นักเรียนมีความสามารถทางพหุปัญญา
วันนี้แม่น้องโอ๊ตตัวปลอมอันดับสอง คือน้องอ้อไปรับรายงานผลการเรียนที่โรงเรียนฯ ป้าตัวจริงอ่านผลการเรียนแล้วก็..อึ้ง..กร๊ากๆๆ…คิคิ…หุหุ… จึงขอนำมาขยายความต่อขอความเห็นจากพ่อๆ แม่ๆ ป้าๆ น้าๆ ..ว่ามีความเห็นอย่างไร
เนื่องจากในความคิดเห็นของคุณครูประจำชั้นต่อน้องโอ๊ต แบ่งออกเป็น 7 เรื่อง 1-6 อ่านแล้วก็ปกติเข้าใจได้ ส่วนเรื่องที่ 7 อื่นๆ บอกว่าดังนี้คือ…
นักเรียนมีความสามารถทางพหุปัญญา ด้านมนุษยสัมพันธ์ควรได้รับการส่งเสริม
ไม่รู้ว่าผู้ปกครองท่านอื่นจะงงไหม แต่ที่รู้ๆ คือคุณแม่ตัวปลอมกับป้าตัวจริงงง นี่ขนาดผ่านๆตามาบ้างนะ เนื่องจากคุณแม่ตัวปลอมลำดับที่ 1 ไปราชการงานเมืองจึงมิได้ถามไถ่ว่าตอนปฐมนิเทศน์ลูกน้อยกลอยใจ คุณครูท่านได้เอิ้นไว้ก่อนหรือไม่ว่าพหุปัญญาคือสิ่งใด? หากบอกแล้วจำได้ไหม? ถามป้าติ๋ว ป้าติ๋วก้บอกว่าได้ยินอยู่นาแต่จำมิล่าย…
สรุปว่าหากน้องโอ๊ตเป็นเด็กชายเดินดิน ลูกประชาชนคนธรรมดาที่เป็นส่วนใหญ่ของประเทศ เชื่อว่าน่าจะงง และคงเข้าใจว่าโดยอัตโนมัติว่ามันต้องดีเป็นแน่แท้
แต่น้องโอ๊ตเป็นหลานของป้าที่อยู่ในสังคมวิชาการ จึงจำเป็นต้องหาความรู้เพิ่มเติม เผื่อในอนาคตมีใครมาถามจะได้ตอบได้
พหุ แปลว่า มาก อย่าไปสับสนกับ ลหุ ที่แปลว่าเบา และ ครุ ที่แปลว่า หนัก
พหุปัญญา นั้นไซร้มีผู้เขียนกันมากมายไม่เชื่อให้ใส่คำว่า พหุปัญญา ใน google ก็จะออกมามากมาย แต่เลือกที่นี่เพราะคนเขียนเป็นคุณหมอเด็กชื่อ นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา และคัดลอกมาจากที่นี่ค่ะ http://www.happyhomeclinic.com/a01-multiple%20intelligence.htm
คุณหมอเขียนไว้ว่า การจะบอกว่าเด็กคนหนึ่งฉลาด หรือมีความสามารถมากน้อยเพียงใด ถ้าเรานำระดับสติปัญญาหรือไอคิว ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันมาเป็นมาตรวัด ก็อาจได้ผลเพียงเสี้ยวเดียว เพราะว่าวัดได้เพียงเรื่องของภาษา ตรรกศาสตร์ คณิตศาสตร์ และมิติสัมพันธ์เพียงบางส่วนเท่านั้น ยังมีความสามารถอีกหลายด้านที่แบบทดสอบในปัจจุบันไม่สามารถวัดได้ครอบคลุม ถึง เช่น เรื่องของความสามารถทางดนตรี ความสามารถทางกีฬา และความสามารถทางศิลปะ เป็นต้น
ศาสตราจารย์โฮวาร์ด การ์ดเนอร์ (Howard Gardner) นักจิตวิทยา มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด เป็นผู้หนึ่งที่พยายามอธิบายให้เห็นถึงความสามารถที่หลากหลาย โดยคิดเป็น ” ทฤษฎีพหุปัญญา ” (Theory of Multiple Intelligences) เสนอแนวคิดว่า สติปัญญาของมนุษย์มีหลายด้านที่มีความสำคัญเท่าเทียมกัน ขึ้นอยู่กับว่าใครจะโดดเด่นในด้านไหนบ้าง แล้วแต่ละด้านผสมผสานกัน แสดงออกมาเป็นความสามารถในเรื่องใด เป็นลักษณะเฉพาะตัวของแต่ละคนไป
ใน ปี พ.ศ. 2526 การ์ดเนอร์ ได้เสนอว่าปัญญาของมนุษย์มีอยู่อย่างน้อย 7 ด้าน คือ ด้านภาษา ด้านตรรกศาสตร์และคณิตศาสตร์ ด้านมิติสัมพันธ์ ด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว ด้านดนตรี ด้านมนุษยสัมพันธ์ และด้านการเข้าใจตนเอง ต่อมาในปี พ.ศ. 2540 ได้เพิ่มเติมเข้ามาอีก 1 ด้าน คือ ด้านธรรมชาติวิทยา เพื่อให้สามารถอธิบายได้ครอบคลุมมากขึ้น
จึงสรุปได้ว่า พหุปัญญา ตามแนวคิดของการ์ดเนอร์ ในปัจจุบันมีปัญญาอยู่อย่างน้อย 8 ด้าน ดังนี้
1. ปัญญาด้านภาษา (Linguistic Intelligence) คือ ความสามารถในการใช้ภาษารูปแบบต่างๆ ตั้งแต่ภาษาพื้นเมือง จนถึงภาษาอื่นๆ ด้วย สามารถรับรู้ เข้าใจภาษา และสามารถสื่อภาษาให้ผู้อื่นเข้าใจได้ตามที่ต้องการ ผู้ที่มีปัญญาด้านนี้โดดเด่น ก็มักเป็น กวี นักเขียน นักพูด นักหนังสือพิมพ์ ครู ทนายความ หรือนักการเมือง
2. ปัญญาด้านตรรกศาสตร์และคณิตศาสตร์ (Logical-Mathematical Intelligence) คือ ความสามารถในการคิดแบบมีเหตุและผล การคิดเชิงนามธรรม การคิดคาดการณ์ และการคิดคำนวณทางคณิตศาสตร์ ผู้ที่มีปัญญาด้านนี้โดดเด่น ก็มักเป็น นักบัญชี นักสถิติ นักคณิตศาสตร์ นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ นักเขียนโปรแกรม หรือวิศวกร
3. ปัญญาด้านมิติสัมพันธ์ (Visual-Spatial Intelligence) คือ ความสามารถในการรับรู้ทางสายตาได้ดี สามารถมองเห็นพื้นที่ รูปทรง ระยะทาง และตำแหน่ง อย่างสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน แล้วถ่ายทอดแสดงออกอย่างกลมกลืน มีความไวต่อการรับรู้ในเรื่องทิศทาง สำหรับผู้ที่มีปัญญาด้านนี้โดดเด่น จะมีทั้งสายวิทย์ และสายศิลป์ สายวิทย์ ก็มักเป็น นักประดิษฐ์ วิศวกร ส่วนสายศิลป์ ก็มักเป็นศิลปินในแขนงต่างๆ เช่น จิตรกร วาดรูป ระบายสี เขียนการ์ตูน นักปั้น นักออกแบบ ช่างภาพ หรือสถาปนิก เป็นต้น
4. ปัญญาด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว (Bodily Kinesthetic Intelligence) คือ ความสามารถในการควบคุมและแสดงออกซึ่งความคิด ความรู้สึก โดยใช้อวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกาย รวมถึงความสามารถในการใช้มือประดิษฐ์ ความคล่องแคล่ว ความแข็งแรง ความรวดเร็ว ความยืดหยุ่น ความประณีต และความไวทางประสาทสัมผัส สำหรับผู้ที่มีปัญญาด้านนี้โดดเด่น มักจะเป็นนักกีฬา หรือไม่ก็ศิลปินในแขนง นักแสดง นักฟ้อน นักเต้น นักบัลเล่ย์ หรือนักแสดงกายกรรม
5. ปัญญาด้านดนตรี (Musical Intelligence) คือ ความสามารถในการซึมซับ และเข้าถึงสุนทรียะทางดนตรี ทั้งการได้ยิน การรับรู้ การจดจำ และการแต่งเพลง สามารถจดจำจังหวะ ทำนอง และโครงสร้างทางดนตรีได้ดี และถ่ายทอดออกมาโดยการฮัมเพลง เคาะจังหวะ เล่นดนตรี และร้องเพลง สำหรับผู้ที่มีปัญญาด้านนี้โดดเด่น มักจะเป็นนักดนตรี นักประพันธ์เพลง หรือนักร้อง
6. ปัญญาด้านมนุษยสัมพันธ์ (Interpersonal Intelligence) คือ ความสามารถในการเข้าใจผู้อื่น ทั้งด้านความรู้สึกนึกคิด อารมณ์ และเจตนาที่ซ่อนเร้นอยู่ภายใน มีความไวในการสังเกต สีหน้า ท่าทาง น้ำเสียง สามารถตอบสนองได้อย่างเหมาะสม สร้างมิตรภาพได้ง่าย เจรจาต่อรอง ลดความขัดแย้ง สามารถจูงใจผู้อื่นได้ดี เป็นปัญญาด้านที่จำเป็นต้องมีอยู่ในทุกคน แต่สำหรับผู้ที่มีปัญญาด้านนี้โดดเด่น มักจะเป็นครูบาอาจารย์ ผู้ให้คำปรึกษา นักการฑูต เซลแมน พนักงานขายตรง พนักงานต้อนรับ ประชาสัมพันธ์ นักการเมือง หรือนักธุรกิจ
7. ปัญญาด้านการเข้าใจตนเอง (Intrapersonal Intelligence) คือ ความสามารถในการรู้จัก ตระหนักรู้ในตนเอง สามารถเท่าทันตนเอง ควบคุมการแสดงออกอย่างเหมาะสมตามกาลเทศะ และสถานการณ์ รู้ว่าเมื่อไหร่ควรเผชิญหน้า เมื่อไหร่ควรหลีกเลี่ยง เมื่อไหร่ต้องขอความช่วยเหลือ มองภาพตนเองตามความเป็นจริง รู้ถึงจุดอ่อน หรือข้อบกพร่องของตนเอง ในขณะเดียวกันก็รู้ว่าตนมีจุดแข็ง หรือความสามารถในเรื่องใด มี ความรู้เท่าทันอารมณ์ ความรู้สึก ความคิด ความคาดหวัง ความปรารถนา และตัวตนของตนเองอย่างแท้จริง เป็นปัญญาด้านที่จำเป็นต้องมีอยู่ในทุกคนเช่นกัน เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอย่างมีคุณค่า และมีความสุข สำหรับผู้ที่มีปัญญาด้านนี้โดดเด่น มักจะเป็นนักคิด นักปรัชญา หรือนักวิจัย
8. ปัญญาด้านธรรมชาติวิทยา (Naturalist Intelligence) คือ ความสามารถในการรู้จัก และเข้าใจธรรมชาติอย่างลึกซึ้ง เข้าใจกฎเกณฑ์ ปรากฏการณ์ และการรังสรรค์ต่างๆ ของธรรมชาติ มีความไวในการสังเกต เพื่อคาดการณ์ความเป็นไปของธรรมชาติ มีความสามารถในการจัดจำแนก แยกแยะประเภทของสิ่งมีชีวิต ทั้งพืชและสัตว์ สำหรับผู้ที่มีปัญญาด้านนี้โดดเด่น มักจะเป็นนักธรณีวิทยา นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย หรือนักสำรวจธรรมชาติ
ส่วนพ่อหลานชายรูปหล่อท่าจะมีข้อ 6 น้อยไป คุณแม่ตัวปลอมคงต้องไปดำเนินการต่อและห้ามงงหากกลับไปอ่านความเห็นของคุณครูในเรื่องความสัมพันธ์กับครู เพื่อน และบุคคลในโรงเรียน ที่บอกว่า นักเรียนมีสัมพันธ์ที่ดีกับทุกคน ปรับตัวกับผู้อื่นได้ง่าย
คุณป้่าอ่านแล้วสรุปว่าสัมพันธ์ที่มีอยู่ในปัจจุบันน่ะดีแล้ว ควรส่งเสริมให้ดียิ่งขึ้นต่อไป
และขอนำเสนอหนังสือของเจ้าของทฤษฎีที่ Shelfari ค่ะ ที่ห้องสมุดฯ มีหนังสือของ Gardner หลายเล่ม แต่ท่านคงเขียนหนังสือแนวนี้อยู่หลายเรื่อง จนงง เลยขอส่งให้จัดหาฯ ตรวจสอบต่อไปค่ะ
บรรณานุกรมข้างล่างนี้คุณหมอเขียนไว้ให้เรียบร้อยแล้วเป็นวิธีที่ดีมากค่ะ เพราะคุณหมอแจ้งว่ายินดีให้เผยแพร่และให้อ้างอิงบรรณานุกรม คนที่อ้างก็เพียงแต่คัดลอกบรรณานุกรมแล้วไปแปะ แต่หากรูปแบบไม่เหมือนก็ไปปรับอีกนิดหน่อยก็เรียบโร้ยยย..
ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. ทฤษฎีพหุปัญญา. [Online] 2549; Available from: URL: http://www.happyhomeclinic.com/a01-multiple intelligence.htm
One thought on “นักเรียนมีความสามารถทางพหุปัญญา”
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.
คุณแม่จำเป็นของลูกโอ๊ตเอง อ่านแล้วอ่านอีกก็ยังงงงง และงงงง ว่า ตกลงลูกน้อยกลอยใจมีพหุปัญญาตาม 8 ด้านที่คุณป้าว่ามา (อิอิ..มีจริงอ๊ะเปล่า..เนี่ย) แต่ในข้อที่ 6 มนุษยสัมพันธ์ คงจะมีน้อยไป จึงควรได้รับการส่งเสริม
อ่ะนะ..แต่ที่แน่แน่ ต้องไปถามคุณครูก่อนว่า ลูกน้อยของข้าพเจ้าตามที่คุณครูได้เขียนไว้ในข้อนี้ [นักเรียนมีความสามารถทางพหุปัญญา ด้านมนุษยสัมพันธ์ ควรได้รับการส่งเสริม] มันหมายความว่าอะไร แล้วจะมาเล่าให้ป้าๆ ฟังนะจ๊ะ