคภูมิใน “รากเหง้า” ที่มีอยู่ของบ้านเมืองนี้ไปเถอะค่ะ อย่าเห็นเป็นเพียงแค่ชื่อเพราะชื่อบ้านนามเมืองที่คนโบราณเขาตั้งไว้ ล้วนมีคุณค่า มีความหมายในตัวของมันค่ะ อันนี้ขอร้องนะคร๊าาาาา

  • คุณอ้อ…สมควรเก็บเป็นข้อมูลเข้าศูนย์..นิ คิดดูตลาดนี้ผ่านมาเป็นร้อยปีแล้ว มีคนที่ยังรู้ข้อมูลที่มาที่ไปขนาดนี้ ก็รวบรวมไว้ก่อนดีกว่า แล้วค่อยเก็บเพิ่มเป็นเรื่องราว ดีมั้ยเพ่ 🙂

  • อ่านไปนึกเห็นภาพไป ถ้า Ying Lek จำอะไรได้อีกก็มาเล่าใหม่เน้อ
    แต่ที่แน่ๆ เลิกซื้อผลไม้แบกะดินซอยกลางมาน๊าน นาน แล้ว

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร