มือใหม่ : หัดปลูกแคคตัสเป็นงานอดิเรก

26 July 2019
Posted by sukanya

 เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2562 เวลา 9.00 – 16.00 น.  ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมอบรมเกี่ยวกับการเพาะ ขยายพันธุ์และปลูกเลี้ยงแคคตัส ซึ่งจัดขึ้นในงานมหกรรมเกษตรปลอดภัยและกล้วยไม้งามอร่ามพระราชวังสนามจันทร์ ระหว่างวันที่ 11-17 กรกฎาคม 2562 ณ พระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม ได้ฟังการบรรยายจากท่านวิทยากร สาธิตวิธีการต่าง ๆ และลงมือทำด้วยตนเอง สนุก ได้ความรู้ และยังได้ต้นแคคตัสและวัสดุปลูกกลับบ้านมาด้วย 
 
ผู้เขียนเคยปลูกแคคตัสมาบ้างแล้ว แต่ไม่มีความรู้เท่าที่ควร และบางครั้งไม่มีเวลาจึงปล่อยปละละเลย ทำให้ตายไปบ้าง และไม่ค่อยออกดอก แต่ก็ยังซื้อมาปลูกเรื่อย ๆ เพราะชอบ
 

การปลูกแคคตัส หรือกระบองเพชร หรือตะบองเพชร จะถือว่าง่ายก็ง่าย หรือจะถือว่ายากก็ยาก ขึ้นอยู่ว่าเราเข้าใจธรรมชาติของเขาหรือไม่ และดูแลรักษาให้เหมาะสมกับธรรมชาติของเขาหรือไม่
 
แคคตัส เป็นพันธุ์ไม้ที่มีความทรหดอดทนต่อสภาพแวดล้อม เจริญเติบโตได้ในหลายพื้นที่ หลายสภาพอากาศ ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของแคคตัส เช่น ทะเลทราย ชายฝั่งทะเล บริเวณทุ่งหญ้า ในป่าที่มีความชื้นสูง ที่ที่มีอากาศหนาว แคคตัสมีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปอเมริกา จนถึงกลางศตวรรษที่ 15 คริสโตเฟอร์ โคลัมบัสได้นำเข้ามาในทวีปยุโรป จนนิยมปลูกเป็นไม้ประดับกันอย่างแพร่หลายทั้งในทวีปยุโรป ออสเตรเลีย และภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก มีการเพาะพันธุ์และพัฒนาสายพันธุ์ให้สวยงามจนถึงปัจจุบัน
  
 
แคคตัส มีหลายสายพันธุ์และมีรูปร่างแตกต่างกันไปมากมาย เช่น ทรงกลม ทรงกระบอก มีทั้งที่ขึ้นเป็นต้นเดี่ยว ๆ และที่ขึ้นรวมกันเป็นกลุ่ม มีขนาดต่างกันตั้งแต่ขนาดเล็กที่นิยมนำมาเลี้ยงเป็นไม้ประดับ จนถึงขนาดใหญ่ที่มีความสูงกว่า 24 เมตร
พืชประเภทแคคตัสจะมีลักษณะ คือ

  • ลำต้นมีลักษณะอวบน้ำ ผิวลำต้นคล้ายเคลือบด้วยขี้ผึ้ง มีส่วนประกอบที่เรียกว่าตุ่มหนาม
  • ไม่มีใบที่แท้จริง เพราะใบลดรูปกลายเป็นหนาม เพื่อช่วยลดการคายน้ำและป้องกันอันตรายของต้น ยกเว้นบางสายพันธุ์ที่ยังมีใบให้เห็นอยู่
  • ดอกเป็นแบบไม่มีก้านดอก ดอกมักเกิดจากตาดอกที่บริเวณตุ่มหนาม ยกเว้นบางสายพันธุ์ที่อาจมีตาดอกบริเวณอื่นของลำต้น ดอกมีรูปร่างต่างกัน เช่น รูปกรวย รูประฆัง รูปจาน หรือมีลักษณะเป็นหลอด
  • ผลของแคคตัส โดยมากจะมีสีสันสดใส รูปร่างเป็นทรงกลม ทรงกระบอก หรือรูปไข่ ผิวมันเรียบ มีขนหรือมีหนามปกคลุม หรือมีลักษณะเป็นเกล็ดซ้อนทับกัน เนื้อในผลมีลักษณะนุ่ม ใส คล้ายวุ้น และมีเมล็ดปนอยู่ในเนื้อ

  
ในการปลูกแคคตัส จะต้องใช้วัสดุปลูก ซึ่งจะนำมาผสมกัน เพื่อให้ได้วัสดุปลูกตามที่เหมาะสมกับแคคตัส วัสดุที่นำมาเป็นวัสดุปลูกมีหลายชนิด เช่น

  • ดิน ควรเป็นดินร่วนหรือดินร่วนเหนียวที่มีลักษณะร่วมซุย น้ำซึมผ่านได้ดี
  • พีทมอส เป็นวัสดุที่เกิดจากการผุพัง ทับถมของพืชจำพวก Sphagnum moss มีสารอินทรีย์ที่เป็นอาหารพืช และสามารถอุ้มน้ำได้ดี
  • เพอร์ไลท์ เป็นวัสดุธรรมชาติที่เกิดจากการสลายตัวของหินภูเขาไฟ มีสีขาวอมเทา ได้มาจากลาวาของภูเขาไฟ มีลักษณะเป็นเม็ดเล็ก ๆ มีน้ำหนักเบา เอาไว้เป็นที่ยึดเกาะของรากพืช
  • ขุยมะพร้าว ใบไม้ผุ เมล็ดฝ้าย เปลือกถั่ว ขี้เลื่อย แกลบคั่ว
  • ถ่านป่นซึ่งเป็นถ่านดำนำมาทุกให้แตกเป็นก้อนเล็ก ๆ
  • ปูนขาว เพื่อช่วยปรับสภาพดินให้ดีขึ้น
  • กระดูกป่น
  • เวอร์มิคูไลท์ มีสีน้ำตาลแบน ๆ เป็นชั้น ๆ สามารถอุ้มน้ำได้ดี ทำให้วัสดุปลูกมีความชื้น ไม่แห้ง
  • ทรายหยาบขนาดเท่าเม็ดถั่วเขียว
  • ปุ๋ยเม็ด ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก
  • ดินญี่ปุ่น เป็นดินที่ทำมาจากธรรมชาติ มีแร่ธาตุสูง
  • หินภูเขาไฟหรือหินพัมมิส เป็นหินแร่แถบภูเขาไฟ จะมีโพรงอากาศอยู่ภายใน 


 
สูตรผสมวัสดุปลูก ไม่มีสูตรตายตัว ขึ้นอยู่กับความชอบ ความเหมาะสมกับสถานที่ปลูก หรือแล้วแต่จะหาวัสดุปลูกได้ ซึ่งต้องดูคุณสมบัติของวัสดุปลูกให้ผสมกันแล้วมีความโปร่ง น้ำซึมผ่านได้ดี มีธาตุอาหารที่พืชต้องการ เช่น

  • ดินร่วน 2 ส่วน ทรายหยาบ 3 ส่วน ถ่านป่น 1 ส่วน ใบไม้ผุหรือปุ๋ยหมัก 1 ส่วน อาจผสมกากถั่ว ปุ๋ยคอก กระดูกป่น
  • ดินร่วน 3 ส่วน ถ่านเกล็ด 1 ส่วน ขุยมะพร้าว 1 ส่วน ปุ๋ยอินทรีย์ 1 ส่วน
  • ดินร่วน 1 ส่วน ทรายหยาบ 1 ส่วน พีทมอส 1 ส่วน หินภูเขาไฟ 1 ส่วน เพอร์ไลท์ 1 ส่วน

 
 
การขยายพันธุ์แคคตัส ทำได้ 3 วิธี ได้แก่

  1.  การเพาะเมล็ด โดยใช้เมล็ดเล็ก ๆ ที่อยู่ในผลสุกเต็มที่ นำมาล้างน้ำเอาเมือกออกให้หมด นำไปผึ่งให้แห้งในที่ร่มที่มีอากาศถ่ายเท จากนั้นโรยเมล็ดลงบนวัสดุปลูก
  2.  การตัดแยกจากต้น กิ่ง หรือหัวย่อย 
  3. การต่อยอด นิยมทำกับแคคตัสพันธุ์ที่มีสีสันต่าง ๆ ที่ไม่ใช่สีเขียว

 

   
       

แคคตัสเป็นพืชที่ต้องการน้ำน้อย การให้น้ำไม่จำเป็นต้องรดบ่อย จะทำให้รากเน่า ให้รดน้ำประมาณ 3-4 วันต่อครั้ง หรือดูว่าดินแห้งค่อยรดน้ำ แต่เป็นพืชที่ต้องการแสงแดด จึงควรให้ได้รับแสงแดดอย่างสม่ำเสมอ หากนำไปไว้ในที่ร่ม แคคตัสจะยืดตัวเพื่อหาแสง ทำให้ทรงไม่สวย ไม่เป็นทรงกลม หรือตายได้ หากเลี้ยงในที่ร่ม ควรนำออกไปรับแสงแดดบ่อย ๆ
 
เหตุผลที่ผู้เขียนชอบปลูกแคคตัสเป็นงานอดิเรก เป็นพืชที่มีทรงต้นหลากหลาย มีดอกที่มีสีสันสวยงาม ดอกมีหลายสีขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ เช่น สีแดง สีขาว สีชมพู สีเหลือง สีส้ม ผู้เขียนได้ลองหัดขยายพันธุ์ด้วยวิธีต่าง ๆ ดูบ้างแล้ว แต่ก็ยังมีไม่กี่ต้น เพราะแบ่งปันเพื่อนบ้าง ตายไปบ้างเพราะรากเน่า โดนหนู หอยทากกัดกิน และแมวเอาไปเล่น แต่ก็ยังไม่ยอมเลิกเลี้ยง
 

บรรณานุกรม

 
พฤษภะ ณ อยุธยา.  (2546).  การปลูกแคตตัส.  กรุงเทพฯ : พี พี เวิลด์ มีเดีย.
พัฒน์  พิชาน.  (2545).  แคตตัส : CACTUS.  กรุงเทพฯ : แนวเกษตรกรรม.
วชิรพงศ์  หวลบุตตา.  (2538).  แคตตัส : ไม้ดอกไม้ประดับ.  กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง.
 

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร