กว่าจะเป็น “ธงมหิดล”
ธงทรงสามเหลี่ยม ตรงกลางประดับพระฉายาลักษณ์พระราชานุสาวรีย์ “สมเด็จพระราชบิดา” ถือเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของ “วันมหิดล”…ในขณะที่คนทั่วไปเห็นธงผืนนี้ ในฐานะของสัญลักษณ์แห่งกุศล เพื่อเชิญชวนให้ร่วมบริจาคช่วยเหลือผู้ป่วย แต่เส้นทางของธงผืนนี้ ที่กว่าจะมาวางเด่นเป็นสง่าในวันที่ 24 กันยายน เป็นที่น่าสนใจไม่น้อย และจะมีใครรู้บ้างว่าธงที่นำมาแจกให้กับผู้บริจาคนั้นเกิดขึ้นมาได้อย่างไร
ย้อนกลับไปเมื่อ พ.ศ.2503 ศ.นพ.กษาณ จาติกวนิช ผอ.ร.พ.ศิริราช ได้เสนอให้ศิริราชมีการจำหน่ายธง “วันมหิดล” เพื่อให้ประชาชนทุกฐานะมีส่วน เกื้อกูลผู้ป่วยยากไร้ของ ร.พ.ศิริราช ในปีแรก มีการจำหน่ายธงขนาดกลาง ราคา 10 บาท และธงเล็กทำด้วยริบบิ้น ราคา 1 บาท นักศึกษาทุกหมู่เหล่าในวิทยาเขตศิริราช ได้ช่วยกันออกไปจำหน่าย รายได้ทั้งหมดนำไปจัดซื้ออุปกรณ์ การรักษาพยาบาล และเครื่องอำนวยความสุขแก่ผู้ป่วยยากไร้ โดยในครั้งแรกแบบธงเป็นรูปสามเหลี่ยม มีรูปพระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระบรมราชชนกพิมพ์อยู่ตรงกลางผืนเช่นเดียวกับในปัจจุบัน แต่พิมพ์เป็นรูปสีเขียวบนผ้าขาว ภายหลังได้มีการเปลี่ยนแปลงให้ใช้ผ้าสีที่ตรงกับวันมหิดลในปีนั้น และทำสติ๊กเกอร์ขึ้นแทนธงริบบิ้น ต่อมาคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้ก่อตั้งศิริราชมูลนิธิขึ้นเพื่อบริหารจัดการด้านการเงินให้มีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น คณะฯ จึงมอบให้ศิริราชมูลนิธิ รับผิดชอบการจำหน่ายธงวันมหิดล ทั้งนี้ การจำหน่ายธงได้ผลดีเกินคาด ธงไม่พอสำหรับวันขายใหญ่ “กลุ่มอาสามหาวิทยาลัยมหิดล” ซึ่งประกอบด้วยนักศึกษาจากทุกคณะ และทุกวิทยาเขตจึงอาสาทำธงให้ โดยระดมทำอยู่ 2 วัน 2 คืน จนมีธงพอจำหน่ายในปีนั้น
ปีต่อมาคณะกรรมการจำหน่ายธงวันมหิดล จึงมีมติให้จ้างกลุ่มอาสาฯ ทำธงแทนจ้างบริษัทเอกชน เพราะเล็งเห็นว่านักศึกษาทำได้ดีเทียบเท่ามืออาชีพ และยังเป็นการสนับสนุนการทำกิจกรรมของนักศึกษา นอกจากนี้ผลกำไรทางกลุ่มอาสาฯ ยังนำไปสร้าง โรงเรียนในชนบททุกปี เรียกว่าได้บุญ 2 ต่อ นับเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่นอกจากจะปลูกฝังนิสัยการเป็นผู้ให้และผู้เสียสละให้แก่นักศึกษาแล้วยังเป็นกิจกรรมที่เสริมสร้างพลังสามัคคีในหมู่พี่น้องชาวม.มหิดลได้เป็นอย่างดี
วิธีทำ หลังจากที่ได้ผ้าตามกำหนด ตัดแบ่งผ้าให้เป็นชิ้นใหญ่ๆจากนั้น มารคเส้น เพื่อสกรีนตรามหิดล เมื่อผ่านการสกรีนแล้ว ก็ตีเส้นด้วยชอล์ก แล้วตัดให้สวยงามด้วยกรรไกรซิกแซ็ก ปิดท้ายด้วยการร้อยเชือกและเย็บ เป็นอันเสร็จเรียบร้อย อาทิตย์หนึ่งต้องทำให้ได้ถึง 10,000 อัน ” ใช้เวลาตั้งแต่ 4 โมงเย็น จนถึง 2 ทุ่ม และเมื่อถึงวันศุกร์ของสัปดาห์จะส่งรถไปรับน้องปี 1 และเพื่อนๆ คณะต่างๆ จากศาลายา หรือพญาไท เพื่อมาร่วมกันทำธงที่ศิริราช และจะใช้เวลาช่วงเย็นวันศุกร์ จนถึงเช้าวันเสาร์ เรียกว่า Overnight ทำงานข้ามวัน ข้ามคืนกันเลยทีเดียว งานนี้ไม่ได้บังคับ ทำในช่วงเวลาเลิกเรียน หรือไม่ใครว่างก็มาช่วยกัน
ช่วงที่น้องออมเรียนปีหนึ่งเล่าว่าไปช่วยทำธงแบบ Overnight ยังสงสัยว่าอะไรกันขนาดนี้เชียวหรือ เพิ่งจะเข้าใจนโยบายชาวมหิดล
จาก ASTV ผู้จัดการออนไลน์ 24 กันยายน 2552