อาหารการกิน มรดกทางภูมิปัญญาของคนไทย ตอนที่ 2

           ตอนที่แล้วได้กล่าวถึงอาหารหวานของไทยที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติไปแล้ว ในครั้งนี้ขอกล่าวถึงอาหารคาวบ้างว่ามีอาหารชนิดใดที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาบ้าง เริ่มจาก
          –  แกงเขียวหวาน  เป็นแกงกะทิที่ผสมเครื่องแกงและเครื่องเทศคล้ายกับแกงเผ็ดหรือแกงแดง ต่างตรงที่ใช้พริกสดทั้งพริกขี้หนูเขียวหรือพริกชี้ฟ้าเขียวเป็นเครื่องแกง ทำให้น้ำแกงเป็นสีเขียวอันเป็นลักษณะเด่นของแกงชนิดนี้ เดิมนิยมใช้เนื้อวัวมาแกง แต่ปัจจุบันใช้ทั้งเนื้อ หมู ไก่ และปลา ส่วนผักที่ใช้ใส่แกงคือมะเขือเปราะและมะเขือพวง แล้วโรยหน้าแกงด้วยใบโหระพา ใบมะกรูดเพื่อเพิ่มความหอมน่ากินยิ่งขึ้น แกงเขียวหวานมีรสเผ็ดนำจะเผ็ดกว่าแกงเผ็ดธรรมดา มักกินคู่กับขนมจีน ปัจจุบันมีผู้นำแกงเขียวหวานไปประยุกต์กินคู่กับอาหารอื่นๆด้วย แกงเขียวหวานได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาฯ เมื่อปีพ.ศ. 2555
          –  แกงเผ็ด เป็นแกงกะทิผสมด้วยเครื่องแกงและเครื่องเทศ ใช้พริกแห้งเป็นเครื่องแกงสมัยก่อนนิยมใช้พริกบางช้างซึ่งให้สีแดงสวย จึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า แกงแดง แกงเผ็ดจะใส่เนื้อสัตว์ต่างๆเช่น เนื้อ ไก่ หมู ปลา ส่วนผักที่ใส่นั้นมีหลายชนิดเช่น มะเขือเปราะ มะขือพวง มะเขือยาว หน่อไม้ ฟักทอง เป็นต้น แล้วโรยหน้าแกงด้วยใบโหระพา ใบมะกรูด พริกชี้ฟ้าสดหั่นเฉียง เพื่อให้กลิ่นหอมและดูน่ากินอีกด้วย แกงเผ็ดเป็นแกงยอดนิยมประเภทหนึ่งในสำรับอาหารไทยภาคกลาง แกงเผ็ด ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญฯ เมื่อปีพ.ศ. 2555
          –  แกงพุงปลาหรือแกงไตปลา เป็นแกงยอดนิยมประจำถิ่นของคนภาคใต้ การทำไตปลาหรือพุงปลาเป็นการถนอมอาหารอย่างหนึ่งซึ่งเป็นภูมิปัญญาของชาวใต้ โดยนำตับ ไต ไส้พุงของปลามาหมักกับเกลือ เมื่อหมักนานได้ที่แล้วเวลาจะทำแกงก็นำมาต้มแล้วกรองเอาน้ำผสมกับเครื่องแกงคือน้ำพริกแกงซึ่งจะใช้พริกขี้หนูแห้งและพริกขี้หนูสดรวมกันใส่ขมิ้นด้วย ต้มน้ำแกงแล้วใส่ปลาทอดหรือปลาย่างหรือปลาสดก็ได้ พร้อมทั้งใส่ผักต่างๆเช่นหน่อไม้ มะเขือ ถั่วฝักยาว มันขี้หนู ฟักทอง เป็นต้น แกงไตปลาจะมีรสเค็มนำพร้อมความเผ็ดร้อน จึงนิยมกินร่วมกับผักเหนาะคือผักหลากหลายชนิดเพื่อลดความเผ็ดร้อนของแกง  แกงพุงปลา ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาฯ เมื่อปีพ.ศ. 2557
        –  ข้าวยำ  เป็นอาหารไทยในภาคใต้ ประกอบด้วย ข้าวสุก มะพร้าวคั่ว กุ้งแห้งป่นหรือปลาป่น มะม่วงซอยหรือมะนาว ผักเครื่องเคียงชนิดต่างๆที่มีตามท้องถิ่นและตามฤดูกาลหั่นละเอียด พร้อมทั้งน้ำบูดูใช้ราดข้าวที่จะยำ ซึ่งจะขาดมิได้เลยสำหรับข้าวยำ  สำหรับน้ำบูดูหรือน้ำเคยจะมีความข้นเล็กน้อยมีรสเค็มนำรสหวาน ข้าวยำจัดเป็นอาหารจานเดียวที่ครบถ้วนด้วยคุณค่าทางโภชนาการ นับเป็นความชาญฉลาดของบรรพบุรุษเราอย่างยิ่ง ข้าวยำ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญฯ เมื่อปีพ.ศ. 2556
         –  ต้มยำกุ้ง  เป็นอาหารไทยภาคกลาง แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ ต้มยำกุ้งน้ำใส และต้มยำกุ้งน้ำข้น(ใส่กะทิ) ต้มยำกุ้งน้ำใสนั้นเป็นต้นตำหรับของต้มยำ (สมัยเก่าก่อนจะเป็นต้มยำปลาเสียมากกว่า) ส่วนเครื่องต้มยำที่ใช้เป็นพืชสมุนไพรของไทยเรา เช่น ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด ปรุงแต่งรสด้วย น้ำปลา มะนาวและพริกขี้หนู เป็นอาหารที่ปรุงรสและดัดแปลงง่าย แล้วแต่ความชอบของผู้บริโภค  ปัจจุบันต้มยำกุ้งเป็นอาหารประจำชาติไทย ที่ชาวต่างชาตินิยมที่สุด เพราะมีรสชาด มีกลิ่นหอมจากพืชสมุนไพรที่ขับเลือดลมได้ดี ต้มยำกุ้ง ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาฯ เมื่อปีพ.ศ. 2554 
         –  ผัดไทย  เป็นอาหารประเภทเส้นที่ใช้เส้นก๋วยเตี๋ยวมาผัด โดยใส่เครื่องปรุงต่างๆเช่นน้ำมะขามเปียก น้ำตาลปี๊บ น้ำปลา ไข่ เต้าหู้ หัวไชโป๊สับ กุ้งแห้งหรือกุ้งสด ถั่วงอก กุยช่าย ถั่วลิสงคั่วป่น รับประทานกับผักเคียงเช่นหัวปลี ใบบัวบก ต้นกุยช่าย ผัดไทยเป็นอาหารจานเดียวที่อร่อยมีครบทุกรสชาด ได้คุณค่าทางอาหารครบถ้วน ผัดไทย ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาฯ เมื่อปีพ.ศ. 2554
         –  ส้มตำ  เป็นอาหารประเภทยำ เดิมกินควบคู่กับข้าวมันเรียกว่า “ข้าวมันส้มตำ” เป็นอาหารของคนไทยภาคกลางที่มาจากสำรับอาหารชาววังมาก่อน โดยเครื่องปรุงประกอบด้วย มะละกอสดสับซอย คลุกกับกุ้งแห้งป่น กระเทียม พริกขี้หนู ปรุงรสด้วยน้ำมะขามเปียก น้ำปลา น้ำตาล มะนาว  ส่วนของชาวอีสานเรียกส้มตำว่า ตำบักหุ่ง นิยมใส่ปลาร้า เป็นเครื่องปรุงรส  ในปัจจุบันส้มตำที่แพร่หลายมีความหลากหลายในการปรุงมาก เช่น ส้มตำไทย ส้มตำลาวหรือส้มตำปลาร้า ส้มตำปู ส้มตำไข่เค็ม  ตำซั่ว(ใส่เส้นขนมจีนด้วย) ส้มตำเป็นอาหารไขมันต่ำมีเส้นใยสูงเป็นอาหารสุขภาพยอดนิยมของไทย หากินได้ทั่วทุกภูมิภาค ส้มตำ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาฯ เมื่อปีพ.ศ. 2555
       –  น้ำพริก  เป็นอาหารประเภทเครื่องจิ้ม และเป็นอาหารประจำสำรับกับข้าวไทยมาช้านาน น้ำพริกมีในทุกภูมิภาคของไทย คนไทยนิยมกินน้ำพริกคู่กับผักจิ้มนานาชนิดที่มีในท้องถิ่นและตามฤดูกาล ใช้ทั้งผักสด ผักต้ม/ลวก หรือชุบไข่ทอด ในภาคกลางนิยมน้ำพริกกะปิ น้ำพริกมะขาม น้ำพริกมะม่วง น้ำพริกเผา ภาคเหนือมีน้ำพริกอ่อง น้ำพริกหนุ่ม น้ำพริกน้ำปู๋  ภาคอีสานมีน้ำพริกปลาร้า แจ่วบอง ส่วนภาคใต้มีน้ำพริกกุ้งเสียบ น้ำพริกมันกุ้ง เป็นต้น น้ำพริก ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาฯ เมื่อปีพ.ศ. 2555
       นอกจากอาหารหวาน-คาว ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติแล้ว ยังมีเครื่องปรุงแต่งรสที่ก่อให้เกิดรสชาดกับอาหารชนิดต่างๆให้มีรสกลมกล่อมถูกปากถูกใจผู้บริโภค ทีเกิดจากภูมิปัญญาอันล้ำเลิศของบรรพบุรุษเรา คือ น้ำตาล ทั้งน้ำตาลมะพร้าวและน้ำตาลโตนด ที่มักเรียกกันว่า น้ำตาลปี๊บและน้ำตาลปึก  ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาฯ เมื่อปีพ.ศ. 2554  และเครื่องปรุงแต่งรสอาหารอีกอย่างหนึ่งที่คนไทยแทบทุกครัวเรือนจะขาดเสียมิได้เลย คือ น้ำปลา ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาฯ เมื่อปีพ.ศ. 2554  ส่วนอีกอย่างหนึ่งที่เป็นภูมิปัญญาในการถนอมอาหารของคนไทย โดยเฉพาะในภาคอีสาน คือ ปลาร้า(ปลาแดก)  ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาฯ เมื่อปีพ.ศ. 2555
         ยังมีรายละเอียดของอาหารการกินอีกมากมาย ที่มิได้นำมากล่าวถึงในที่นี้สามารถไปหาอ่านเพิ่มเติม จากหนังสือ “ความรู้และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล : มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ” เลขหมู่ DS568ก447  

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร