ศ.ดร. ชัยอนันต์ สมุทรวณิช ผู้มาก่อนกาล…การศึกษาไทย


ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ชื่อนี้ได้ยินคุ้นเคย
แต่ไม่เคยเลยสักครั้งที่จะสนใจประวัติ
เมื่อได้รับรู้…ก็สายเสียแล้ว
ประวัติบางช่วงตอนของท่าน
จากจดหมายเหตุวชิราวุธ เล่าว่า
ท่านดำรงตำแหน่งผู้บังคับการวชิราวุธทยาลัย…โรงเรียนสุภาพบุรุษ
มายาวนาน ถึง ๑๑ ปี ตั้งแต่วันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๓๙ – ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๐
โรงเรียนแห่งนี้ สถาปนาขึ้นจากการที่โรงเรียน ๒ แห่งได้ถูกยุบรวม
คือ โรงเรียนมหาดเล็กหลวง และโรงเรียนราชวิทยาลัยบางขวาง
ตั้งชื่อเป็นวชิราวุธวิทยาลัยตามพระนามของรัชกาลที่ ๖
เมื่อครั้งทรงเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ
ต่อมาสมัยรัชกาลที่ ๗ ช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๑
ขณะที่เศรษฐกิจไทยและทั่วโลกย่ำแย่
โรงเรียนในความดูแลหลายแห่งถูกยุบ
โรงเรียน ๒ แห่งนี้ก็ได้ถูกยุบรวมกัน
โรงเรียนมหาดเล็กหลวงนั้น ตั้งขึ้นด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ 
ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยทรงสถาปนาขึ้น
เมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๔๕๓ อันเป็นปีแรกแห่งรัชกาล
พระองค์ทรงตั้งพระทัยให้โรงเรียนสุภาพบุรุษทรงแห่งนี้
เป็นสถาบันการศึกษาแก่กุลบุตรชาวไทย
และเป็นเสมือนพระอารามหลวงประจำรัชกาล
ดังพระบรมราโชบายตอนหนึ่ง ความว่า
“…ข้าไม่ต้องการนักเรียนตัวอย่าง
ที่สอบไล่ได้คะแนนขั้นเกียรตินิยมทุกๆ ครั้ง
ข้าไม่ต้องการตำราเรียนที่เดินได้
ที่ข้าอยากได้นั้น คือ เยาวชนที่เป็นสุภาพบุรุษ
ซื่อสัตย์ สุจริต มีอุปนิสัยใจคอดี
ข้าจะไม่โศกเศร้าเลย ถ้าเจ้าจะมารายงานว่า
เด็กคนหนึ่งเขียนหนังสือไม่คล่อง คิดเลขเศษซ้อนไม่เป็น
และไม่รู้วิชาเรขาคณิตเลย ถ้าข้ารู้ว่าเด็กคนนั้นได้ศึกษา
พอที่จะรู้ว่าความเป็นลูกผู้ชายคืออะไร และขี้แยคืออะไร
ข้าไม่อยากได้ยินคนฉลาดบ่นอีกว่า ปัญญาท่วมหัว เอาตัวไม่รอด…”
ศ.ดร.ชัยอนันท์ สมุทวณิช ศิษย์เก่าแห่งโรงเรียนสุภาพบุรุษ
อดีตอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ อดีตผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย
อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อดีตประธานกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ
อดีตราชบัณฑิตประจำสำนักธรรมศาสตร์และการเมือง ฯลฯ
เป็นทั้งนักการศึกษา และนักวิชาการที่มีบทบาทอย่างสูงต่อพัฒนาการ
ทางการเมืองของประเทศไทย มีผลงานสำคัญมากมายจนได้รับรางวัล
นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์
ท่านเป็นผู้ที่มีบทบาทเคลื่อนไหวทางการเมืองมาโดยตลอด
เป็นหนึ่งในผู้ลงชื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ๑๐๐ คน
ในเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ และในปี ๒๕๓๑
ได้ร่วมกับนักวิชาการ เช่น ศ.ดร.ปราโมทย์ นาครทรรพ
และ รศ.ดร.ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ รวบรวมนักวิชาการ ๙๙ คน
ลงชื่อเรียกร้องให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์
ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
และรณรงค์เรื่องนายกรัฐมนตรี…ต้องมาจากการเลือกตั้ง
และเป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาทเคลื่อนไหว เรียกร้องให้
พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ก่อนจะเกิดเหตุการณ์ รัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙
ในด้านของการศึกษานั้น ระยะเวลา ๑๑ ปี ทีดำรงตำแหน่ง
ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย ในฐานะ
นักเรียนเก่าคนแรกที่ได้กลับมาบังคับการวิทยาลัยนั้น
ท่านริเริ่มนำทฤษฎีการศึกษา ที่สนับสนุนให้เด็ก
ได้แสวงหาความรู้ อย่างมีความสุขอยู่อย่างไม่เปลี่ยนแปลง
มาปรับใช้กับการเรียนการสอนในโรงเรียน
ด้วยเชื่อว่า “การเล่น เพื่อรู้ เป็นวิธีการสำคัญในการพัฒนาเด็ก
โดยได้คิดบัญญัติศัพท์ “Plearn” ซึ่งมาจากคำว่า play+learn
เป็นการเปลี่ยนการเรียนตลอดชีวิต ให้เป็นการเพลินตลอดชีวิต”
ซึ่งแนวทางการจัดการศึกษาของท่านนั้น
นอกจากจะดำเนินตามพระบรมราโชบายที่รัชกาลที่ ๖
ได้พระราชทานไว้ว่า…
“ข้าต้องการให้การศึกษาเป็นสิ่งเพลิดเพลินสำหรับเด็ก” แล้ว
ยังบังเอินสอดคล้องกับแนวคิดการจัดการศึกษา
ตาม พรบ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒
อันมีจุดมุ่งหมายในการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบใหม่
ให้นักเรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ ซึ่งวชิราวุธวิทยาลัย
ได้ดำเนินการจัดการศึกษาในระบบใหม่นี้มาแล้วหลายปี
ก่อนที่จะมีการประกาศใช้ พ.ร.บ. ดังกล่าว
และก่อนที่โรงเรียนทั่วไปจะเริ่มจัดให้มีการพัฒนาบุคลากร
พัฒนาหลักสูตรตาม พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวเมื่อปี ๒๕๔๕
ขอร่วมไว้อาลัยในฐานะที่ท่านเป็น
…ผู้มาก่อนกาล…ด้านการศึกษาของไทย…
……………แม้ว่า…จนวันนี้……………
สถานการณ์ นักเรียนเป็นศูนย์กลาง หรือ Child Centered
ในโรงเรียนบางแห่ง หรือ อาจ…หลายแห่ง
…ยังแลดูช่างโหวงเหวง…อ้างว้างเหลือเกิน…
สู่สุคติแด่ “ครู” ศ.ดร. ชัยอนันต์ สมุทรวณิช
๑๕ กันยายน ๒๕๖๑
ติดตามประวัติและข้อมูลอ้างอิงเพิ่มเติมได้ที่
https://mgronline.com/politics/detail/9610000092477
https://www.posttoday.com/life/life/225936
http://www.parent-youth.net/index.php?lay=show&ac=article&Id=538689000&Ntype=5

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร