จับปูดำ ขยำปูนา จับปูม้า คว้าปูทะเล
ตอนเด็กใครเคยร้องเพลง “จับปูดำ ขยำปูนา จับปูม้า คว้าปูทะเล” ไหมเอ่ย เหตุที่เขียนเรื่องเพราะได้ไปเที่ยววนอุทยานปราณบุรีกับลูกๆ ซึ่งวนอุทยานปราณบุรี ตั้งอยู่ที่ ต.ปากน้ำปราณ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบอยู่ในพื้นที่หมู่ 1 เป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และโครงการพัฒนาป่าชายเลน ตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มีพื้นที่ประมาณ 1,984 ไร่
ภายในวนอุทยานปราณบุรี มีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติสามารถเดินชมระบบนิเวศของป่าชายเลนระยะทางเดินมีความยาวประมาณ 1 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินประมาณ 30 นาที นักท่องเที่ยวจะได้ศึกษาป่าชายเลนและวิถีการดำเนินชีวิตของสัตว์ต่าง ๆ ที่อาศัยอยู่ในบริเวณป่าชายเลน บริเวณทางเดินติดตั้งป้ายสื่อความหมายตลอดเส้นทาง ที่นี่เค้าให้เช่าเรือเที่ยวชมธรรมชาติป่าชายเลนและวิถีชีวิตของชุมชนป่าชายเลนด้วย มีท่าเรือขนาดเล็กเชื่อมกับสะพานทางเดินฯ เป็นจุดที่พักเรือ กิจกรรมล่องเรือเราสามารถ สัมผัสกับความงามตามธรรมชาติและศึกษาระบบนิเวศของป่าชายเลนทางน้ำ มีพันธุ์ไม้นานาชนิดและรวมทั้งชมวิถีชีวิตชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมคลองที่นี่เค้ารักษาธรรมชาติได้ดีมาก
ต้นไม้ตามเส้นทางมีมากมายเช่นต้นโปรงขาว (ท้าวแสนปม) ซึ่งต้นโปรงขาวนี้มีประโยชน์ต่อป่าชายเลนเป็นอย่างมาก มีรากคอยดักตะกอนทรายไม่ให้ไหลลงสู่ป่าเลนต่ำ และเก็บเศษอินทรีย์วัตถุที่น้ำพัดพาเข้ามาไว้เป็นอาหารของสิ่งมีชีวิต โดยเฉพาะปู ลำต้นนิยมนำมาใช้ทำเสาธง ทำถ่านและฟืนจะให้ไฟแรง ส่วนเปลือกใช้ย้อมแห อวน ใช้ล้างแผล และห้ามเลือดได้
พอเหยียบย่างเข้าไปในเส้นทางศึกษาธรรมชาติคุณจะได้พบกับปูค่ะ คนอ่านอาจสงสัยกะแค่ปูมันมหัศจรรย์ตรงไหน ขอบอกว่า มันเป็น “ปูดำ” ปูดำตัวนี้แหละค่ะ ไม่ใช่ปูที่เราใช้ตำส้มตำน่ะนั้นคือ ปูแสม ที่ว่ามหัศจรรย์เพราะมันอยู่กันเป็นฝูง เยอะมากๆ ตามรากไม้เต็มไปหมด เค้าว่าปูชนิดนี้หากตัวใหญ่ๆ ราคาโลละ 350 บาท ปูดำ เป็นปูทะเลชนิดหนึ่งเมื่อตัวโตเต็มที่มีกระดองสีเขียวหม่น สีดำปนแดงหรือสีน้ำตาลแก่ จึงมักรียกว่า ปูดำ ขอบกระดองระหว่างนัยน์ตา มีหนามแหลม 4 อัน ส่วนขอบกระดองด้านข้างนัยน์ตาซ้ายและขวามีหนามข้างละ 8-9อัน นักวิทยาศาสตร์จึงให้ชื่อสามัญแก่ปู ชนิดนี้ว่า” ปูเลนกระดองหยักหนาม” เป็นปูทะเลชนิดที่ชุกชุมมากที่สุดในประเทศไทยปูดำ ตัวผู้มีก้ามใหญ่แข็งแรงกว่าตัวเมีย ก้ามมีสีแดง กระดองหนาบางตัวมีตะไคร่หรือเพรียงจับที่กระดอง มักขุดรูอยู่ในบริเวณน้ำตื้นในป่าชายเลนที่เป็น โคลน ป่าชายเลนเป็นทั้งบ้านและโรงอาหารของปูดำ หากขาดป่าชายเลนย่อมหมายถึง การไม่มีปูดำด้วย
และปูอีกชนิดหนึ่งที่พบคือ “ปูก้ามดาบ” เป็นปูหายากเหมือนกัน (เจ้าแตงโมลูกสาวคนเล็กเป็นคนเล่าเรื่องเกี่ยวกับปูพวกนี้ว่าหากพบเห็นปู 2 ชนิดที่ใดหมายความว่าที่แห่งนั้นอุดมสมบูรณ์) ปูก้ามดาบจะมีมากตามป่าชายเลนต้องนั่งเรือไปดูใกล้ แต่ที่ถ่ายมาให้ดูนั้นถ่ายจากอีกชายฝั่งหนึ่ง จึงห็นจุดสีขาวๆ ทั้งหมดนั่นเป็นก้ามของปูก้ามดาบค่ะ เยอะมากๆ แต่เพราะกล้องซูมได้ไม่ไกลเลยถ่ายมาได้แค่นี้
ปูก้ามดาบ (Fiddler Carb) เป็นปูขนาดเล็ก ขอบกระดอง ส่วนหน้าแคบ ทำให้เบ้าตา อยู่ชิดกัน ก้านตายาวมาก และฝังอยู่ในร่องเบ้าตา ก้ามสองข้างขนาดไม่เท่ากัน บางพวกมีขนาดก้าม แตกต่างกัน มากอย่างเด่นชัด ลักษณะโดดเด่น ของปูก้ามดาบนั้น จะมีก้ามใหญ่อยู่ทางข้างซ้ายก้ามใหญ่นี้จะชูชันสูงอยู่ตลอดเวลา เป็นลักษณะพิเศษนี้มีเฉพาะปูตัวผู้เท่านั้น ส่วนปูตัวเมียมีก้ามทั้งคู่เท่ากัน มันจะชูก้าม เพื่อแสดงความเป็นเจ้าของอาณาเขต ซึ่งตนอาศัยอยู่ เมื่อมีศัตรูผ่านมา นอกจากการชูก้ามเพื่อแสดงอำนาจแล้ว การชูก้ามของปูก้ามดาบ เป็นการชูก้ามเพื่อเรียกความสนใจจากปูตัวเมียอีกด้วย (เรียกว่าอวดสาวว่างั้นเถอะ) ปูก้ามดาบ พบตามป่าชายเลน และป่าโกงกาง กินสาหร่ายขนาดเล็ก และซากสัตว์เป็นอาหาร สิ่งมหัศจรรย์ของปูก้ามดาบที่น่าอัศจรรย์ใจ อีกอย่างหนึ่งก็คือ มันสามารถรู้กำหนด เวลาน้ำขึ้นน้ำลง ได้อย่างดีเยี่ยม ปูก้ามดาบ จะออกจากรูก่อนน้ำขึ้นน้ำลง ช้าเร็วกว่ากันราวๆ 2 ชั่วโมง ซึ่งนับว่าเป็นเรื่อง มหัศจรรย์เป็นอย่างยิ่ง ปูก้ามดาบเป็นที่นิยมจับมาขาย เพื่อเลี้ยงไว้สวยงามภายในบ้าน แต่การนำมาเลี้ยง ต้องอาศัย ความเอาใจใส่ดูแลและสร้างสภาวะแวดล้อมให้คล้าย ธรรมชาติมากที่สุด ถึงสามารถ เลี้ยงได้รอด ดังนั้นปล่อยเค้าไว้เถอะค่ะ ไว้ให้คนรุ่นต่อไป หรือคนอื่นได้ชื่นชมต่อๆกันไป
One thought on “จับปูดำ ขยำปูนา จับปูม้า คว้าปูทะเล”
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.
หลังไมค์ขอแจ้งว่า หนูอ้อหนีทีมงานที่นัดกันไปเที่ยวล่วงหน้าเป็นปีอย่างต่อหน้าตาต่อตา เพราะถึงเวลาจริงๆ เนื่องจากคนโน้นก็ติดอบรมนี้ คนนั้นก็ต้องประชุมโน้น ฯลฯ เลยขับรถไปแต่เพียงผู้เดียว ทิ้งให้พวกเรารออ่าน blog อย่างใจจดใจจ่อ