เกวียนแห่นาค
เมื่อวันที่ 14 ก.ค. 61 ดิฉันไปร่วมงานบวชพระ ซึ่งเป็นลูกของอา ที่อำเภอกำแพงแสน การบวชพระเป็นประเพณีโบราณที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาจากความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา และความเชื่อที่ว่าลูกผู้ชายตอบแทนคุณบิดรมารดาด้วยการบวชเป็นพระ โดยผู้ชายที่จะบวชจะต้องมีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป การจัดงานจะมี 2 วัน วันแรกเรียกว่าวันรับนาค วันที่สองจะเป็นการนำนาคเข้าสู่พิธีกรรมสงฆ์เป็นพระอย่างสมบูรณ์ ในวันรับนาคนั้นช่วงเช้าจะมีการโกนผมให้นาคโดยให้พ่อแม่ ผู้ให้กำเนิดเป็นผู้โกนผมก่อน ลำดับถัดมาเป็นเป็นญาติๆ คนรู้จัก เป็นต้น จากนั้นจึงนำนาคไปที่วัดโดยจะมีขบวนไปร่วมกับนาคด้วย
เมื่อถึงเวลาก็จะแห่นาคจากวัดมาบ้าน หากวัดอยู่ไกลจากบ้านมากจะนั่งรถยนต์มาสักระยะหนึ่ง เมื่อถึงจุดที่จะเริ่มแห่นาค จะตั้งขบวน โดยมีนางรำอยู่ข้างหน้า ถัดมาเป็นแตรวง (บางบ้านก็จะใช้รถเครื่องเสียง) สำหรับนาคจะให้นั่งรถยนต์ บางที่ให้นาคขี่ม้า ส่วนบ้านญาติของดิฉันใช้วัวเทียมเกวียนในการแห่นาค ด้วยความที่พ่อนาคชื่นชอบวัวและเกวียนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว มีวัวเทียมเกวียนเป็นของตนเอง จึงใช้วัวเทียมเกวียนแห่นาค นอกจากนี้ยังมีเพื่อนๆที่มีวัวเทียมเกวียน นำมาร่วมแห่นาคในวันงานด้วย จึงกลายเป็นขบวนแห่เกวียนที่สวยงามให้ได้ชมกันถึง 4 เล่มด้วยกัน
วัวที่ใช้เทียมเกวียนนี้ต้องมีอายุตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป ด้วยสรีระของวัวที่เติบโตขึ้น สามารถรับน้ำหนักเกวียนได้ จะใช้วัว 2 ตัวที่มีขนาดใกล้เคียงกัน การตกแต่งเกวียนและวัว จะมีอุปกรณ์ตกแต่งที่สวยงาม เริ่มตั้งแต่ มีพวงมาลัยคล้องคอวัว อุปกรณ์ตกแต่งเขาวัว ซึ่งจะเป็นไหมพรมถักให้มีขนาดสวมเขาวัวได้ และอุปกรณ์ตกแต่งหน้าผากวัว ส่วนเกวียนก็จะมีผ้าจับจีบผูกที่เกวียน การแห่เกวียนจะใช้คนคอยควบคุมอย่างน้อย 2 คนขึ้นไป จะอยู่ด้านหน้าประกบวัวคนละตัวคอยควบคุมทิศทางวัว เลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา การหยุดขบวน ส่วนคนอื่นก็จะร่วมเดินไปพร้อมกับเกวียน
ไม่เพียงแต่งานบวชเท่านั้น วัวเทียมเกวียนยังใช้ในงานรื่นเริงต่างๆ เช่น งานทอดกฐิน ซึ่งจะมีการแห่กฐินรอบอุโบสถ จะใช้วัวเทียมเกวียนร่วมขบวนแห่ งานศิลปวัฒนธรรมชุมชน ซึ่งปัจจุบันนี้ต่างหันมาให้ความสนใจงานศิลปวัฒนธรรมมากขึ้น นิยมใช้วัวเทียมเกวียนร่วมขบวนแห่เช่นกัน
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |