บทสัมภาษณ์ : การอ่าน
เมื่อวานนี้ลูกสาวคนโต (น้ำหอม) ได้งานจากคุณครูที่โรงเรียนใ้ห้มาสัมภาษณ์ผู้ปกครองเรื่อง เกี่ยวกับการอ่าน และ แนวหนังสือที่ชอบ เพื่อเป็นส่วนประกอบในรายงานการอ่านหนังสือนอกเวลา ทำให้ต้องระลึกถึงและย้อนชีวิตตั้งแต่สมัยเด็กเกี่ยวกับประสบการณ์การอ่านของตนเองที่จำได้ว่า สมัยเด็กหนังสือที่ไม่ใช่หนังสือเรียนที่อ่านเป็นครั้งแรกคือ นวนิยายเล่มใหญ่ และนิตยสารบางกอกที่พ่อซื้อมาอ่าน เนื่องจากพ่อเป็นนักอ่าน กิจกรรมยามว่างของพ่อคือการอ่าน และการทำเครื่องไม้เครื่องมือ สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ไว้ใช้ในบ้าน ที่ในบริเวณบ้านจะมีญาติอาศัยอยู่ คุณลุงแกมีอาชีพเป็นคนเก็บขยะในหมู่บ้านหากเทียบกับสมัยนี้็คงเป็นเจ้าหน้าที่เทศบาลนั่นเอง แกก็มักจะมีหนังสือเก่าๆ นิตยสารเก่าๆ มาฝากเป็นประจำ พออ่านเสร็จเล่มไหนชอบก็ขอเก็บไว้ บางเล่มก็คืนไปเพราะแกจะได้เอาไปขายต่อได้
ตอนที่เข้าเรียนชั้นมัธยม สถานที่แห่งแรกที่ไปดูคือห้องสมุด หลังจากนั้นเข้าห้องสมุดแทบทุกวันที่มีเวลาว่าง จนสนิทสนมกับอาจารย์บรรณารักษ์ ยืมหนังสือนวนิยาย เรื่องสั้น ไปอ่านหมดทุกเล่มในห้องสมุด จนเริ่มจะไม่มีอะไรให้อ่าน ก็ขยับขยายพื้นที่ของการอ่านไปยังห้องสมุดประชาชนที่ตั้งอยู่ใกล้โรงเรียน และร้านเช่าหนังสือที่ต้องเดินผ่านในตอนเย็นเพื่อไปขึ้นรถกลับบ้าน เก็บเงินค่าขนมไว้สำหรับซื้อหนังสือการ์ตูนไว้อ่านเอง สมัยก่อนร้านหนังสือซึ่งไม่ใหญ่มากนักในจังหวัดมีอยู่เพียง 2 หรือ 3 ร้าน เดินเข้าออกจนเป็นที่รู้จักกับเจ้าของร้าน จึงมักมีการสั่งจองหนังสือการ์ตูนกันแบบใต้โต๊ะให้เก็บไว้ก่อน (แบบว่า กลัวคนอื่นแย่งซื้อกันก่อนค่ะ หรือบางที่ยังเก็บเงินที่ได้จากค่าขนมไม่พอ) หนังสือที่ซื้ออ่านแต่ละเล่มจะเก็บไว้เป็นอย่างดี ใส่ลังกระดาษห่อด้วยถุงพลาสติกทุเล่ม ใส่ลูกเหม็นกันแมลงสาบเก็บไว้จนถึงตอนที่เรียนจบมหาวิทยาลัยและทำงาน (ที่เสียใจมากคือ แม่เอาหนังสือที่อุตสาห์ซื้อไว้จากเงินค่าขนมไปขาย จำได้ว่าเสียดายมาก ขนาดคนที่รับซื้อยังออกปากเลยว่า สงสัยเจ้าของจะรักหนังสือมากดูแลเป็นอย่างดี)
พอเข้ามหาวิทยาลัยก็เลยเลือกเรียนในสาขาวิชาบรรณารักษ์ และตั้งใจว่าจะต้องทำงานในห้องสมุดให้ได้ สิ่งที่ประทับใจมากคือ ตอนที่ทำงานเมื่อครั้งอยู่ที่กรุงเทพฯ ทำงานที่ห้องสมุดสภาสตรีแห่งชาติ ทีทำงานไปออกร้านงานกาชาดที่สวนอัมพร และที่กระทรวงศึกษาจัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ (ก่อนที่จะเปลี่ยนมาจัดมาที่ศูนย์สิริกิติ์ฯ ) ได้ไปเดินซื้อหนังสือทุกวันจนเจ้าหน้าที่ประจำร้านบางร้านจำได้ ก็มีการลดแลกแจกแถม จนแถบหอบหิ้วกลับบ้านมาแทบไม่หมด
มาตอนนี้ก็ยังคงอ่านหนังสืออยู่ และหนังสือที่อ่านก็หลากหลายประเภทมากขึ้น อาจเป็นเหตุจากการทำงานด้วยอาชีพบรรณารักษ์และความชอบส่วนตัว รวมถึงการที่ต้องคอยตอบคำถามลูกๆ ในข้อสงสัยต่างๆ ที่เค้าสนใจและสงสัย จนบางครั้งลูกๆ ถามว่า ” ทำมั๊ยทำมัยแม่ถึงรู้มากจัง” ก็เลยตอบว่า ” เพราะแม่อ่านหนังสือนะซิ” (แถมต้องคอบตอบคำถามลูกๆ ) นิสัยอย่างหนึ่งคือ หากมีข้อสงสัยอะไรแล้วตอบคำถามไม่ได้ก็ต้องไปค้นดู ยิ่งตอนนี้การไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ตัวหนังสือในหน้ากระดาษเท่านั้น บนโลกอินเทอร์เน็ตเรายังหาอ่านอะไรได้มากมายเท่าที่เราสนใจและต้องการ
การอ่านช่วยสร้างจินตนาการ สร้างความรู้ สร้างประสบการณ์ สร้างเพื่อน การอ่านให้อะไรดีๆ กับเรามากกว่าที่เราคิด ทุกวันนี้จะพาลูกไปร้านขายหนังสือเดือนละ 2 ครั้ง เท่าที่เวลาจะอำนวย ให้เค้าซื้อหนังสือที่ชื่นชอบและอยากอ่าน ที่บ้านก็วางหนังสือไว้เต็มไปหมด เผื่อว่าเค้าเห็น แค่หยิบหนังสือขึ้นมาอ่านแค่ 2-3 ก็ถือว่าอ่านแล้ว เป็นการสร้างนิสัยการอ่านให้กับเด็ก
ข้อความข้างบนเป็นข้อสัมภาษณ์ที่ตอบลูกสาวเพื่อไปใส่ในรายงานส่งคุณครู ส่วนคุณแม่ก็เลยเขียนลง blog เพราะอยากให้เห็นว่า การสร้างนิสัยรักการอ่าน ต้องช่วยกันสร้าง ทั้งจากครอบครัว โรงเรียน และจากส่วนต่างๆ ไม่ได้มาจากส่วนใดส่วนหนึ่งเพียงส่วนเดียว จะเห็นได้จาก ที่รัฐบาลได้กำหนดให้ การอ่านเป็นวาระแห่งชาติ ด้วยเล็งเห็นความสำคัญของการอ่านนั่นเอง
2 thoughts on “บทสัมภาษณ์ : การอ่าน”
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.
พี่อ่านนิยายเล่มยาวๆ เรื่องแรกคือ สี่แผ่นดิน ตอนอยู่ ป.สองจำได้ว่าอ่านแบบไม่หลับไม่นอน หลังจากนั้นจึงตะลุยอ่านนิยายของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ตามด้วยทมยันตรี โสภาค สุวรรณ กฤษณา อโศกสิน ที่บ้านโชคดีมีหนังสือให้อ่านตั้งแต่เด็กๆ จนถึงอยู่มัธยม ทั้งหนังสือพิมพ์ ชัยพฤกษ์ หนูจ๋า เสรีภาพ เด็กก้าวหน้า ขวัญเรือน กุลสตรี หญิงไทย สกุลไทย และทุกคนที่บ้านต้องมีหน้าที่อ่านหนังสือให้อาม่าฟังทุกคืนก่อนนอนตั้งแต่พี่ๆ คนโต จนสุดท้ายคือเราที่เป็นลูกคนเล็กในบ้าน หนังสือที่อ่านในยุคแรกๆ อยู่ในหีบเก่าๆ เป็นเรื่องเตมีย์ใบ้และธรรมะเป็นส่วนใหญ่ อาม่าเป็นพี่สาวคนโตอ่านหนังสือไม่ออก ส่วนน้องสาวของอาม่าทุกคนอ่านหนังสือออกและชอบอ่านนิยายในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ สมัยที่มีชีวิตใช้ทั้งแว่นตาและแว่นขยาย เห็นคนแก่อายุแปดสิบกว่าอ่านหนังสือแบบนั้นแล้วน่ารักดี พี่เลยติดนิสัยอ่านหนังสือทุกชนิดมาตั้งแต่จำความได้มั้ง
จำได้ว่าพ่อสอนให้อ่านหนังสือ ประถม ก กา ตั้งแต่ยังไม่ได้เข้าโรงเรียนตอนแรกก็สงสัยเหมือนกันว่าจะอ่านไปทำไม ต้องอ่านทุกวันเลย เขียน ก ถึง ฮ ทุกวัน จะเป็นอย่างนี้เป็นประจำ จนเข้าโรงเรียน พ่อสอนให้ลูกๆ ทุกคนอ่านหนังสือได้ ก่อนเข้า ป. ๑