“บางมุม” ในอวดของ “โครงการสัมมนาทางวิชาการเรื่องการจัดการและพัฒนาสารสนเทศด้านศิลปวัฒนธรรม สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยศิลปากร”

30 August 2019
Posted by sukanya



 เมื่อวันที่ 20-21 สิงหาคม 2562 ผู้เขียนได้เป็นส่วนหนึ่งในการทำหน้าที่เป็นคณะอนุกรรมการฝ่ายพิธีการ ต้อนรับ และประชาสัมพันธ์ ในงาน อวดของ “โครงการสัมมนาทางวิชาการเรื่องการจัดการและพัฒนาสารสนเทศด้านศิลปวัฒนธรรม สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยศิลปากร”ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ซึ่งตั้งอยู่ที่สี่แยกปทุมวัน แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร
 
วัตถุประสงค์ของโครงการนี้ มีด้วยกัน 3 ข้อ ได้แก่ 

  1. เพื่อเผยแพร่ผลงานและนวัตกรรมด้านสารสนเทศด้านศิลปวัฒนธรรมของสำนักหอสมุดกลางต่อสาธารณะ
  2. เพื่อเป็นเวทีถ่ายทอดแลกเปลี่ยนแนวคิดเกี่ยวกับการการสารสนเทศด้านศิลปวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาด้านการบริการห้องสมุดและสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพและตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ในยุคดิจิทัล
  3. เพื่อเป็นช่องทางในการสื่อสารภาพลักษณ์องค์กรให้หน่วยงานภายนอกได้รับรู้และเห็นคุณค่าของสารสนเทศด้านศิลปวัฒนธรรม

 
         
     
     
       
 
หัวข้อในการสัมมนาจึงเป็นแนวศิลปวัฒนธรรม เช่น

  • ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง คุณค่าศิลปากร แหล่งความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมและความเป็นไทย โดย คุณภารเดช พยัฆวิเชียร นายกสภามหาวิทยาลัยศิลปากร
  • เสวนาวิชาการหัวข้อ “ด้วยดวงใจอันไม่รู้จักหยุดนิ่ง : รวมงานเขียน 75 ปี 75 นักเขียนศิลปากร
  • เสวนาวิชาการหัวข้อ“การจัดการสารสนเทศเพื่อการศึกษาวิจัยด้านศิลปวัฒนธรรม”
  • แนะนำฐานข้อมูลการ์ตูนไทย สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยศิลปากร
  • เสวนาวิชาการหัวข้อ “การ์ตูนไทยสะท้อนวิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรม”
  • เสวนาวิชาการหัวข้อ “การ์ตูนไทยก้าวหน้า”

 

 
วิทยากรในการเสวนา จะเป็นศิลปินและนักเขียนการ์ตูนที่มีชื่อเสียงในประเทศไทย คณาจารย์ของมหาวิทยาลัยศิลปากร และบุคลากรของสำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยศิลปากร
 

 
แต่หัวข้อที่ผู้เขียนสนใจเป็นพิเศษ คือหัวข้อ “แลกเปลี่ยนเรียนรู้และปฏิบัติการ “ฅน เข้าใจ/นวัตกรรม/สร้างสรรค์อย่างไรกับโลกยุคปัญญาประดิษฐ์” วิทยากร โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ปรีชา เถาทอง ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ ประจำปี 2552 ปัจจุบันท่านอายุย่างเข้าสู่วัย 72 ปี โดยเกิดเมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2491 ท่านเป็นผู้หนึ่งที่วาดภาพประกอบหนังสือ “พระมหาชนก” ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ขณะทรงครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี
 
     

 
ในโอกาสนี้ นอกจากที่ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ปรีชา เถาทอง จะให้เกียรติมาเป็นวิทยากร ท่านยังได้วาดภาพเพื่อนำมาแจกให้กับผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการและผู้จัด ซึ่งภาพดังกล่าวพิมพ์ทั้งหมด 149 ภาพ  แต่ละภาพทางผู้จัดงานจะใส่เลขลำดับกำกับไว้ที่ใต้ภาพ หลังจากทำหน้าที่เป็นวิทยากรเสร็จ ท่านได้มอบลายเซ็นไว้ในภาพให้กับผู้เข้าร่วมโครงการและผู้จัดแต่ละคนด้วย
ข้อความบางตอนในสไลด์นำเสนอของท่าน กล่าวไว้ว่า
 
“ศิลปะไม่ได้สอนให้วาดรูปเป็น แต่สอนให้รู้จักการใช้ชีวิต”
ศิลปะไม่ใช่วิชาที่สอนเพื่อวาดภาพเท่านั้น แต่เป็นการสอนทักษะในการใช้ชีวิตด้วย  เราอาจจะสังเกตเห็นว่า ศิลปิน หรือนักวาดภาพอารมณ์เย็น มีอารมณ์สุนทรีมองอะไรก็เป็นความคิดสร้างสรรค์ นอกจากนี้กว่าเขาจะบรรจงวาดได้ ต้องจินตนาการภาพขึ้นมาในหัวก่อน การทำแบบนี้ไม่ต่างจากการไตร่ตรอง ใคร่ครวญ จึงเริ่มขีดลากเส้น จนกลายเป็นภาพชีวิตก็ไม่ต่างจากการทำงานศิลปะ หากใช้ชีวิตโดยไม่ไตร่ตรองใดใดเลย ชีวิตอาจจะเป็นไปอย่างไร้จุดมุ่งหมาย

อาจารย์ศิลป์ พีระศรี

 
ศิลปะ ถือได้ว่าเป็นภาษากลางของมนุษย์ ซึ่งใช้เป็นสัญลักษณ์ในการสื่อสาร แสดงให้เห็นถึงศิลปวัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ และถ่ายทอดออกมาเป็นงานศิลปะ ซึ่งมีด้วยกันหลายแขนง เช่น จิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม วรรณกรรม ดนตรี นาฏกรรม ภาพยนตร์ ภาพถ่าย เป็นต้น ผู้ที่เสพงานศิลปะชิ้นเดียวกัน อาจจะตีความหมายได้ต่างกัน ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละบุคคล
 
ท่านพูดถึงการสร้างสรรค์ศิลปะวิชาการว่า เปรียบเสมือน my heart, my head, my hands ซึ่งผลงานศิลปะทุกแขนงจะเกิดขึ้นมาจากแรงดลใจ แนวคิด ทัศนคติ ความเชื่อ การรับรู้ที่ศิลปินหรือผู้สร้างสรรค์ผลงานมีอยู่ภายในตัว แล้วกลั่นกรอง เรียบเรียง ตีความออกมาเป็นความคิด รูปแบบ หรือแนวเรื่อง แล้วนำเสนอหรือสร้างสรรค์ออกมาเป็นงานศิลปะในรูปแบบต่าง ๆ
 
ศิลปินหรือผู้สร้างสรรค์งานศิลปะแม้จะผลิตผลงานศิลปะออกมาในรูปแบบเดียวกัน แต่ก็จะมีความต่าง ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของแต่ละคนที่ไม่สามารถลอกเลียนแบบหรือทำให้เหมือนกันได้
 
ท่านพูดถึง AI หรือ Artificial Intelligence หรือ ปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งเป็นวิทยาการทางด้านปัญญาที่มนุษย์คิดค้นขึ้นเพื่อมาช่วยให้มนุษย์แก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น หรือมาทำงานแทนมนุษย์ โดยมีพฤติกรรมบางอย่างเลียนแบบมนุษย์ ในปัจจุบันจึงมีงานบางอย่างที่ AI เข้าไปทำงานแทนมนุษย์ ทำให้มนุษย์ตกงานหรือไม่มีงานทำในบางอาชีพ แต่ปัจจุบันก็มีสิ่งที่ AI ยังทำแทนมนุษย์ไม่ได้ ได้มีผู้รวบรวมไว้ว่ามีด้วยกันจำนวน 7 ทักษะ ได้แก่ (1) ทักษะด้านการสื่อสาร หรือ Communication (2) การสร้างสรรค์เนื้อหา หรือ Content (3) การเข้าใจบริบท หรือ Context (4) ความสามารถทางด้านอารมณ์ หรือ Emotional competence (5) การสอน การโค้ช งานที่ปรึกษา หรือ Teaching (6) การติดต่อกันในแวดวงของกลุ่มคนที่สนใจในเรื่องเดียวกันหรือหลากหลายอาชีพ หรือ Connections และ (7) เข็มทิศจริยธรรม เป็นการนำ AI มาเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ บางเรื่องที่ละเอียดอ่อนก็จำเป็นต้องใช้มนุษย์ในการตัดสินใจ หรือ An ethical compass ซึ่งในอนาคตมนุษย์อาจพัฒนา AI ให้สามารถทำงานทั้ง 7 ทักษะนี้ก็ได้
 
ผู้เขียนมีความเห็นว่า แม้ผู้ที่ไม่ได้เรียนมาทางด้านศิลปะโดยตรง แต่ทุกคนก็มีศิลปะในด้านที่ตนเองชื่นชอบ ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ ดนตรี การแสดงต่าง ๆ ถ่ายภาพ สถาปัตยกรรม ภาพจิตรกรรม ประติมากรรม หรือผลงานทางด้านวรรณกรรม โดยเป็นได้ทั้งผู้ผลิตและผู้เสพ ศิลปะจะเป็นเครื่องผ่อนคลายให้หายเครียดได้ ทำให้มีอารมณ์เย็นลง มีสมาธิมากขึ้น เนื่องจากระหว่างที่ผลิตหรือเสพผลงานจะต้องมีใจจดใจจ่ออยู่กับเรื่องเหล่านั้น ทำให้ลืมเรื่องที่เครียดหรือเป็นกังวลไปได้ชั่วขณะ ในวงการแพทย์จึงมีการนำศิลปะมาใช้รักษาโรคบางอย่างที่เรียกว่า ศิลปะบำบัด

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร