การใช้งานลิขสิทธิ์ที่เป็นธรรมสำหรับบรรณารักษ์และห้องสมุด

                เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2561 คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้จัดกิจกรรมให้ความรู้เรื่อง “กฎหมายลิขสิทธิ์กับงานห้องสมุด” โดยคุณเขมะศิริ นิชชากร ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านลิขสิทธิ์ กรมทรัพย์สินทางปัญญา เป็นวิทยากร ซึ่งได้กล่าวถึงลิขสิทธิ์ที่เกี่ยวข้องกับห้องสมุดไว้หลายประเด็น จะว่าไปในฐานะที่พวกเราทำงานห้องสมุด มุ่งเน้นในเรื่องของการบริการให้เป็นที่พึงพอใจแก่ผู้ใช้บริการ ก็อาจทำให้เราเสี่ยงต่อการละเมิดลิขสิทธิ์ได้โดยไม่ตั้งใจ ทั้งนี้และทั้งนั้นเราก็คงต้องมีความรู้ในเรื่องของลิขสิทธิ์ไว้บ้าง เพื่อลดความเสี่ยงลง

                ส่วนที่จะมาบอกเล่าในวันนี้ ไม่ใช่เรื่องราวที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมในวันนั้น แต่เป็นเรื่องที่น่าจะใกล้เราชาวบรรณารักษ์มากยิ่งขึ้น เมื่อคณะอนุกรรมการด้านงานวรรณกรรม กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้จัดทำคู่มือที่ชื่อว่า “คู่มือการใช้งานลิขสิทธิ์ที่เป็นธรรมสำหรับบรรณารักษ์และห้องสมุด” ขึ้น ซึ่งคู่มือจะบอกถถึงข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ของบรรณารักษ์และห้องสมุด  กรณีตัวอย่าง และคำถาม-คำตอบเกี่ยวกับการดำเนินการต่างๆ ของบรรณารักษ์/ห้องสมุดว่าทำได้หรือไม่ ละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่ เป็นต้น
 
                ในคู่มือมีการนิยามคำว่า “บรรณารักษ์” และ “ห้องสมุด” ซึ่งบอกว่า
               บรรณารักษ์  หมายถึง บุคคลที่รับผิดชอบในการบริหารและดำเนินงานในห้องสมุด รวมถึงผู้ปฏิบัติงานในหน้าที่บรรณารักษ์ห้องสมุด
               ห้องสมุด หมายถึง แหล่งบริการสารสนเทศ ทั้งในรูปแบบสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อโสตทัศน์ และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมีบรรณารักษ์เป็นผู้บริหารดำเนินงาน และบริการผู้ใช้ มีวัตถุประสงค์โดยทั่วไปเพื่อการศึกษา ค้นคว้า วิจัย การพักผ่อนหย่อนใจ ความจรรโลงใจ และอาจมีชื่อเรียกอย่างอื่นที่หลากหลายแต่ต่างกันไป
 
               ในเรื่องของข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์สำหรับบรรณารักษ์ห้องสมุด ซึ่งมาตรา 34 บอกไว้ว่า การทำซ้ำโดยบรรณารักษ์ของห้องสมุดซึ่งงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ หากการทำซ้ำนั้นมิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อหากำไร และเป็นไปตามเงื่อนไขของมาตรา 32 วรรคหนึ่ง ในกรณีดังต่อไปนี้
                              (1) การทำซ้ำเพื่อใช้ในห้องสมุดหรือให้แก่ห้องสมุดอื่น
                              (2) การทำซ้ำงานบางตอนตามสมควรให้แก่บุคคลอื่น เพื่อประโยชน์ในการวิจัยหรือการศึกษา
                              แต่ก็ควรระวังในการใช้สิทธิด้วยว่า ควรใช้ในปริมาณที่เหมาะสมเท่านั้น ไม่เช่นนั้นอาจเข้าข่ายการใช้งานลิขสิทธิ์ที่เกินสมควรได้
 
               หรือในเรื่องของข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์สำหรับห้องสมุด เกี่ยวกับ…
                              การทำซ้ำหรือดัดแปลงเพื่อประโยชน์ของคนพิการ  เช่น จัดทำสำเนาและดัดแปลงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อประโยชน์ของคนพิการที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น การได้ยิน สติปัญญาและการเรียนรู้ โดยนำงานอันมีลิขสิทธิ์มาจัดทำเป็นสื่อชนิดต่างๆ เช่น หนังสืออักษรเบลล์ หนังสือเสียง เป็นต้น แต่ก็ต้องกระทำเพื่อประโยชน์ของคนพิการตามความจำเป็น มีการอ้างอิง และต้องเป็นผลงานที่มีการจำหน่ายแล้วเท่านั้น ที่สำคัญต้องไม่มีการแสวงหากำไร และไม่ขัดต่อการแสวงหาประโยชน์หรือกระทบสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์
                              การหลบเลี่ยงมาตรการทางเทคโนโลยี  – กฎหมายได้ให้สิทธิแก่ห้องสมุดในการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นการหลบเลี่ยงมาตรการทางเทคโนโลยีที่นำมาควบคุมการเข้าถึงงานอันมีลิขสิทธิ์หรือสิ่งบันทึกการแสดงได้ แต่จะต้องเป็นกรณีที่ไม่สามารถเข้าถึงได้ด้วยวิธีอื่น และไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อหากำไร
 
               ตัวอย่างคำถาม-คำตอบในคู่มือ ที่คิดว่ามีเกิดขึ้นและใกล้ตัวบรรณารักษ์และหอสมุดฯ ของเรา

               – บรรณารักษ์สามารถจัดทำสำเนาหนังสือทั้งเล่มไว้ให้บริการในห้องสมุด แทนหนังสือที่ชำรุดได้หรือไม่ โดยที่หนังสือดังกล่าวยังสามารถจัดซื้อได้ตามท้องตลาด
                              บรรณารักษ์สามารถจัดทำสำเนาหนังสือทั้งเล่มเพื่อใช้ในห้องสมุดได้ แต่จะต้องไม่มีการแสวงหากำไรและไม่กระทบกระเทือนสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควร แม้ว่ากฎหมายจะไม่ได้ห้ามการกระทำดังกล่าว หากหนังสือยังสามารถหาซื้อได้ ห้องสมุดอาจพิจารณาจัดซื้อหนังสือดังกล่าวมาให้บริการในห้องสมุดตามความเหมาะสม
               – บรรณารักษ์สามารถสแกนหนังสือทั้งเล่มเก็บไว้ในฐานข้อมูล เพื่อให้บริการในห้องสมุดในรูปแบบไฟล์ดิจิทัล ได้หรือไม่
                              การสแกนหนังสือไว้ให้บริการในห้องสมุด ถือเป็นการทำซ้ำที่บรรณารักษ์จัดทำได้ แม้ว่ากฎหมายจะไม่ได้ห้ามการกระทำดังกล่าว หากหนังสือในรูปแบบไฟล์ดิจิทัลยังสามารถหาซื้อได้ ห้องสมุดอาจพิจารณาจัดซื้อหนังสือดังกล่าวมาให้บริการในห้องสมุดตามความเหมาะสม
               – บรรณารักษ์สามารถทำสำเนาหนังสือที่ซื้อมาหรือหนังสือที่มีอยู่เดิม เป็นรูปเล่มและไฟล์ดิจิทัลไว้ให้บริการในห้องสมุดได้หรือไม่
                              บรรณารักษ์จัดทำสำเนาหนังสือที่ซื้อมาหรือหนังสือที่มีอยู่ทั้งเล่ม ในรูปไฟล์ดิจิทัลหรือรูปเล่มเพื่อใช้งานในห้องสมุดได้ แต่จะต้องไม่มีการแสวงหากำไรและไม่กระทบกระเทือนสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควร รวมทั้งคำนึงถึงความเหมาะสมในการจัดทำสำเนาหนังสือดังกล่าวด้วย
               – การนำข่าวจากวารสารหรือหนังสือพิมพ์มาจัดทำเป็นกฤตภาค (Clipping) แล้วเผยแพร่บนเว็บไซต์ของห้องสมุด ซึ่งผู้ใช้บริการสามารถสั่งพิมพ์ผ่าน Web Browser โดยเสรีได้หรือไม่
                              บรรณารักษ์อาจตัดข่าวสารจากวารสารหรือหนังสือพิมพ์ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสารทั่วไป ซึ่งไม่มีลิขสิทธิ์มาเผยแพร่บนเว็บไซต์ของห้องสมุดเพื่อให้บริการได้
                              อย่างไรก็ดี หากข่าวที่นำมาจัดทำนั้นมีลักษณะเป็นบทความ บทบรรณาธิการหรือมีรูปภาพประกอบ บรรณารักษ์อาจจะต้องระมัดระวังในการดำเนินการดังกล่าว เพราะอาจจะเข้าข่ายเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ได้ ทั้งนี้กฎหมายลิขสิทธิ์กำหนดข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ของบรรณารักษ์เฉพาะเรื่องของการทำซ้ำเท่านั้น แต่กรณีตามคำถามนอกจากจะเป็นการทำซ้ำแล้ว ยังเป็นการเผยแพร่ต่อสาธารณชน ซึ่งเกินกว่ากรอบที่กฎหมายให้สิทธิไว้ บรรณารักษ์จึงต้องระมัดระวังในการดำเนินการดังกล่าวด้วย
               – หนังสือที่มีแผ่นออฟติคัลดิส เช่น ซีดีรอม ดีวีดี บลูเรย์ ประกอบ ห้องสมุดสามารถทำสำเนาแผ่นออฟติคับดิสดังกล่าวไว้ให้บริการ และเก็บแผ่นต้นฉบับไว้ได้หรือไม่ หากผู้ใช้บริการต้องการทำสำเนาแผ่นออฟติคัลดิสทั้งแผ่น ห้องสมุดดำเนินการได้หรือไม่
                              บรรณารักษ์สามารถจัดทำสำเนาแผ่นออฟติคัลดิสดังกล่าวไว้ให้บริการในห้องสมุด หรือห้องสมุดอื่นได้ตามเงื่อนไขของกฎหมายลิขสิทธิ์มาตรา 34 ประกอบมาตรา 32 วรรคหนึ่ง
                              อย่างไรก็ดี การจัดทำสำเนาแผ่นออฟติคัลดิสให้ผู้อื่นเพื่อประโยชน์ในการวิจัย หรือศึกษานั้น บรรณารักษ์มีสิทธิในการทำซ้ำเฉพาะงานบางส่วนบางตอนเท่านั้น ดังนั้น การจัดทำสำเนาแผ่นออฟติคัลดิสทั้งแผ่นให้ผู้อื่น จึงอาจเข้าข่ายเป็นการทำซ้ำที่เกินกว่าที่กฎหมายลิขสิทธิ์กำหนด
               – กรณีผู้ใช้บริการขอยืมแผ่นออฟติคัลดิส เช่น ซีดีรอม ดีวีดี บลูเรย์ ที่มาพร้อมกับหนังสือกลับบ้าน และมีการนำไปทำสำเนาเพิ่มเติม หรือดัดแปลง จนเกิดคดีละเมิดลิขสิทธิ์ ห้องสมุดมีส่วนเกี่ยวข้องมากน้อยเพียงใด
                              กรณีนี้ห้องสมุดไม่น่าจะมีความผิด หากเป็นการให้ยืมตามปกติ อย่างไรก็ดี หากเป็นกรณีที่ห้องสมุดทราบดีอยู่แล้วว่าจะมีการทำซ้ำแผ่นออฟติคัลดิสดังกล่าว ห้องสมุดอาจมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดได้
              – กรณีที่ห้องสมุดจัดเว็บไซต์และรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ด้วยการเชื่อมโยงไปยังเว็บไซต์มากมาย ต้องขออนุญาตเว็บไซต์เหล่านั้นหรือไม่
                           การเชื่อมโยงไม่มีลักษณะของการทำซ้ำ ดัดแปลง หรือเผยแพร่งานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่น จึงไม่เข้าข่ายการละเมิดลิขสิทธิ์ ทั้งนี้การเข้าถึงเว็บไซต์บางแห่งอาจจะต้องมีการล็อกอิน เพื่อเข้าถึงข้อมูลในเว็บไซต์นั้น ผู้ใช้บริการต้องดำเนินการสมัครสมาชิกหรือขอรหัสผ่านกับผู้ให้บริการเอง
              – ปกหนังสือรวมถึงหน้าที่ปรากฎข้อมูลบริหาร (ชื่อผลงาน ชื่อผู้แต่ง ตัวเลขหรือรหัสที่บ่งชี้ถึงตัวเจ้าของลิขสิทธิ์) เกิดการชำรุด ห้องสมุดสามารถจัดทำปกหนังสือขึ้นมาใหม่แทนปกหนังสือเดิมที่ชำรุดได้หรือไม่ อย่างไร
                           ห้องสมุดสามารถดำเนินการจัดทำปกหนังสือใหม่แทนปกหนังสือเดิมที่ชำรุดได้ แต่จะต้องเป็นการกระทำต่อผลงานที่ได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย ทั้งนี้ การกระทำดังกล่าวเป็นการสงวนหรือเก็บรักษางานของห้องสมุด

 
                แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าการกระทำใดๆ ที่เกิดขึ้นตามคู่มือนี้จะละเมิดหรือไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง และองค์ประกอบอื่นๆ แล้วแต่กรณี
 
               ข้อมูลที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นเพียงการเรียบเรียง และสรุปจากคู่มือเพียงบางส่วนเท่านั้น … สามารถอ่านคู่มือฉบับเต็มได้ที่ คู่มือการใช้งานลิขสิทธิ์ที่เป็นธรรมสำหรับบรรณารักษ์และห้องสมุด   
 
———————————————————
รวบรวมและเรียบเรียงจาก …
กรมทรัพย์สินทางปัญญา.  คณะอนุกรรมการด้านงานวรรณกรรม.  (2559).  คู่มืองานลิขสิทธิ์ที่เป็นธรรมสำหรับบรรณารักษ์และห้องสมุด.  สืบค้นเมื่อ 30 เมษายน 2561 จาก http://www.ipthailand.go.th/th/copyright-011/item/คู่มือการใช้งานลิขสิทธิ์ที่เป็นธรรมสำหรับบรรณารักษ์และห้องสมุด.html

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร