อาการติดโทรศัพท์มือถือเราเข้าข่ายไหมนะ?

19 September 2018
Posted by Kasorn Sansuwan

             สังคมในยุคปัจจุบันการติดต่อสื่อสารโดยใช้โทรศัพท์มือถือนับว่าเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวัน แต่บางกลุ่มมีพฤติกรรมติดอยู่กับการเล่นโทรศัพท์มือถือตลอดเวลา พฤติกรรมเหล่านี้ จะถูกวินิจฉัยว่าเป็นอาการโนโมโฟเบีย (nomophobia) หรือติดโทรศัพท์มือถือ
             โนโมโฟเบีย (nomophobia) มาจากคำว่า “no mobile phone phobia” เป็นศัพท์ที่หน่วยงานวิจัยทางการตลาดขนาดใหญ่ของสหราชอาณาจักร บัญญัติขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2553 เพื่อใช้เรียกอาการที่เกิดจากความหวาดกลัว วิตกกังวลเมื่อขาดโทรศัพท์มือถือ และจัดเป็นโรคจิตเวชประเภทหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มวิตกกังวล  พบมากที่สุด กว่าร้อยละ 70 ในกลุ่มเยาวชน 18-24 ปี  รองลงมาคือกลุ่มคนวัยทำงานช่วงอายุ 25-34 ปี  และกลุ่มวัยใกล้เกษียณ 55 ปีขึ้นไป
             จากการสำรวจพบคนไทยใช้โทรศัพท์มือถือ เฉลี่ย 50.61 นาทีต่อวัน รายงานข่าวจากสำนักงาน กสทช. (คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) ค่าเฉลี่ย 50.61 นาทีต่อวัน กสทช. ได้มาจากการตอบแบบสอบถามทั่วประเทศ จำนวน 7,619 ราย ซึ่งมีบางคนใช้โทรศัพท์มือถือวันละหลายชั่วโมงต่อวัน การใช้โทรศัพท์มือถือวันละหลาย ๆ ชั่วโมง        มีความเสี่ยงต่ออาการติดโทรศัพท์มือถือ หรือ โนโมโฟเบีย ซึ่งมีผลต่อสุขภาพต่อตนเอง
พฤติกรรม อาการติดโทรศัพท์มือถือ เช่น
            – พกติดตัว ต้องวางไว้ใกล้ตัวเสมอ
            – รู้สึกกังวลเมื่อมือถือไม่ได้อยู่กับตัวหรือแบตเตอรี่หมด
            – คอยเช็กข้อความจากโซเชียลมีเดีย
            – หยิบโทรศัพท์ขึ้นมาดูบ่อยแม้ไม่มีเรื่องด่วน
            – ตื่นนอนจะเช็กโทรศัพท์ก่อน
            – เล่นโทรศัพท์ก่อนนอน ติดเกม
            – แต่ละวันใช้เวลาพูดคุยกับผู้คนผ่านโทรศัพท์มากกว่าพูดคุยกับคนรอบข้าง
              ถ้าเราอยู่ในที่ที่ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ ไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต หรือจู่ ๆ แบตเตอรี่โทรศัพท์หมด แล้วเรารู้สึกหงุดหงิด กระวนกระวาย แสดงว่าเข้าเค้าอาการโนโมโฟเบีย
อาการติดโทรศัพท์มือถือกับสุขภาพ
       อาการติดโทรศัพท์มือถือจะส่งผลต่อการปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างและสังคม โดยเฉพาะด้านสุขภาพร่างกาย เช่น 
      1.  นิ้วล็อก เกิดจากการใช้นิ้วกด จิ้ม สไลด์ หน้าจอเป็นระยะเวลานาน
      2. อาการทางสายตา เช่น ตาล้า ตาพร่า ตาแห้ง เกิดจากเพ่งสายตาจ้องหน้าจอเล็ก ๆ ที่มีแสงจ้านานเกินไป อาจส่งผลให้วุ้นตาเสื่อม จอประสาทตาเสื่อม
     3. ปวดเมื่อยคอ บ่า ไหล่ จากการก้มหน้า ค้อมตัวลง ส่งผลเลือดไหลเวียนไม่สะดวก หากเล่นนาน ๆ อาจมีอาการปวดศีรษะตามมา
     4. หมอนรองกระดูกเสื่อมสภาพก่อนวัยอันควร การใช้โทรศัพท์ในท่าทางที่ไม่ถูกสุขลักษณะ โดยเฉพาะก้มหน้าบ่อย ๆ นาน ๆ เป็นประจำสม่ำเสมอ
     5. โรคอ้วน แม้พฤติกรรมจะไม่ส่งผลโดยตรง แต่การนั่งทั้งวันโดยไม่ลุกเดินไปไหน เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคอ้วนและโรคอื่น ๆ ได้ เนื่องจากร่างกายไม่ได้มีการเผาผลาญใด ๆ เลย
     6. ขาดสังคม การที่เราหมกมุ่นอยู่แต่กับโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ตอย่างงอมแงมอยู่แต่ในโลกออนไลน์ โดยที่ไม่สนใจคนรอบข้างเลย ทำให้เราเป็นคนขาดสังคม หลีกหนีสังคม ไม่มั่นใจในตัวเอง และอาจมีพฤติกรรมก้าวร้าวได้
แนวทางในการเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้สมาร์ทโฟนด้วยตนเอง มีหลายวิธี เช่น
        – กำหนดช่วงเวลาใช้โซเชียลมีเดียในแต่ละวัน หรือใช้เท่าที่จำเป็น
        – ให้ห้องนอนเป็นห้องปลอดโทรศัพท์มือถือ เพื่อที่เราจะได้ไม่ต้องคอยกังวล หรือเผลอหยิบมาเล่น
        – กำหนดสถานการณ์ที่จะไม่เล่นสมาร์ทโฟน เช่น ขณะเดิน กิน ก่อนนอน ตื่นนอนใหม่ ๆ ขับรถ อยู่บนรถโดยสาร เรียน ทำงาน หรือแม้แต่อยู่ในห้องน้ำ ควรหางานอดิเรกอื่น ๆ เช่นการอ่านหนังสือ ปลูกต้นไม้ รวมถึงการเล่นกีฬา มากกว่าการใช้เวลาอยู่กับอุปกรณ์สื่อสารทุกชนิด
        รีบปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเองกันตั้งแต่วันนี้ อย่าให้การติดโทรศัพท์มือถือมาบั่นทอนสุขภาพกายใจของเรา
 
ข้อมูล
กองบรรณาธิการ. “โนโมโฟเบีย อาการติดโทรศัพท์มือถือ.” หมอชาวบ้าน. 40, 469 (พฤษภาคม 2561) : 72-73
นายรักษ์ สุขภาพ. “โนโมโฟเบีย โรคสุดฮิตของคนใช้สมาร์ทโฟนในยุคดิจิทัล.” วารสาร อพวช. 172, 15 (ตุลาคม 2559) : 24-27 โนโมโฟเบีย โรคกลัวไม่มีมือถือใช้ เราเข้าข่ายไหมนะ? เข้าถึงเมื่อ 16 กันยายน 2561 เข้าถึงได้จาก https://health.kapook.com/view87257.html

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร