หนังสือหายาก#หนังสือหาไม่พบ

16 August 2019
Posted by tanawan

จากการปฏิบัติหน้าที่บริการตอบคำถามและช่วยการค้นคว้า ณ เคาน์เตอร์บริการสารนิเทศ ชั้น 2  อาคารหอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ เมื่อประมาณ 5 เดือนที่ผ่านมา ดิฉันได้พบกับคำถามหนึ่งที่เป็นอีกมุมมองหนึ่งที่เราในฐานะบรรณารักษ์ให้บริการตอบคำถามไม่เคยมองมุมนี้  คือ มีนักศึกษาท่านหนึ่งเดินเข้ามาสอบถามพร้อมกับยื่นกระดาษซึ่งจดเลขเรียกหนังสือให้ โดยแจ้งว่า หาไม่พบ เป็นหนังสือหายาก ด้วยความประมาท เชื่อและวางใจผุู้ใช้บริการและเห็นว่าผู้ใช้เดินออกมาจากห้อง ศ.ดร.เจตนา นาควัชระ  ดิฉันจึงได้นำกุญแจไปเปิดตู้หนังสือหายากด้วยความรวดเร็ว ค้นหาตัวเล่มตามเลขเรียกหนังสือนั้น ปรากฎว่า “ไม่พบ” ตัวเล่มดังกล่าว ค้นหาทวนไปมาหลายครั้งและหาจากชั้นใกล้เคียงก็ยังคง “ไม่พบ”  จึงได้นำเลขเรียกหนังสือดังกล่าว มาสืบค้นในระบบ www.opac.lib.su.ac.th  พบว่ารายการหนังสือดังกล่าวเป็น “หนังสือทั่วไป” จัดเก็บ  “อยู่ชั้น 2”  สถานะ “อยู่บนชั้น” จึงสอบถามนักศึกษาว่า ขอโทษนะคะ เมื่อกี้ที่แจ้งว่าเป็นหนังสือหายาก ใช่ไหมคะ นักศึกษารับว่า “ครับ” จึงแจ้งผู้ใช้บริการทราบว่า รายการดังกล่าว “ไม่ใช่หนังสือหายาก” นะคะ  เป็นหนังสือทั่วไป นักศึกษาร้อง “อ้าว!!” ดิฉันสอบถามว่า ทำไมนักศึกษาจึงเข้าใจและเรียกว่า “หนังสือหายาก” นักศึกษาตอบว่า ก็ผมหาหนังสือเล่มนี้มาหลายครั้งแล้ว หาเท่าไรก็ไม่พบ จึงเข้าใจว่า หนังสือประเภทที่หาไม่พบเหล่านี้ คือ ประเภทหนังสือหายาก จึงมาติดต่อสอบถามเจ้าหน้าที่

ดิฉันได้รับฟังตอนแรกเข้าใจว่า นักศึกษาจะแกล้งเข้าใจผิดหรือไม่ แต่พอดิฉันทดลองสืบค้นรายการหนังสือหายากในระบบฯ 1 รายการเพื่อเป็นตัวอย่าง แล้วพานักศึกษาไปดูตัวเล่มที่ตู้หนังสือหายาก พร้อมกับอธิบายว่า หนังสือหายากตาม collection ของห้องสมุดฯ คือ Rare book หมายถึง หนังสืออันทรงคุณค่า เป็นหนังสือที่ค่อนข้างเก่า มีราคาสูง ไม่สามารถหาได้ทั่วไป บางเล่มไม่มีวางจำหน่ายแล้ว เป็นประโยชน์อย่างสูงต่อการศึกษาค้นคว้าและการดำเนินการวิจัยฯ เป็นต้น
เมื่อดิฉันอธิบายเสร็จ นักศึกษาบอกว่า ผมเข้าใจแล้วครับ และยอมรับว่า ตนเองต้องขอโทษจริง ๆ เนื่องจากผมไม่ทราบจริง ๆ ว่ามี collection “หนังสือหายาก” ในห้องสมุด ผมเข้าใจผิดไปเองว่า “หนังสือหายาก” ก็คือ “หนังสือที่หาเท่าไรก็ไม่พบ” นักศึกษาได้กล่าวขอบคุณดิฉันสำหรับความรู้ใหม่ที่ได้รับ  ซึ่งทำให้ตนเองเข้าใจหนังสือคอลเล็กชั่นต่าง ๆ ของห้องสมุดฯ มากยิ่งขึ้น   
สำหรับเรื่องนี้ สอนให้เจ้าหน้าที่ให้บริการตอบคำถามอย่างดิฉันเองได้รู้ว่า ในการฟังคำถามหรือการบอกเล่าจากผู้ใช้บริการ เราไม่ควรวางใจเชื่อทั้งหมดที่ผู้ใช้บริการพูด  หลังจากรับฟังแล้วเราต้องดำเนินการตรวจสอบก่อนทุกครั้ง เพราะเราไม่อาจทราบมุมมองของผู้ใช้ได้ทุกท่าน  เพื่อจะได้ไม่เสียเวลาในการค้นหา
 
 

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร