Lean กับการบริหารจัดการในองค์กร

19 February 2019
Posted by sukanya

ในอดีตเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นในการทำงาน เจ้าของกิจการ ผู้บริหารและพนักงานจะช่วยกันหาวิธีแก้ปัญหานั้น ๆ วิธีการแก้ไขปัญหาบางอย่างก็ใช้ได้แค่ในช่วงเวลานั้น ๆ วิธีการบางอย่างก็สามารถนำมาปรับใช้ได้ทั้งในอดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่ง Lean ก็เป็นแนวคิดในการแก้ไขปัญหาและปรับปรุงการทำงานที่เกิดขึ้นตั้งแต่ประมาณ ค.ศ. 1990 และในปัจจุบันก็ยังมีการนำแนวคิดดังกล่าวมาปรับใช้
 
Lean กำเนิดขึ้นในอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ โดยบริษัท Toyota ผู้ผลิตรถยนต์ของประเทศญี่ปุ่น ได้นำแนวคิดด้านการบริหารจัดการผลิตรถยนต์ของอเมริกาคือบริษัท Ford มาปรับปรุงระบบการผลิตรถยนต์ของ Toyota ให้เป็นระบบการผลิตแบบทันเวลาพอดี (Just in Time Production System : JIT) โดยมีหลักการสำคัญคือ การผลิตเฉพาะสินค้าหรือชิ้นส่วนที่จำเป็น ตามปริมาณที่ต้องการ ภายในเวลาที่ต้องการ โดยมุ่งเน้นกำจัดความสูญเปล่าที่เกิดขึ้นในกระบวนการทำงาน และให้ความสำคัญทางด้านคุณภาพควบคู่กันไปด้วย
 
Lean แปลเป็นภาษาไทยว่า “ผอมหรือบาง” เป็นระบบที่มีประสิทธิภาพในการขจัดของเสียทุกชนิด ทำให้ไม่มีของเสียเกิดขึ้น ทุกกระบวนการ ในระบบต้องมีแต่การเพิ่มคุณค่าให้กับการผลิตหรือบริการ และต้องตัดกิจกรรมใดก็ตามที่ไม่มีประโยชน์ สูญเปล่า ไม่มีการเพิ่มคุณค่าในกระบวนการออกไป
 
แนวคิดของ Toyota ได้แบ่งสิ่งที่ทำให้เกิดความสูญเสียออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

  • MUDA คือ ความสูญเปล่าหรือ (Wastes)  มีด้วยกัน 7 ชนิด ได้แก่ (1) การมีของเสีย (2) การผลิตที่มากเกินไปโดยไม่จำเป็น (3) การมีสินค้าคงคลังมากเกินความต้องการ (4) การมีกระบวนการที่ทำแล้วไม่เกิดคุณค่า (5) การเคลื่อนไหวร่างกายที่ไม่จำเป็น (6) การเคลื่อนย้ายชิ้นส่วน งานระหว่างทำหรือผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปโดยไม่จำเป็น และ (7) การรอคอยทั้งในการปฏิบัติงานของพนักงานและในกระบวนการผลิต
  • MURA คือ ความไม่สม่ำเสมอ ทั้งปริมาณงาน วิธีการทำงาน ภาวะทางอารมณ์ของพนักงาน ทำให้งานออกมาไม่ได้มาตรฐานหรือด้อยประสิทธิภาพ  
  • MURI คือ สภาวะที่เกินกำลัง ทั้งกำลังคน กระบวนการผลิตและเครื่องจักร

 
ในสภาวะปัจจุบันความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ทั้งด้านเทคโนโลยี การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การติดต่อสื่อสาร การคมนาคม และยังมีการทำธุรกรรมออนไลน์ได้อย่างง่ายดาย ทำให้ผู้คนสามารถตอบสนองความต้องการของเขาได้อย่างรวดเร็ว ได้ทุกที่ ทุกเวลา ความต้องการของลูกค้าจึงเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เราจึงพบสินค้าหรือบริการที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าเป็นรายบุคคล หรือสินค้าที่ทำตามสั่ง หรือที่เรียกว่า Made to order หรือ Custom made อยู่เป็นจำนวนมากในท้องตลาด ซึ่งทำให้ผู้ผลิตไม่ต้องสต๊อกสินค้าไว้เป็นปริมาณมากซึ่งอาจเสี่ยงกับการขายไม่ได้ การผลิตสินค้าหรือบริการจะทำตามที่ลูกค้าต้องการ ทำให้ผู้ผลิตสามารถแสดงความรู้ความสามารถ ความเชี่ยวชาญในการผลิตสินค้าซึ่งสามารถสร้างความแตกต่างในสินค้าและบริการได้ตลอดเวลา ทำให้สินค้าและบริการเกิดความแตกต่างจากคู่แข่ง
 
จากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว อีกทั้งทุกองค์กรก็มีการปรับลดบุคลากรให้น้อยลงเพื่อเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร และนำเอาเทคโนโลยีมาใช้เพื่อให้มีบุคลากรน้อยแต่ทำงานได้มากขึ้น การจัดการกระบวนการแบบ Lean จึงเหมาะสมที่จะนำมาปรับใช้ในองค์กร เนื่องจากเป็นวิธีการที่พิจารณาคุณค่าในการดำเนินงาน สิ่งใดที่ทำแล้วไม่ก่อให้เกิดคุณค่าหรือผลประโยชน์ต่อองค์กรหรืออาจเรียกว่าไม่ตอบสนองยุทธศาสตร์หรือภารกิจของหน่วยงานก็ไม่ควรทำ กระทำในสิ่งที่มุ่งตอบสนองให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า ฟังเสียงของลูกค้าว่าต้องการอะไร เขาต้องการให้เราทำอะไรให้เขาบ้าง ดูว่าสิ่งที่เรากำลังทำอยู่นั้นลูกค้าต้องการหรือไม่ ทำให้พอดีกับความต้องการ เราต้องสร้างคุณค่าในตัวสินค้าหรือบริการ ให้ความสำคัญกับการผลิตสินค้าหรือบริการที่มีคุณภาพ มีมาตรฐาน ลดขั้นตอนหรือกระบวนการในการผลิตสินค้าหรือบริการให้กระชับ รวดเร็วขึ้น กำจัดความสูญเปล่าที่เกิดขึ้นตลอดทั้งกระบวนการอย่างต่อเนื่อง และปรับภาระงานให้เกิดความเท่าเทียมกันในกลุ่มพนักงาน เพื่อให้องค์กรมีความยืดหยุ่นสูงและรองรับกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วได้ จึงจะทำให้องค์กรหรือธุรกิจของเราอยู่รอดได้
 

บรรณานุกรม

 
เกียรติขจร  โฆมานะเสิน. (2550).  Lean : วิถีแห่งการสร้างคุณค่าสู่องค์ที่เป็นเลิศ.  กรุงเทพฯ : สถาบันการเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ.
 
นิพนธ์  บัวแก้ว. (2547).  รู้จัก…ระบบการผลิตแบบลีน (Introduction to Lean Manufacturing).  กรุงเทพฯ : สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น).
 
วิโรจน์  ลักขณาอดิศร. (2552).  ลีนอย่างไรสร้างกำไรให้องค์กร = Profitable Lean Manufacturing.  กรุงเทพฯ : สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น).

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร